เครดิตภาพ : AFP
เหตุการณ์เครื่องบิน Singapore Airlines ตกหลุมอากาศรุนแรงระหว่างเดินทางจากกรุงลอนดอนของอังกฤษไปยังสิงคโปร์จนต้องร่อนลงจอดฉุกเฉินที่กรุงเทพฯ และทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับอันตรายของการนั่งเครื่องบินขึ้นทันที เหตุระทึกขวัญสิงคโปร์แอร์ไลน์ยังไม่ทันจาง ก็เกิดเหตุระทึกซ้ำ ทำนองเดียวกันกับสายการบิน Qatar Airways ที่ตกหลุมอากาศขนาดใหญ่ แต่เคราะห์ดีไม่มีคนเสียชีวิต แต่มีผู้บาดเจ็บสิบกว่าคน
หลังเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตกอกตกใจให้กับคนทั้งโลก ก็มีนักวิชาการออกมาชี้ว่า หลุมอากาศใหญ่นี้ เป็นผลพวงของภาวะโลกร้อน แต่ความเห็นนี้ ก็ยังเป็นข้อสันนิษฐาน ที่ต้องรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอีกระยะ โดยขณะนี้ ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์เอง ก็อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง ขณะที่ องค์กรด้านการบินจากสหรัฐอเมริกา ก็บินมาร่วมสอบสวนด้วย
“หลุมอากาศ”เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ จนส่งผลกระทบต่อเครื่องบินโดยไม่คาดคิด จะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่รุนแรงขึ้น และภาวะที่โลกร้อนขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ลองมาฟังความเห็นจากนักวิชาการ อ.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ที่เจาะลึกสภาพอากาศที่แปรปรวนซึ่งเป็นภัยต่อการบินที่เริ่มรุนแรงได้อย่างไร
อ.สนธิ คชวัฒน์ กล่าวว่า เหตุการณ์เครื่องบิน Singapore Airlines ตกหลุมอากาศ ตามด้วยสายการบิน Qatar Airways มีผู้บาดเจ็บ ทำให้เกิดความวิตกภาวะโลกรวนจะทำให้เกิดเหตุลักษณะนี้มากขึ้น โลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2 ถึง 1.4 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมากขึ้น ซึ่งเครื่องบินมีเทคโนโลยีเรดาห์ที่ตรวจจับได้ ทำให้นักบินสามารถบินอ้อมหรือหลบเลี่ยงก้อนเมฆฝนหรือพายุ หรือประกาศเตือนเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือได้ อย่างไรก็ตาม ในการบินแต่ละครั้งนอกจากเครื่องบินจะต้องเจอกับความปั่นป่วนจากสภาพอากาศแปรปรวนจากพายุฝนฟ้าคะนองแล้ว ยังมีงความปั่นป่วนอีกรูปแบบ ในวันภาวะอากาศแจ่มใส หรือ Clear Air Turbulence (CAT) หรือที่เรียกว่าหลุมอากาศ ด้วย ซึ่งอย่างหลังนี้ปัจจุบัน ยังไม่มีเทคโนโลยีใดตรวจจับได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก
นักวิชาการรายนี้อธิบายถึงภาวะ Clear Air Turbulence ว่า จะมีลมกรด หรือ Jet Stream เป็นลมระดับบนที่ระยะความสูงระหว่าง 7.0 ถึง 16 กิโลเมตรจากผิวโลก ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200 ถึง 400 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออกมีความเร็วลดลง ในบางช่วงบางขณะ จะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลง ปีกของเครื่องบินพยุงไม่ไหว ทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศ ขณะนี้มีข้อมูลในแอตแลนด์ติกเหนือหรือสหรัฐ สถิติตั้งแต่ปี 1979 -ปี 2020 พบเครื่องบินตกหลุมอากาศจากสภาวะอากาศปลอดโปร่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55 ขณะเดียวกันวิจัยระบุว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้ความเร็วลมลดลง
” ขณะนี้ในทางการบินให้นักบินทั่วโลกทำบันทึกข้อมูลเส้นทางบินที่ตกหลุมอากาศเอาไว้ และส่งข้อมูลไปที่องค์การการบินระหว่างประเทศ เพื่อใช้เตือนตำแหน่งหลุมอากาศเพื่อประโยชน์ด้านการบิน ในอนาคต 4-5 ปี จากนี้ คาดว่าจะพัฒนานวัตกรรมตรวจจับมวลอากาศที่บางลงได้ “ อ.สนธิ กล่าว
ส่วนการแบ่งชั้นความรุนแรงความปั่นป่วนในสภาพอากาศ “ตกหลุมอากาศ (Air Pocket)” ที่เครื่องบินบินผ่าน มีหลายระดับ อาจารย์สนธิอธิบายเริ่มจากความรุนแรงน้อย เครื่องบินถูกโยนขึ้นลงประมาณ 1 เมตร ความรุนแรงปานกลาง ประมาณ 3-6 เมตร ความรุนแรงมาก 30 เมตร เหมือนกรณีเครื่องบิน Singapore Airlines นักบินต้องบินหนีออกจากสภาพความปั่นป่วนหรือแถบลมกรดนี้ ด้วยการลดเพดานบินลงมาอีก 1.8 กิโลเมตร ผู้โดยสารถึงถูกโยนตัวอีกครั้ง หากไม่ได้คาดเข็มขัด จะได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
“ นักวิจัยระบุความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใสที่เพิ่มขึ้นตอนนี้เป็นตกหลุมอากาศระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง แต่ถ้าอุณหภูมิยิ่งร้อนขึ้น ยังไม่ลดโลกร้อน ไม่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี พ.ศ. 2593 จะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศในระดับรุนแรงในช่วงอากาศแจ่มใสถึง 40% ปกติการตกหลุมอากาศมักจะเกิดในหน้าหนาวและซีกโลกตะวันตกมากกว่า แต่ระยะหลังเกิดเหตุในแถวตะวันออกกลาง แถบภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนขึ้น แต่อยากฝากเรื่องตกหลุมอากาศ ถ้าบินภายในประเทศและบินภายในภูมิภาคเดียวกันไม่ต้องวิตกกังวล เทคโนโลยีตรวจจับเมฆพายุฝนฟ้าคะนองได้ และไม่เกิด Clear Air Turbulence อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารควรรัดเข็มขัดทุกที่นั่งและตลอดเวลาขณะอยู่บนเครื่อง “ อ.สนธิ กล่าว
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมระบุอีกว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญจะเป็นตัวการทำให้เกิดการตกหลุมอากาศเพิ่มขึ้น ปรากฎการณ์เอลนีโญ เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่กระแสน้ำอุ่นอยู่ระหว่างทวีปออสเตรเลียกับอินโดนีเซียเคลื่อนที่ไปอเมริกาใต้ โดยหอบเอาความชื้นไปหมด ทำให้ประเทศไทยและอาเซียนเจอความแห้งแล้งและสภาพอากาศร้อน ซึ่งปี 67 นี้เราเจอเอลนีโญ ร้อนสูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียส แต่หากกระแสน้ำอุ่นพัดกลับมาทางอาเซียนและไทยจะนำความชื้นมาด้วย จะเกิดปรากฎการณ์ลานีญา ซึ่งคาดว่า ปลายปีนี้หรือต้นปี 2568 ไทยต้องเฝ้าระวังอุทกภัยรุนแรง เมื่อโลกร้อนทำให้กระแสน้ำอุ่นผกผันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างเร็ว เดี๋ยวเอลนีโญและลานีญา เกิดการปั่นป่วนในทะเล
น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็ว จะเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปรากฎการณ์หลุมอากาศมากขึ้น อ.สนธิ กล่าวว่า โลกร้อนขึ้น ส่งผลน้ำแข็งขั้วโลกละลาย โดยนักวิทยาศาสตร์ว่ารายงานทุก 10 ปี น้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย 13% หรือคิดเป็นพื้นที่น้ำแข็งละลาย 13.45 ล้านตารางกิโลเมตร ธารน้ำแข็งที่ละลายกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งขนาดเล็กเต็มไปหมด ไหลลงสู่ทะเล เมื่อเจอความเค็มของทะเลเกิดเป็นสีน้ำเงินและดำ เรียกว่า Dark surface เดิมธารน้ำแข็งจะสะท้อนความร้อนของแสงอาทิตย์ออกไปได้ 80% แต่ สำหรับ Dark Surface กลับเป็นตัวดูดซับความร้อน ส่งความร้อนแพร่กระจายไปตามน้ำทะเลทั่วโลก น้ำแข็งยิ่งละลายจะยิ่งเพิ่มพื้นที่ดูดซับความร้อนมากขึ้น ทำให้พื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก ทำให้เกิด Clear Air Turbulence มากขึ้น มีการคาดการณ์ว่า หากน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 1.8 เมตร ในปี 2100 ยังไม่พูดถึงผลกระทบปะการังฟอกขาวจากน้ำทะเลร้อนมากขึ้น
ปีนี้สภาพอากาศแปรปรวนขึ้นมาก นักวิชาการรายนี้ บอกอีกว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นสาเหตุหลักเป็นที่แน่ชัดว่ามาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีรายงานเดือนมีนาคม ปี 2567 โลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจนถึง 4.7 ล้านส่วนในล้านส่วน เพิ่มมากอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ประเทศไทยเองปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงจากการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเครื่องปรับอากาศ เพราะอากาศร้อนมากทะลุ 40 องศาเซลเซียส ผลที่ตามมา คือสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส เป็นภาวะโลกร้อน เมื่อขยับเป็น 1.2-1.4 องศาเซลเซียส เรียกว่า โลกรวน แต่ถ้าสูงขึ้น 1.5 องศาเมื่อไหร่ เข้าสู่ภาวะโลกเดือด
“ ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น จากเวที COP27 ประเทศต่างๆ ต้องลดการใช้พลังงานร้อยละ 40 ภายในปี 2573 ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ไทยยังไม่สามารถลดปล่อยก๊าซได้ แม้จะมีการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก สิ่งที่ประชาชนทำได้คือ ปลูกต้นไม้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมีมีพื้นที่สีเขียวเพียง7 ตารางเมตรต่อคน แต่มาตรฐานขั้นต่ำของ WHO คือ 9.0 ตร.ม. ต่อคน รวมถึงต้องรักษาต้นไม้ใหญ่เอาไว้ และปลูกเพิ่ม ขณะเดียวกันบ้านเรามีการเผาตอซังฟางข้าว เกิดฝุ่นพิษ เผาขยะในที่โล่ง รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง รวมถึงจัดการผู้ลักลอบเผาป่า ตลอดจนเลิกรับซื้อสินค้าเกษตรที่มีส่วนทำลายป่าไม้ “ อ.สนธิ กล่าว
ส่วน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อนที่อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์ อ..สนธิ แสดงทัศนะว่า ร่าง พ.ร.บ.โลกร้อนฉบับนี้ไปเน้นเรื่องคาร์บอนเครดิต เอกชนหรือนายทุนปล่อยก๊าซจากการทำอุตสาหกรรม ให้ไปปลูกต้นไม้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนี่คือกลไกความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับได้เท่ากับศูนย์ แนวทางการปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนตามธรรมชาติ มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคม เอกชนไปเช่าที่ปลูกป่า โดยไม่ได้ลดจากแหล่งกำเนิด สภาพอากาศก็ยังร้อนเหมือนดิม แต่ในสหรัฐใช้วิธีการจ้างประชาชนปลูกป่าในป่าเสื่อมโทรมแทน รัฐบาลคิดเป็นคาร์บอนเครดิตขายให้นายทุน ถ้ารัฐบาลไทยไม่กระเตื้องในการแก้ปัญหาโลกร้อน จะยิ่งเผชิญภัยพิบัติรุนแรงขึ้น เหลืออีกไม่กี่ปีจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร แผนไม่ชัดเจน จะเร่งทันหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการ เผยบทเรียนราคาแพง 'น้ำท่วมแม่สาย-ดินถล่มแม่อาย'
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า วิปโยคแม่สาย แม่อายสะอื้น.บทเรียนราคาแพงที่ต้องได้รับการแก้ไข.
'ดร.ธรณ์' เปิดภาพ 'ไต้ฝุ่น ยางิ' เห็น Eye of a storm ชัดเจน เหนือ อีสาน เตรียมรับมือ
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เตือน ภาวะโลกเดือด เปิดประตูสู่นรก
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
กรุงเทพฯ เมืองอยู่ยาก อนาคตวันอากาศร้อนพุ่ง 3 เท่า
2 เดือนมานี้คนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อนโหดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งล่าสุดรายงานกระทรวงสาธารณสุขระบุ