ปัญหาจุดหนึ่งที่ถือว่าเป็นอุปสรรค การพัฒนาตนเองชองชุมชนให้พ้นจากความยากจนนั้นก็คือ การไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยพัฒนากระบวนการผลิต เพราะสามารถช่วยลดต้นทุน ลดแรงงาน และเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้ จึงเป็นที่ต้องการทั้งในเชิงภาคเกษตร หรือแม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่หรือรายย่อยที่มีขนาดเล็กมากๆ แต่สำหรับ เกษตรกร หรือผู้ผลิตรายย่อย เทคโนโลยีที่ต้องการของพวกเขาไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไฮเทค หรือมีความซับซ้อนมาก แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานง่าย สะดวก มีต้นทุนไม่สูง และเหมาะสมกับบริบทในการผลิตระดับครัวเรือน หรือชุมชน
ด้วยเหตุนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บทพ. )ซึ่งมีภาระกิจยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จึงเข้ามาทำวิจัย เพื่อเกี่ยวกับการเข้าถึง เทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม(Appropriate Technology) ที่เป็นการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยในปีงบประมาณ 2563 – 2566 ภายใต้แผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีเป้าหมายพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ระดับตำบล ซึ่งแต่ละชุมชนจะต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาตนเอง พร้อมกับยอมรับสิ่งที่เรียกว่า “เป็นการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม”ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง เพื่อเกิดเป็น”ชุมชนนวัตกรรม”
ที่ผ่านมาบพท. สามารถดำเนินการ ให้เกิดชุมชนนวัตกรรม 954 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด สร้างนวัตกรชุมชน จำนวน 4,224 คน และเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการ เพื่ใใช้ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของ ชุมชนทั้งสิ้น 965 นวัตกรรม สามารถยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 20 อีกทั้งยังทำให้เกิดมีการนำนวัตกรรม เข้าไปสู่การทำแผนพัฒนาตำบล/ท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า Learning and Innovation Platform (LIP)
ในปีงบประมาณ 2567 บพท. จึงวางเป้าหมายขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (Appropriate technology) บนความร่วมมือระหว่างหน่วย บพท. กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้าง นวัตกรรม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภายใต้แผนงาน RU การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผ่านการจัดจัดมหกรรม “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน (Appropriate Technology Matching Day)” 4 ภาค ประจำปีพ.ศ.2567 เป็นปีแรก
โดยในงานนี้มีเทคโนโลยีรวมจัดแสดงกว่า 2,000 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเชื่อมโยงในจุดที่เป็นการประยุกต์ใช้ประโยชน์ และเป็นการตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการแก้ปัญหาคนจน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี พร้อมทั้งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งพาตนเองใด้อย่างยั่งยืน
งานมหกรรม “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน” จัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของการจัดมหกรรมเทคโนโลยีพร้อมใช้ในปีนี้ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยบพท. ร่วมกับมรภ. และมทร. ได้นำเทคโนโลยีพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน จำนวน 2,316 ผลงาน ที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้งานได้จริงมาแล้ว ออกแสดงให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปต่อยอด ขยายผล การใช้ประโยชน์
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อผลักดัน ส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยเทคโนโลยีต่างๆ ถ่ายทอดสู่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนยากจน กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 4 ภาค ซึ่งชุมชนให้ความสนใจและความต้องเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเอง นำไปสู่การเกิดนวัตกรชาวบ้าน ส่วนในการแก้ปัญหาความยากจนในเกษตรกร จะต้องทราบถึงปัญหาตั้งแต่การเพาะปลูก การบริหารจัดการน้ำ แรงงาน และการประกอบอาชีพ จะสังเกตได้ว่าวิธีการทำเกษตรส่วนใหญ่จะทำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการเข้าถึงเทคโนโลยีค่อนข้างจำกัดหรือน้อย ดังนั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีและชาวบ้านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จะช่วยเพิ่มผลผลิต คุณภาพการผลิต และสร้างมาตรฐานผลผลิต เพื่อขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆได้ ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอเทคโนโลยีจากทั้ง 2 สถาบันที่มีกระจายอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ต้องรอเพียงแค่ส่วนกลาง เพราะสามารถเข้าถึงและทราบปัญหาของชุมชนได้ดี และเทคโนโลยีแต่ละประเภทที่นำมาจัดแสดงก็อยู่ในราคาที่ย่อมเยาว์เหมาะสมตั้งแต่หลักพัน-หลักแสนบาท
“เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องมีการกระตุ้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเอง และเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยการสอบถาม เช่น หนี้สิน รายได้ และปัญหาที่ต้องเผชิญ จะสามารถนำเทคโนโลยีไปแก้ไขได้อย่างไร เพราะการทำเกษตรการใช้เทคโนโลยีสามารถช่วยลดรายจ่ายได้ จึงเป็นการจับคู่ระหว่างชุมชนและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตร การสร้างสรรค์ โดยจะมีการติดตามหลังจากนำเทคโนโลยีไปใช้ว่าหนี้สินลดลง รายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ไม่เพียงแค่ในครัวเรือนแต่ยังรวมไปถึงกลุ่มเกษตรในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ ด้วย อย่าง เทคโนโลยีการเพาะเห็ด ซึ่งเป็นเกษตรที่นิยม ก็จะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม หรือการแปรรูปสิ้นค้าด้านแฟชั่น อาหาร ซึ่งก็จะตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนผลผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาดอย่างมีคุณภาพ” ผู้อำนวยการ บพท. กล่าว
ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวต่อว่า ในการจัดงานทั้ง 4 ภาค มีผู้เข้าร่วม แบ่งเป็น ภาคใต้ 574 คน ภาคอีสาน 600 คน ภาคเหนือ 549 คน ภาคกลาง 670 คน รวม 2,393 คน และมีการ matchingทั้ง 4 ภูมิภาค ภาคใต้ 227 คู่ ภาคอีสาน 476 คู่ ภาคเหนือ 358 คู่ ภาคกลาง 381 คู่ รวม 1,492 คู่ ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้เทคโนโลยีของชุมชนด้านเกษตรก็จะอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งเป็นภาคที่มีมีการทำเกษตรเยอะ ดังนั้นส่วนใหญ่จะสนใจเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ การบริหารจัดการน้ำ หรือโรงเรือนเห็ดที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ หรือในด้านของความสร้างสรรค์ ก็จะเป็นภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการผ้าทอ หรือการผลิตเครื่องประดับต่างๆ และในภาคกลาง พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนเมือง มีการย้ายถิ่นฐานไปมา แต่หลักก็จะเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านการแปรรูปสินค้า เป็นต้น ซึ่งในการจับคู่ที่เกิดขึ้นภายในงานคาดว่าจะเป็นการสร้างรายได้ ลดภาระรายจ่าย และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สิน
“ในการจัดงานครั้งต่อไปก็อยากจะขยายเข้าสู่ตัวชุมชนย่อยๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีพร้อมใช้ได้มากขึ้น และภายในปี 2570 คาดว่าจะสามารถสร้างนวัตกรให้ได้ตำบลละ 5 คน เพื่อเป็นคนกลางในการเข้าไปสื่อสารและนำความต้องการในพื้นที่เข้ามาร่วม สามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ แก้ปัญหาความยากจนบรรลุเป้าหมายการสร้างนวัตกรในประเทศให้ได้ 30,000 คน ปัจจุบันมีกว่า 9,000 คนแล้ว”ดร.กิตติกล่าว
ด้านรศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ตัวแทนเครือข่ายมทร. และมรภ. กล่าวว่าจากปณิธานการสร้างกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์และเข้าถึงได้ เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มบริบทการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ภาคผลิตและบริการด้านต่างๆต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและสร้างทักษะใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเครือข่ายมทร. และมรภ. มีความได้เปรียบในเชิงพื้นที่ที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่หลากหลายสามารถพัฒนากำลังคนผลิตบัณฑิตนวัตกร รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติเกษตรกรรมการผลิตและการบริการเสริมสร้างให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและสมดุล เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในอนาคต
เบญจพร คำอ่อน เกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เล่าว่า มีความสนใจในการเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นอย่างมาก และได้เดินทางจากจ.ขอนแก่น เพื่อมาดูเทคโนโลยีตู้เพาะเห็ด Smart Wi-Fi เพราะปกติทำการเพาะเห็ดขายแต่จะใช้ระบบแบบเดิมด้วยการใช้สปริงเกอร์หรือสายยางรดน้ำ ทำให้บางครั้งน้ำอาจจะเข้าไปในก้อนเห็ดทำให้ผลผลิตออกได้จำนวนครั้งที่น้อย ซึ่งตู้เพาะเห็ด Smart Wi-Fi ทางผศ.พิทักษ์ สถิตวรรธนะ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้บอกว่า โรงเห็ดที่ทำขึ้นประกอบง่ายเพียงใช้ท่อ PVC ทำเป็นโครงและใช้ผ้าสแลนคลุมทับขนาดประมาณ 80x 80x 100 ซม. บรรจุเห็ดได้ประมาณ 100-200 ก้อน ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ได้ง่ายในรูปแบบครัวเรือน และหัวใจสำคัญของการทำงานคือการใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าเพียง 12 โวลท์ ขนาด 10 วัตต์ทำให้เสียค่าไฟไม่เกิน 1 บาทต่อวัน และสามารถควบคุมระบบการรดน้ำผ่าน Wi-Fi ซึ่งในการรดน้ำจะควบคุมผ่านมอเตอร์ดูดน้ำขึ้นมารดน้ำเป็นละอองทำให้น้ำไม่เข้าไปที่ก้อนเห็ด อีกทั้งยังเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ ยลมหานครโคมโลก !
ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง