'Disrupt Health Impact Fund 'ยานแม่'สตาร์ทอัพด้านสุขภาพ'

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความต้องการสูง คืออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพหรือ Healthcare ซึ่งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่กระโดดลงเข้าสู่สนามกันเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด19 ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับการพบแพทย์ออนไลน์  หรือที่เรียกว่าTelemedicine ร้านขายยาออนไลน์ นวัตกรรมใหม่ๆที่จะใช้ในการผลิตยาและวัคซีน หรือปัญหาของฝุ่น PM 2.5 ยิ่งทำคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น มีการผลิตนวัตกรรมที่พกพาสะดวกในการใช้งาน อย่างนาฬิกา กำไร สายคล้องคอ ที่บ่งบอกค่าฝุ่นหรือแสดงข้อมูลการเต้นของหัวใจ การนับก้าวเดิน อัตราการนอนหลับต่างๆ

ในปัจจุบันความก้าวหน้าของ AI กำลังเป็นอีกตัวแปรสำคัญในวงการสุขภาพ ที่มีการพัฒนาให้สามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้  เอไอ ยังเชื่อมโยงโดยตรงกับการใช้หุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัด หรือการจำลองภาพเสมือนในการเรียนของนักเรียนแพทย์ เป็นต้น อุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีจึงเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่นักลงทุนเลือกลงทุนที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสพัฒนาและเติบโตมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ หรือ Disrupt จึงได้จัดตั้ง “กองทุน Disrupt Health Impact Fund” นำทีมบริหารกองทุนนี้โดย นายกระทิง พูนผล นางสาวจันทนารักษ์ ถือแก้ว และนางสาวณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ที่มีประสบการณ์บริหารกองทุน Accelerator และ Venture Capital (VC) จำนวน 6 กองทุน เช่น 500 TukTuks, ORZON Ventures, Stormbreaker Ventures และ KXVC ทั้งนี้ กองทุน 500 TukTuks เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพช่วงบ่มเพาะ หรือ Early stage มากที่สุดในประเทศไทยและแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเนื่องมาหลายปี โดยทั้ง 6 กองทุน ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพมากกว่า 134 บริษัท ใน 16 ประเทศ

ดังนั้นในกองทุน Disrupt Health Impact Fund จึงมีพันธมิตรร่วมลงทุนกลุ่มแรกจากกลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทย 4 แห่ง ได้แก่ Digital Health Venture หรือ DHV ในเครือ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน), บริษัท ฐานะ แอสเสท จำกัด(THANA), บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)( SPI) และมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU)

กระทิง พูนผล ประธานกองทุน Disrupt Health Impact Fund กล่าวว่า ตลาด Healthcare มีมูลค่าตลาดใหญ่ในระดับ Trillion Dollar Industry ซึ่งมีมูลค่าถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ กว่า 330 ล้านล้านบาท และเป็นเมกะเทรนด์ที่จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในโลกแห่งอนาคต และประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับความท้าทายด้าน Healthcare ในหลาย ๆ เรื่อง จึงเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าตื่นเต้น ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI และ BioTech ที่พลิกโฉมให้เกิดนวัตกรรมรูปแบบใหม่ และสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกระจายโอกาสในการเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น

กระทิง พูนผล

ประธานกองทุน กล่าวต่อว่า สำหรับกองทุน Disrupt Health Impact Fund ตั้งเป้าเปลี่ยนแปลง Healthcare ไทยให้เข้าถึง Deep Technology ด้าน Healthcare ระดับโลก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลรักษาสุขภาพคนไทย พร้อมตั้งเป้าลงทุนใน 15 บริษัท DeepTech ด้าน Healthcare ทั้งในไทยและต่างประเทศ ภายใน 3 – 5 ปี หลังจากเปิดตัวกองทุน คาดว่าจะลงทุนในบริษัทระยะแรกราวๆ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจะมีการพิจารณาบริษัทเพิ่มภายในระยะเวลา 2-3 ปีนี้ เพื่อยกระดับระบบนิเวศ Healthcare เพื่อให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านสุขภาพระดับโลก พร้อมเปิดรับพันธมิตรหนุนกองทุน Disrupt Health Impact Fund ในการขับเคลื่อนให้ไทยเป็น Healthcare hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดมูลค่าตลาด HealthTech ทั่วโลกเติบโตต่อเนื่อง 10% ต่อปี

“กลุ่มสาร์ทอัพในประเทศไทยด้านสุขภาพ ยังถือว่ามีปริมาณค่อนข้างน้อย แต่ก็มีผลงานด้านเทคโนโลยีหลายตัวที่ทางโรงพยาบาลมาซื้อนำไปใช้ แม้ว่าในช่วงโควิด19 จะมีสาร์ทอัพสายสุขภาพเกิดขึ้นมาเยอะ แต่ก็มีหลายงานวิจัยที่ไม่ถูกนำเข้าสู่ตลาด ดังนั้นหากมีนักลงทุนเข้ามาและมีโรงพยาบาลเป็นผู้ร่วมในงานวิจัยก็อาจจะทำให้เทคโนโลยีถูกขยายสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น เพราะตลาดสายสุขภาพจะเป็นตลาดที่ใหญ่และมีอนาคต สร้างมูลค่าได้ อีกทั้งทุกคนต้องเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพของตัวเอง” ประธานกองทุน กล่าว

จันทนารักษ์ ถือแก้ว

จันทนารักษ์ ถือแก้ว ผู้บริหารกองทุน Disrupt Health Impact Fund กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ มีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี มากถึง 20% หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด เฉลี่ยประมาณ 13 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยให้มีความสุขและสุขภาพดี ปัจจุบันเทคโนโลยี AI, Bio Tech และ Deep Tech เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะช่วยทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ โดยลดการพึ่งพาแพทย์ ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือทางโรงพยาบาลมีนวัตกรรมที่พร้อมสำหรับการดูแลรักษา จึงเป็นโจทย์ที่อยากจะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมระดับโลกมาสู่ประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียให้ได้

“ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 370 แห่ง โรงพยาบาลรัฐมากกว่า 1,000 แห่ง และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเดินทางมารักษายังประเทศไทยมากกว่า 3 ล้านครั้งต่อปี อันดับ 1 ได้แก่ ประเทศจีน รองลงมาคือ เมียนมา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้สูงและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก ในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาพักผ่อนในไทยระยะยาวราวๆ 7-30 วัน และต้องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยส่วนใหญ่จะพักผ่อนในจ.ภูเก็ต เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จ.เชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมารักษาในไทย เนื่องจากค่าบริการรักษาในโรคเดียวกันต่ำกว่าในต่างประเทศและศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ และได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกในด้านดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก หรือ Global Health Security Index จึงเป็นที่มาในการตั้งกองทุนนี้ รวมถึงการรวมกับพันธมิตร เพื่อสร้าง Health Tech Ecosystem ในเมืองไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น”  จันทนารักษ์ กล่าว

จันทนารักษ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งนักวิจัยในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือกลุ่ม Startup วัตถุดิบ แต่ยังขาดปัจจัยในด้านเงินลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการใช้ในวงกว้างทำให้ในอนาคตราคาเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสุขภาพจะถูกลงสามารถเข้าถึงกลุ่มได้มากขึ้น รวมไปถึงรักษาโรคยากๆ ด้วยแนวทางการรักษาใหม่ได้ และในการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาก็จะมีพันธมิตรที่เป็นโรงพยาบาลในการศึกษาและวิจัยการใช้งานร่วมกันด้วย

ณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล

ทิศทางการลงทุนของกองทุน และแนวทางในการสนับสนุนนวัตกรรม ณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล อีกหนึ่งผู้บริหารกองทุน Disrupt Health Impact Fund กล่าวเสริมว่า ในการลงทุนได้มองหาบริษัทจากทั่วโลกที่มีนวัตกรรมระดับโลกในช่วง Pre-Series A หรือ B คือ การดำเนินธุรกิจ Startup ที่พัฒนาจริงเริ่มมีรายได้หรือหากยังไม่มีรายได้จะต้องมีงานวิจัยรองรับว่าสามารถใช้ได้จริง และเป็นเทคโนโลยีที่ลอกเลียนแบบได้ยาก โดยมูลค่าลงทุนในระยะแรกประมาณ 17 – 50 ล้านบาทต่อ 1 บริษัท และตั้งเป้าลงทุนไว้ที่ 10-15 บริษัท ซึ่งเรื่องที่สนใจลงทุนจะเน้น 5 เรื่องหลัก ได้แก่  Self Care การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง, Preventive Care เวชศาสตร์ป้องกันโรค, Age Well/Silver Ag ผู้สูงวัย, Holistic Wellness การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม  และ AI-enabledSmart Hospital โรงพยาบาลอัจฉริยะ หากบริษัทที่ Disrupt Health Impact Fund ลงทุนไปสามารถเติบโตได้ดีและมีความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ร่วมลงทุน ก็จะเป็นอีกโอกาสที่บริษัทจะได้เงินลงทุนตรงจากผู้ร่วมลงทุนในกองทุนตรงเพิ่มเติมอีกด้วย

ณรัณภัสสร์ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้มีบริษัทในยุโรปที่ทางกองทุนสนใจร่วมลงทุน เนื่องจากทางบริษัทมีแผนที่จะขยายมายังประเทศไทย โดยเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับการมอนิเตอร์ค่าน้ำตาล เพราะค่าน้ำตาลสูงหรือต่ำก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินด้วย ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เห็นค่าน้ำตาลในทุกๆวัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวาน ในส่วนการลงทุนในประเทศไทยก็ได้มีการเดินสายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะเทคโนโลยีส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากงานวิจัย โดยจะมีนักธุรกิจที่อยู่ภายใต้ศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เพื่อเป็นการรับงานวิจัยด้วย

ด้าน ปิธน วิทยศรีเจริญ กรรมการผู้จัดการ Digital Health Venture หรือ DHV ในเครือ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการให้บริการดูแลสุขภาพ เรามองเห็นโอกาสด้าน Early care หรือการดูแลก่อนป่วย และ Risk care หรือการดูแลความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือเจ็บป่วยของคนไทยให้เสี่ยงน้อยลง ด้วยความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็น Next technology จะช่วยตอบโจทย์การดูแลผู้คนให้แข็งแรง ลดการพึ่งพาแพทย์ ทำให้ Healthcare Cost ลดลง และช่วยสร้าง GDP ให้ประเทศ โดยที่สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นในการสร้าง Healthcare Ecosystem ในรูปแบบที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ง่าย รวดเร็วขึ้น และนำสุขภาพดีไปสู่ผู้คน โดยที่โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์กลางของระบบสาธารณสุข แต่ปรับตัวด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้าง Digital Healthcare Ecosystem เพื่อสร้างคุณค่าให้กับส่วนรวม 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูพระบาท'คุณค่าโดดเด่น ไทยลุ้นมรดกโลก

เวลานี้คนไทยร่วมส่งแรงใจสนับสนุนการขึ้นบัญชีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทยต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ วาระการพิจารณาภูพระบาทคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่  46

ศน.จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ 3 ภาษา ถวายพระราชกุศล

26 ก.ค.2567 - เวลา 10.00 น. ที่มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย จ.นครปฐม พระธรรมวชิราจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร