'แม่แจ่ม-ดอยสุเทพ-ปุย 'พื้นที่นำร่อง 'วิจัยแก้วิกฤต PM 2.5'

มุมสูงบ้านม้งดอยปุย

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. ที่ผ่านมา ในจ.เชียงใหม่ กลายเป็นกระแสที่หลายคนจับตามอง เพราะการเปิดเผยรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณะว่า อยู่ในระดับเกินมาตรฐานและถูกจัดอยู่ในอันดับต้นของเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดระดับโลก ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังคงเกิดขึ้นในทุกๆปี และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาส่วนใหญ่ที่ขึ้นเพราะไฟป่าและการเผาในพื้นที่เกษตร โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านคุณภาพชีวิตและสุขภาพเนื่องจากพิษของ PM 2.5

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะสื่อมวลได้มีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับปานกลาง-ดี เนื่องจากมีฝนตกเป็นบางช่วงตลอดทั้งวัน ทำให้อากาศค่อนข้างเย็นสบาย ช่วยลดความเข้มข้นของ PM 2.5 ได้เป็นอย่างมาก และค่าฝุ่นยังลดลงจากเดือนเม.ย. ที่พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานอีกด้วย อย่างไรก็ตามการพึ่งพาแค่สายฝนคงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาฝุ่นให้หมดลงไปได้ โดยภาครัฐได้มีการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมีแนวทางในการแก้ไขคือการทำ “เชียงใหม่โมเดล” โดยเป็นร่วมแก้ปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ การตั้งวอร์รูมีปรับการทำงานเป็นล่างขึ้นบน เน้นการมีส่วนร่วม ปรับแนวคิดจากการห้ามเผา( Zero Burning) มาเป็นการบริหารเชื้อเพลิง และสร้างฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ พัฒนาแอปพลิเคชัน Fire D มาควบคุมดูแลการเผาในพื้นที่ เป็นต้น

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมหารือกับจังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของววน. เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วนตามโจทย์และความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้สกสว. ได้สนับสนุนงานวิจัย ภายใต้งบประมาณปี 2566 เป็นเงินทุนวิจัยรวมกว่า 70 ล้านบาท ใน 4 มิติเร่งด่วนสำหรับการลดฝุ่นจากต้นตอแหล่งกำเนิด ได้แก่ การลดไฟในพื้นที่ป่าไม้, การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่, การลดไฟในพื้นที่เกษตร และการลดฝุ่นข้ามแดน โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยทุกภาคส่วนตั้งเป้าผลลัพธ์ทั้งการลดปัญหาที่เกิดซ้ำในแต่ละพื้นที่ การติดตามสถานการณ์ การวางแผนป้องกันและรับมือฝุ่นจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรม

โดยการสนับสนุนทุนวิจัย 4 ในมิติเร่งด่วน ประกอบด้วย มิติการแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า ประกอบด้วยโครงการวิจัยจำนวน 5 โครงการ ได้แก่  1.การจัดการฐานข้อมูลและแผนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชนและแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนกลไกการจ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศ (PES) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม 2.การประเมินบริการจากระบบนิเวศอย่างมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจ 3.การพัฒนาฐานข้อมูลและเครื่องมือสำหรับการจัดการเชื้อเพลิงเพื่อป้องกันและ ควบคุมไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 4. การพัฒนากระบวนการ Payment for Ecosystem Services (PES) สำหรับพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ 5. การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายจากบทเรียนการวิจัยและนวัตกรรมการบริหารจัดการไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนากลไกการจ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศ (PES) เพื่อลดพื้นที่เผาไหม้และฝุ่นละออง PM2.5 แบบมีส่วนร่วมในชุมชนต้นแบบ พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่

มิติที่การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบด้วยโครงการวิจัยจำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบบัญชีข้อมูลและต้นแบบการบูรณาการและใช้ประโยชน์ข้อมูล เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 2.การวิเคราะห์เขตประสบมลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่และเชิงเวลา ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 3. การพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการพยากรณ์สำหรับการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 4. การใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการสำหรับวางแผนตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 5. การปรับปรุงแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศ WRF-Chem และแอปพลิเคชั่น FireD เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล และ 6. การจัดทำ เชื่อมโยง และบริหารจัดการฐานข้อมูลแบบบูรณาการเพื่อแก้ไข ปัญหา วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

การประชุมใช้การวิจัยแก้ปัญหา

มิติการแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร ประกอบด้วยโครงการวิจัยจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1. ระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการเผาและฝุ่นควันบนพื้นที่สูง 2. การส่งเสริมการจัดการเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 สำหรับภาคเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐานการผลิตพืช 3.การศึกษาเชิงนโยบายเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตร 4. การจัดการชีวมวลในแปลงเกษตรที่สูงเพื่อลดการเผาในไร่ข้าวโพด และมิติการลดฝุ่นข้ามแดน ประกอบด้วยโครงการวิจัยจำนวน 1 โครงการ คือการพัฒนาความร่วมมือ ไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน

 ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า ความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการมากที่สุด ดังนั้น การหารือในครั้งนี้จะทำให้ กสว. และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

ทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าการจังหวัดเชียงใหม่

นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า    สถานการณ์ฝุ่น  PM 2.5 ในเชียงใหม่ เป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพและชีวิตของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงมาจากการเผาไหม้ แบ่งเป็นช่วง คือ ช่วงเผชิญเหตุ 3 เดือน  คือ กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และช่วงป้องกัน  9 เดือน ในช่วงเผชิญเหตุนอกจากปัญหาไฟป่าภาคการเกษตรบางส่วนมีความจำเป็นต้องเผาเพราะอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขา ซึ่งไม่สามารถนำเทคโนโลยี อย่างรถไถ หรือนวัตกรรมขึ้นไปใช้งานได้ และปัจจุบันก็ยังไม่มีนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่จะไปสนับสนุนเพื่อลดการเผาได้ จึงทำให้มีการเผยแพร่จากแหล่งต่างๆมากมายว่า เชียงใหม่มีอากาศแย่ที่สุดติดอันดับโลก แต่ในสถานการณ์ปี 2567 ยอมรับว่าดีขึ้น เนื่องจากคุณภาพอากาศจากเดิมที่สูงถึง 50 ไมโครกรัม ปีนี้ลดลงเหลือ 37.5 ไมโครกรัม จุดตรวจวัด Hotspot จากพื้นที่เผาไหม้มีแนวโน้มลดถึง 50%

การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นของจ.เชียงใหม่  ที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (War Room) โดยภายในห้องจะมีการติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 จากการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นและรายงานผ่านแอปพลิเคชั่นของ Air4Thai ซึ่งเครื่องวัดฝุ่นมีการติดตั้งใน 6 พื้นที่ ในเขตอ.เมือง 3 ตัว และอ.ฮอด อ.แม่แจ่ม อ.เชียงดาว อย่างละ 1 ตัว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มการเกิดฝุ่น PM 2.5 ส่วนพื้นที่ที่เกิดการเผ่าไหม้บ่อยๆ ก็จะมีการตรวจสอบจากดาวเทียมจากจิสด้า  และรายงานผ่านแอปฯ FireD เพื่อดำเนินการตัดสินใจเวลาเหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน ซึ่งชุมชนสามารถยื่นคำร้องหากจำเป็นที่ต้องใช้ไฟ และสามารถพยากรณ์อากาศข้างหน้า 3-5 วัน ด้วย ปัจจัยการระบายอากาศ อากาศยกตัวขึ้น การจัดการเชื้อเพลิงเผาในพื้นที่โล่งควัน PM2.5 นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝุ่นข้ามแดนที่มีมากเกือบ 50% อย่างไรก็ตามในการสรุปปัญหาฝุ่นต้องมีการนำทั้งค่าจาก Air4Thai  DustBoy ของม.เชียงใหม่ และ AQI มาวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 ร่วมด้วย  

ในการดำเนินการนำ”งานวิจัย”มาบูรณาการในพื้นที่เชียงใหม่รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า จะนำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ อ.แม่แจ่ม 10 หมู่บ้านใน 5 ตำบล ที่มีขนาดพื้นที่มากถึง 1.7 ล้านไร่ และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 10 หมู่บ้านใน 10 ตำบล อย่าง บ้านม้งดอยปุย เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการไฟป่าที่เข้มข้น แต่ก็ต้องเผชิญกับไฟป่าบ่อยครั้ง ซึ่งในช่วง 3 เดือนเผชิญเหตุจะเกิดฝุ่น PM 2.5 ปกคลุม เมื่อมองจากมุมสูงแทบไม่เห็นตัวหมู่บ้าน ดังนั้นในการนำงานวิจัยมาร่วมบูรณาการจะช่วยให้เห็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขป้องกันอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ห้องวอร์รูม แก้ปัญหาหมอกควันจากการเผา ของจ.เชียงใหม่

ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 กล่าวถึงแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากการเผาไหม้ว่า สาเหตุของแหล่งกำเนิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ปีพ.ศ.2566 มาจากการหาของป่า 53% เผาไร่ 2.05% ล่าสัตว์ 6.97% เลี้ยงสัตว์ 0.91% เผาขยะ,ไฟไหม้ริมทาง 2.49% และไม่ทราบสาเหตุมากถึง 34.59% ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม อาจจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชุมชน-รัฐ ไฟที่ลามมาจากพื้นที่เกษตรภายนอก การชิงเผา แต่ลามเกินควบคุม การขนยาเสพติด ทำลายหลักฐานการตรวจสอบทำแนวกันไฟ เป็นต้น ดังนั้นเบื้องต้นการแบ่งพื้นที่เชียงใหม่จะทำในส่วนของภาคเกษตร คือ  อ.แม่แจ่ม ส่งเสริมการปรับระบบเกษตรวิถีใหม่ที่ไม่เผา ตลอด Value Chain ในพื้นที่สูง และการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงให้มากขึ้น และในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยต้องมีการส่งเสริมการทำ Comanagement plan เพื่อกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์จากป่า ตามมาตรา 65 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ การส่งเสริมเรื่องคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนและเชื่อมโยงกับชุมชนในเรื่อง PES

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน.

“การไล่จับ Hotspot และการดับไฟในช่วงเผชิญเหตุ 3 เดือน ไม่ใช่คำตอบ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน แต่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนก่อนเกิดฤดูฝุ่นใช้สูตร 8 + 3 + 1 คือ 8 เดือนก่อนเกิดฝุ่น จะต้องมีการทบทวน วิเคราะห์และประเมินการบริหารจัดการ จัดทำแผนปฏิบัติการ เช่น จัดทำระบบเกษตรแบบไม่เผา กำหนดโซนและวางแผนการผลิตทางการเกษตร ในช่วง 3 เดือนเผชิญเหตุ ต้องติดตามรายงานสภาพอากาศ แจ้งเตือนคุณภาพอากาศและผลกระทบทางสุขภาพ อาทิ ประกาศพื้นที่ห้ามเผา มีกติการการใช้ไฟ ส่วนอีก 1 เดือน ต้องมาทอดบทเรียนของปัญหาฝุ่นที่ผ่านมา

ส่วนปัญหาฝุ่น P M 2.5 ที่มีความซับซ้อนต้องใช้ชุดเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอย่างน้อย 9 เครื่องมือ ได้แก่ 1.ด้านข้อมูลคือการทำระบบ Big Data 2.ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม 3.ด้านระบบงบประมาณ 4.ด้านเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ 5.ด้านความรู้และวิชาการ 6.ด้านเครื่องมือทางสังคม 7.ด้านการสื่อสารสาธารณะ 8.ด้านกฎหมาย 9.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และปัญหาฝุ่น P M 2.5 มีขนาดและขอบเขตของปัญหาที่เกินกำลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่จะป้องกันและจัดการแก้ไข ต้องทำงานร่วมกันจากหลายกระทรวง รวมทั้งองค์กรนอกภาครัฐ” ดร.บัณฑูร กล่าว

นอกจากการบริหารจัดการเรื่องฝุ่นในพื้นที่ ดร.บัณฑูร บอกอีกว่า งานวิจัยในพื้นที่ยังเป็นการจัดเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นำไปสู่แนวทางในผลจากการทำงานไปสู่การออกแบบร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่ตั้งใจจะให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ และนำไปสู่การประกาศใช้ต่อไป

เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ผู้ใหญ่บ้านม้งดอยปุย

 บ้านม้งดอยปุย บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย  ต้นแบบการจัดไฟป่า เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านม้งดอยปุย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  เล่าว่า  บ้านม้งดอยปุยเป็นหมู่บ้านที่อยู่สูงและไกลที่สุดของดอยสุเทพ เมื่อก่อนชาวบ้านในพื้นที่จะมีการปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก และมีการเปลี่ยนมาทำการเกษตรปลูกพืชทดแทน อย่าง ลิ้นจี่ ผักเมืองหนาวต่างๆ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่นี่ชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในการดูป่า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เกือบ 300 คน โดยแบ่งเป็นทีมละประมาณ 20 คน ทั้งหมด 13 ชุด  และการทำแนวกันไฟที่จะอยู่ตามสันเขารอบๆหมู่บ้าน ซึ่งแนวกันไฟจะอยู่ระหว่างต.ช้างเผือก อ.เมือง กับต.แม่แรม อ.แม่ริม มีวงรอบที่เดินทั้งหมด 22 กิโลเมตร และจะมีการทำแนวกันไฟทุกๆปี ในช่วง 3 เดือนเผชิญเหตุ จะต้องมีการสลับเวรมาดูแลแนวกันไฟทุกๆ 10 วัน ทั้งกลางวันกลางคืน เพราะหากมีไฟป่าจะลามเร็วมากใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็จะถึงยอดดอย ปัจจุบันการดับไฟป่าของหมู่บ้านมีการพัฒนามาใช้เครื่องเป่า  และใช้โดรนในการบินสำรวจจุดที่เกิดไฟ ทำให้เข้าไปดับได้เร็วมากยิ่งขึ้น บริบทของการดูแลผืนป่าสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วม ซึ่งก็ต้องใช้ระยะพอสมควรในการสร้างความตระรู้และความเข้าใจในการดูแลผืนป่า โดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาให้องค์ความรู้

จุดชมวิวที่สามารถเป็นจุดสังเกตุควันไฟจากการเผาป่า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิธา' เดินสายมู จ.เชียงใหม่

'พิธา' เดินสายมู ร่วมพิธีสงสนาน อาบน้ำนมพระพิฆเณศ-เวียนเทียนวัดศรีสุพรรณ เจ้าอาวาสมอบองค์พระให้ แต่ก็ต้องคืน เหตุมูลค่าเกิน 3,000 บาท พร้อมพบปะประชาชนถนนวัวลาย ป้าวัย 71 วิ่งโผกอด ร้องโอ้ยชื่นใจ ถ้าไม่มีเกมสกปรก ได้เป็นนายกฯไปแล้ว

ผวา! ไข้หวัดใหญ่พุ่ง ดับแล้ว 1 ราย เร่งฉีดวัคซีน 7 กลุ่มเสี่ยง

ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงาน ควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง

'ธรรมนัส' บอกราคาลำไยปีนี้ราคาดี

รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่เชียงใหม่ติดตามสถานการณ์ลำไย ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตอย่างมีคุณภาพ รองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ภาพรวมปีนี้ราคาเปิดตลาดดีกว่าปีก่อน

เจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะแก๊งค้ายาเสพติด ดับ 1 เจ็บ 1

ฝ่ายปกครองอำเภอเชียงดาว บูรณาการหน่วยเกี่ยวข้องเข้าพื้นที่เสริมปฎิบัติการ หลังเมื่อคืนวันที่ 11 ก.ค. เวลา 22:00 น. เกิดเหตุยิงกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นาหวาย

อันตราย! ทุนต่างชาติรุกเขมือบค้าไม้เถื่อน

หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ ติดตามไม้มีค่าจากแหล่งซุกซ่อน บุกรวบผู้ต้องหาค้าไม้เถื่อนคาโรงงาน ส่งดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ขยายผลเอาผิดทุนต่างชาติ

วันนี้ 'วันครีษมายัน' กลางวันยาวสุดของปี พระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเกือบ 13 ชม.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็น “วันครีษมายัน”