สง่างาม'โกลเด้นบอย' ประติมากรรมชิ้นเอก

เปิดให้เข้าชมแล้ว หลังประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ ”โกลเด้นบอย“ และสตรีพนมมือ เดินทางกลับสู่ประเทศไทยเช้าวันที่ 20 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นมีพิธีรับมอบโบราณวัตถุล้ำค่าในช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ค. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน  พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายจอห์น กาย ผู้แทนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ร่วมงาน

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า โบราณวัตถุที่ประเทศไทยได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันสหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นสมบัติของชาวไทยทุกคน เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนประเทศไทยในอดีตเมื่อกว่าพันปี จัดเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจโดยนายกได้ให้ความสำคัญเรื่อฝนี้มาก มอบหมายให้มารับโบราณวัตถุดังกล่าว ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทยขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับมอบโบราณวัตถุสำคัญของชาติกลับคืนมาสู่มาตุภูมิ  ทั้ง 2 รายการ  เป็นสมบัติชาติ และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว 

 ” ความงามของโบราณวัตถุบ่งบอกถึงฝีมือช่าง และเทคโนโลยีชั้นสูงในการหล่อโลหะของคนโบราณ โดยเฉพาะเป็นของที่หาได้ยาก เป็นที่ยอมรับว่า เป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่มีคุณค่าระดับโลก อีกทั้งการส่งมอบโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ กลับคืนให้กับประเทศไทย หลังอยู่นอกประเทศกว่า 45 ปี แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันเห็นถึงความสำคัญของที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง และมิตรไมตรีที่มีมาอย่างยาวนานของไทยและสหรัฐอเมริกา  ขอบคุณกรมศิลปากร กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ที่ช่วยดำเนินการให้การนำโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ กลับคืนสู่ประเทศไทยสำเร็จลุล่วงอย่างดียิ่ง  “นางสาวสุดาวรรณ กล่าว 

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการธำรงรักษาไว้ซึ่งมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่ทำให้ชาวไทยเกิดความภาคภูมิในรากเหง้าของชาติ เกิดความรัก หวงแหน และรักษาให้เป็นสมบัติของประชาชนชาวไทย จากนี้ทางกรมศิลปากรจะมีการศึกษารายละเอียด เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป ส่วนการเก็บรักษานั้นเบื้องต้นจะจัดแสดงไว้ที่ พช.พระนคร ก่อน และยังไม่มีแผนการเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่อื่น  ขณะนี้ยังมีการติดตามเจรจาทวงคืนโบราณวัตถุอีก 5 รายการ โดยปัจจุบันมีโบราณวัตถุที่ได้กลับคืนมาแล้ว รวม 96 รายการ 

ด้านนายพนมบุตร จันทรโชติ กล่าวว่า ตนโชคดีเป็นคนแรกๆ ที่ได้เห็นโกลเด้นบอยและประติมากรรมสตรีนั่งพนมมือที่ได้รับการส่งมอบจากสหรัฐอเมริกา มีความตื่นเต้นและดีใจมาก ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ได้มีการรับมอบของที่มีค่าคืนมาเร็วที่สุด ซึ่งเมื่อประมาณ 40- 50 ปีที่ผ่านมา มีการล่าสมบัติโบราณวัตถุ เปนำโบราณวัตถุออกไปนอกประเทศโดยไม่ถูกต้อง ขณะนั้นกรมศิลปากรไม่สามารถมีการป้องกันครอบคลุมทั้งหมดได้ ดังนั้น เป็นเรื่องที่เราจะเก็บไว้เป็นบทเรียนและเป็นความทรงจำ การได้คืนมาของโกลเด้นบอยและสตรีนั่งพนมมือ เเป็นเรื่องที่ควรจดจำ แสดงให้เห็นถึงจริยธรรมที่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกควรจะมี การที่เดอะเมทคืนโบราณวัตถุที่คนทั่วโลกอยากจะไปชมและเป็นสมบัติของมนุษยชาติ สู่ในแผ่นดินแม่ครั้งนี้เป็นความร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจ หวังว่า การกลับคืนมาของโกลเด้นบอยเป็นการกลับสู่แผ่นดินแม่อย่างถาวร หลังจากนี้ ศก. ยังมีภารกิจที่ รมว.วธ.มอบหมายให้ดำเนินการ การได้คืนซึ่งโบราณวัตถุของไทยยังคงไม่สิ้นสุดแค่นี้

สำหรับรายละเอียดของประติมากรรม นายจอห์น กาย  ภัณฑารักษ์ แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน  กล่าวว่า การส่งมอบโบราณวัตถุคืนให้แก่ประเทศไทยในครั้งนี้  เป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือจากการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องของทั้งสองฝ่าย และ สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันตรวจสอบข้อมูลแล้วยืนยันว่า โบราณวัตถุดังกล่าวเป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรม จึงมีความมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง ทั้งนี้ ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองรูปพระศิวะ ในศาสนาฮินดู เป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นเดียวอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นหนึ่งในประติมากรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดประเภทรูปเคารพที่ยังหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสภาพการเก็บรักษาเกือบสมบูรณ์ ส่วนประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือที่รู้จักในนาม โกลเด้นบอย เป็นประติมากรรมที่มีรูปร่างงดงาม แต่น่าเสียดายที่ไม่มีจารึกใดๆ ที่จะปรากฏเป็นเบาะแสในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดได้ ดังนั้น รูปเคารพนี้ จึงทำหน้าที่เป็นรูปเคารพทางศาสนาที่สำคัญในเทวสถานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะหมายถึง พระศิวะ เทพในศาสนาพราหมณ์

 “ ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะองค์นี้ โดดเด่นกว่ารูปประติมากรรมที่กล่าวมานั้น ในแง่ของคุณภาพของประติมากรรม และความประณีต ส่วนความยิ่งใหญ่ของตัวประติมากรรมและการตกแต่งเครื่องประดับนั้น   ยังไม่อาจเทียบได้ รวมถึงการตกแต่งด้วยการกะไหล่ทองซึ่งยังคงอยู่แม้ผ่านมานับพันปี หากพิจารณาจากผ้านุ่งห่มแบบสมพตในภาษาเขมรหรือผ้านุ่งในภาษาไทย มีการตกแต่งรอยผูกที่ชายผ้าด้านหน้าและปมผ้าด้านหลังก็ตกแต่งอย่างสวยงามสะท้อนเรือนร่างที่สวมใส่อยู่ เครื่องประดับ พาหุรัด กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า กรองคอ และมงกุฎ เป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ ดังที่ นิตยา กนกมงคล ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตการวางเท้าเหลื่อม บ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวหรือสิ่งนี้คือเทพที่กำลังเคลื่อนไหว”  นายจอห์น กล่าว     

 ภัณฑารักษ์ กล่าวต่อว่า โบราณวัตถุชิ้นที่สอง คือ  ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ ประดับด้วยเพชรพลอย เป็นสตรีในราชสำนัก กระทำกิริยาท่าทางการสักการะตามธรรมเนียม   ท่านั่งโดยพับขาข้างหนึ่งไว้ข้างใต้เท้ามองเห็นได้จากด้านหลัง มีลักษณะเป็นธรรมชาติ และปฏิบัติตามมารยาทในการนั่งต่อหน้าพระราชวงศ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบันในไทย การสร้างประติมากรรมสำริดต้องทุ่มเทและใช้ทรัพยากรอย่างมาก เพราะมูลค่าของโลหะมีราคาสูงมาก  ตนเชื่อว่า ผลิตขึ้นในโรงหล่อหลวงบริเวณชั้นในของเมืองพระนคร ดังเช่น โรงถลุงแร่และหล่อโลหะแห่งหนึ่งภายในบริเวณพระราชวังที่นครธมที่ได้รับการสำรวจทางโบราณคดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“ ประติมากรรมทั้งสองชิ้นหล่อด้วยกระบวนการสูญขี้ผึ้ง โดยมีแกนเหล็กที่ยื่นออกมาจากส่วนมงกุฎถึงเท้า เมื่อการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้ายบนพื้นผิวสำริด ทำได้อย่างประณีตและละเอียด เมื่อตรวจสอบพระพักตร์ของทั้งพระศิวะและสตรีนั่งชันเข่าโดยละเอียด พบว่าทั้งสององค์มีการตกแต่งด้วยการฝังแก้ว หินผลึก และโลหะที่แตกต่างกัน คือ ทองคำและเงิน พระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงินและพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ หนวดและเครามีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ติดตั้งอยู่บนแท่นหินในเทวสถานที่สร้างด้วยศิลาแลงหรืออิฐ สว่างไสวด้วยตะเกียงน้ำมัน จึงมีอำนาจและสง่างามน่าหลงใหล พระศิวะประทับยืนเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่สำคัญสำหรับการสักการะในวิหารหลวง เพื่อการสักการะของราชวงศ์ที่นครวัด และถูกส่งไปประดิษฐานยังเมืองสำคัญของอาณาจักรเขมรด้วย หวังว่า จะได้สานต่อการเจรจาและทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานในไทยเพื่อแสดงให้โลกได้เห็นถึงประวัติศาสตร์และคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย” นายจอห์น กล่าว 

ผูัสนใจชมสองประติมากรรมชิ้นเยี่ยม กรมศิลปากรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชมได้ ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พช.พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2567 นี้เป็นต้นไป ในโอกาสนี้ กรมศิลปากร ได้เคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอยจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาจัดแสดงร่วมกันด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท

สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท

พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่

เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1  โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ

ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม

โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List