ไม่ต้องให้ถึงฤดูหนาวก็ไปเที่ยวภาคเหนือได้ทั้งปี เพราะทริปนี้เราจะพาทุกคนฝ่าความร้อนระอุขึ้นเหนือไปเที่ยวเชียงราย จังหวัดที่อยู่เหนือสุดแดนสยาม ที่แม้ว่าอากาศจะไม่ต่างจากเมืองกรุงแต่อย่างใด แต่ก็ยังพอกระชุ่มกระชวยหัวใจ พาร่างกายมาสัมผัสธรรมชาติของเมืองโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ วัดวาอารามอันสวยงาม ร้านคาเฟ่น่ารักๆ และทานอาหารเหนือรสชาติลำแต๊แต๊เจ้า
เมื่อเดินทางมาถึงเชียงรายในช่วงเกือบเที่ยง แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การหาอาหารอร่อยๆทาน ซึ่งเราก็ไม่พลาดที่จะรับบทชาวเน็ตท่านหนึ่งขอปักหมุดไปตามรีวิวเจ้าเด็ดร้านดัง และหนึ่งในร้านอาหารที่ถูกพูดถึงว่าหากมาถึงเชียงรายแล้วต้องไปลองร้านข้าวซอยเฒ่าแก่เอก ในต.เวียง อ.เมืองเชียงราย ร้านจะอยู่ตรงหัวมุมถนนไตรรัตน์ ด้านหน้าทางเข้าสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย ร้านแห่งนี้ดูตามภาพที่รีวิวก็ไม่ต่างกันมากนัก เพราะเป็นขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ บรรยากาศภายในร้านดูเรียบง่าย แต่มีให้บริการทั้งในโซนรับลมธรรมชาติและห้องแอร์
ความน่าสนใจของร้านนี้คือด้านข้างผนังร้านจะมีรูปดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงถ่ายกับเจ้าของร้านการันตีความอร่อยเยอะเชียวละ เราสั่งทั้งเมนูน้ำเงี้ยวกระดูกอ่อน และข้าวซอย มาทาน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนนะ เพราะเราลิ้มรสน้ำเงี้ยวแล้วต้องบอกเลยว่า เด็ดจริงๆ น้ำเงี้ยวเข้มข้น รสชาติถึงเครื่อง กระดูกอ่อนติดเนื้อหมูนุ่มๆละละลายในปาก ทีเด็ดอีกอย่างคือผักกาดดอกปรุงรส เครื่องเคียงที่ขาดไม่ได้ ช่วยทำให้รสชาติกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น
เติมพลังจนพุงกางก็พร้อมที่จะไปยังจุดหมายต่อไปที่ วัดพระแก้ว อยู่ไม่ไกลจากร้านข้าวซอยเฒ่าแก่เอก วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า วัดป่าญะ หรือวัดป่าเยียะ ภายในวัดเดิมมีไม้เยียะขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งคล้ายไม้ไผ่สีสุก ไม่มีหนาม เนื้อแข็งและเหนียว นิยมนำไปทำหน้าไม้หรือคันธนู เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งในเชียงราย บริเวณร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ช่วยให้อากาศร้อนๆ พอให้ร่างกายได้สัมผัสความเย็นจากลมอ่อนๆ สิ่งแรกที่ได้พบเมื่อมาถึงยังวัดคือความงดงามของ หอพระหยก ทรงล้านนาโบราณประกอบด้วยไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงที่ประดิษฐาน พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคลหรือพระหยกเชียงราย ที่ประดิษฐานอยู่ด้านใน ซึ่งเป็นองค์ใหม่ที่สร้างขึ้นแทนองค์จริงที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ
โดยมีการบอกเล่าต่อกันมาว่าที่วัดแห่งนี้เป็นจุดที่มีการค้นพบพระแก้วมรกตองค์ที่ประดิษฐานอยู่วัดพระศรีฯ ย้อนกลับไปในอดีตด้านหลังพระอุโบสถ มีเจดีย์อยู่องค์หนึ่ง ซึ่งได้พังลงมาแล้วได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่งตกลงมาจากเจดีย์จึงได้อัญเชิญไปไว้วิหารหลวงได้ 2 เดือน ต่อมาปูนกระเทาะออกจึงเห็นเป็นแก้วสีเขียวทั้งองค์ หลังจากนั้นวัดนี้จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า วัดพระแก้ว ผนังหอพระหยกยังมีจิตรกรรมเล่าเรื่องตำนานพระแก้วมรกต การสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2534
หากเดินลงมาจากหอพระแก้วก็จะพบกับพระเจดีย์สีทองอร่าม ที่เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พบพระแก้ว ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่เป็นเจดีย์หุ้มทองจังโก๋เหลืองอร่ามทั้งองค์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ที่เป็นพระวิหารทรงล้านนา ต่อมาชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงได้ทีการบูรณะเปลี่ยนเสาจากไม้เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนผนังได้ก่ออิฐถือปูน เครื่องไม้บางส่วนใช้ของเดิม แต่บางส่วนที่ทรุดโทรมได้นำไปจัดเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ด้านในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ปางมารวิชัย นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิลปะปาละที่ใหญ่และสวยงามที่สุด
“โฮงหลวงแสงแก้ว” เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดซึ่งมีสไตล์การสร้างแบบทรงล้านนาประยุกต์สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ด้านในมีการจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของวัดจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปหินอ่อนจากพม่า พระพุทธศรีเชียงราย เป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ศิลปะล้านนา พระเจ้าทันใจซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดโบราณ ปราสาทเงินศิลปะล้านนาที่สร้างได้ประณีตงดงาม พระแก้วหยกแกะสลักจากหินหยกขนาดใหญ่ เหล็กอัดจีบผ้าสมัยก่อน ช้างแกะสลักจากหินทรายโบราณ เครื่องใช้ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน รวมแล้วกว่า 300 ชิ้น ทุกชิ้นล้วนงดงาม สะท้อนให้เห็นถึงทักษะของช่างในอดีต และบางชิ้นก็ชมได้ยาก
มาชิวๆจิบเครื่องดื่มกับร้านคาเฟ่ตึกพาณิชย์สุดเก๋สีเหลืองอยู่ตรงวงเวียนหอนาฬิการ้าน Papauno Viennoiserie & Bistro แค่ด้านหน้าก็สามารถแชะภาพได้หลายมุม เข้ามาด้านในตกแต่งด้วยงานเพ้นท์กราฟฟิกน่ารักๆ การจัดวางโต๊ะนั่งทานจะเว้นระยะห่างพอดี ไม่แออัด ที่นี้มีเมนูเครื่องดื่มให้เลือกหลากหลาย สำหรับเราที่เป็นสายเลิฟเวอร์ชาเย็นสุดก็ต้องบอกรสชาติกำลังดีเลยทีเดียว ทานคู่กับเบเกอรี่อร่อยเข้ากันมากๆ
เพลิดเพลินชมงานศิลปะกันต่อที่ ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน (ว.วชิรเมธี) ซึ่งเป็นอีกจุดที่มีศาลาการจัดแสดงงานศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ที่ไร่แห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวาง บรรยากาศร่มรื่นเหมือนกับหลุดเข้ามาในโลกอีกใบที่มีความเงียบสงบ รู้สึกเบาสบาย ซึ่งผลงานที่จัดแสดงก็สอดคล้องกับบริบทของไร่เชิญตะวันที่เป็นแหล่งเรียนรู้และปฏิบัติธรรมของผู้ที่สนใจในพระพุทธศาสนา จุดแรกที่เข้ามาแล้วเห็นในทันทีเลยคือผลงานประติมากรรม นิพพานเมืองแก้ว ของศิลปินชาตะ ใหม่วงค์ ที่ได้ชุบชีวิตต้นกระบกยักษ์อายุกว่า 200 ปี ด้วยศิลปะการออกแบบให้เป็นแจกันประดับช่อดอกไม้คล้ายดาราจักร 4 ต้น ที่สื่อความหมายถึงอริยสัจสี่ คำสอนสำคัญในทางพุทธศาสนา
อีกชิ้นงานที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางสวนยางพารา ผลงาน Garden of Silence ศิลปินสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่ได้ทำผลงานแบ่งออกเป็น 3 ชิ้น จำลองมิติของจักรวาลในลักษณะ ปริภูมิ-เวลา โดยผสานเข้ากับคติจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา อีกชิ้นงานศาลาแห่งความเพียร ศิลปิน กรกต อารมย์ดี ศาลาธรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากวิธีการมัดและผูกแบบการทำว่าว สะท้อนแนวคิดการแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ และยังมีอีกหลายชิ้นงานที่น่าสนใจ ทั้งนี้ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย สิ้นสุดการจัดแสดงเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา โดยผลงานศาลาแห่งความเพียรจะเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่ติดตั้งอยู่ในไร่เชิญตะวันถาวร
จากอ.เมืองเชียงราย มุ่งหน้าไปเที่ยวอ.เชียงแสน ซึ่งมีสำคัญที่สักครั้งต้องมาให้ได้คือ วัดพระธาตุผาเงา ต.เวียง ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในอดีตช่วงสมัยของอาณาจักรโยนก สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดที่สำคัญประจำกรุงเก่า จากการขุดค้นพบพระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา ที่อยู่ใต้ตอไม้หน้าฐานพระประธาน มีอิฐโบราณก่อเรียงไว้ เมื่อยกอิฐออกก็พบพระพุทธรูป มีลักษณะสวยงดงามมีการสันนิษฐานว่ามีอายุระหว่าง 700-1,300 ปี และยังซากโบราณวัตถุทั่วบริเวณวัด รวมไปถึงถ้ำผาเงา ที่เมื่อก่อนถูกปกคลุมด้วยป่ารกทึบ ในปัจจุบันจึงเป็นสถานที่เคารพสักการะของคนในชุมชนและผู้ที่ได้มาเยือน
จุดไฮไลท์ที่ต้องไปสักการะคือ พระธาตุผาเงาที่ตั้งอยู่บนหินผา ซึ่งเป็นจุดที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเมื่อก่อนปกคลุมด้วยต้นไม้จนได้ถางออกหลังจากพบหลวงผาเงา ด้านข้างเป็นวิหารหลวงพ่อผาเงา สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นศิลปะเชียงแสน บานประตูทำด้วยไม้สัก แกะสลักลวดลายเกี่ยวกับประเพณีสิบสองเดือนของล้านนา ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อผาเงา อยู่ในลักษณะของการผุดขึ้นจากดิน เบื้องหลังล้อมรอบไปด้วยอิฐที่คาดว่าเป็นโบราณสถานดั้งเดิม
จากจุดเชิงเขาด้านล่าง ขึ้นบนดอยไปประมาณ 1 กิโลเมตร โดยทางวัดมีรถรางให้บริการขึ้นไปยังพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายป้อมปราการสีขาว ด้านในประดิษฐานพระเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ในบริเวณนี้ยังมีสกายวอล์ก ซึ่งมีระยะทางยาวถึง 70 เมตร สูงจากพื้รวัดดินราวๆ 25 เมตร วัดความกล้าในใจก็พาตัวเองเดินมาถึงจุดหน้าสุดชมวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำโขงที่กั้นระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านฝั่งลาวและพม่าที่อยู่ไกลลิบๆ ดูสวยงามไม่มีอะไรมาบดบัง
มาถึงปลายทางสุดท้ายที่วัดพระธาตุจอมกิตติ นับว่าเป็น 1 ใน พระธาตุ 9 จอม พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำ จ.เชียงราย และมีความเก่าแก่อายุหลายร้อยปี โดยพระธาตุจะประดิษบานอยู่ขึ้นไปบนเนินเขาต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกหน่อย เมื่อมองยังองค์พระธาตุที่มีสภาพที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมมุมไม้สิบสอง ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีปูนปั้นพระพุทธรูปยืนตั้งอยู่ 4 ทิศ ตัวเจดีย์ด้านบนสีทองความเอียงเล็กน้อย ส่วนด้านล่างองค์ก่อด้วยอิฐ หลายคนทีส่วน่มาสักการะพระธาตุทีนี้เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จด้านการงาน ส่วนบริเวณเชิงเขาไม่ไกลมากนักเป็นพระธาตุจอมแจ้ง ด้านหลังเป็นคืออุโบสถที่ประดิษฐานของพระประทานรูปทรงแบบล้านนา ดูวิจิตรงดงามมาก และเมื่อเดินออกมาบริเวณระเบียงอุโบสถก็ชมวิวทิวทัศน์เมืองเชียงแสนได้แบบพาโนราม่าเลยทีเดียว
การเดินทางมาเชียงรายทริปนี้ บอกเลยว่าอิ่มบุญอิ่มใจ เพราะการได้เดินทางมาเที่ยวภาคเหนือสิ่งหนึ่งที่ชอบมากๆ คือการได้มาวัดสัมผัสกับสถาปัตยกรรมล้านนาในอดีตอันงดงามและยังได้ความรู้กลับไปอีกด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ตั้งแต่ 18 พ.ย. อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 15 -24 พ.ย. 67
กรมอุตฯ ประกาศเตือนพายุ 'โทราจี' ฉบับสุดท้าย
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “โทราจี” ฉบับที่ 10 โดยมีใจความว่า
อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 31 จังหวัด 'เหนือ-อีสาน' อุณหภูมิสูงขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบนมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 13 ไต้ฝุ่น 'หยินซิ่ง' อ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนแล้ว
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “หยินซิ่ง” ฉบับที่ 13 โดยมีใจความว่า
อุตุฯ เตือนอากาศเปลี่ยนแปลง เหนือ-อีสานเย็น ยอดภูหนาว ใต้ฝนตกหนัก
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้
อุตุฯ ประกาศฉบับ 2 อัปเดตเส้นทางไต้ฝุ่น 'หยินซิ่ง'
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “หยินซิ่ง” ฉบับที่ 2 โดยมีใจความว่า