ไอศกรีมเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โดยจากรายงานมูลค่าตลาดไอศกรีมของ Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก พบว่าปี 2566 ตลาดไอศกรีมโลกมูลค่าค้าปลีกอยู่ที่ 86,719.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.8% ประเทศที่มีตลาดไอศกรีมขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. สหรัฐฯ มีมูลค่าค้าปลีก 19,994.5 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. จีน 8,247.1 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ญี่ปุ่น 5,581.2 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. รัสเซีย 3,576.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. บราซิล 3,232.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดไอศกรีมของไทยมีมูลค่าค้าปลีก 396.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่ร้อน ความนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไลฟ์สไตล์ที่ต้องเดินทางเพิ่มขึ้นของคนไทย
ขณะที่ สถิติส่งออกไอศกรีมของไทย พบว่า มูลค่าการส่งออกไอศกรีมของไทยเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปี โดยในช่วงปี 2560 – 2561 เติบโตเฉลี่ยปีละ 12.43% ต่อปี เนื่องจาก ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย และสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นไอศกรีมได้อย่างสร้างสรรค์และถูกใจผู้บริโภค ผลไม้ไทยเกือบทุกชนิดสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว รวมถึงขนมไทยก็ถูกนำมาประยุกต์เป็นไอศกรีมได้อย่างน่าสนใจ ตลอดจนสมุนไพรไทย ก็ไม่ถูกมองข้าม สามารถนำมาเป็นส่วนผสมในไอศกรีมเพื่อชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย อีกทั้ง รูปแบบและรูปทรงของไอศกรีม ก็มีจุดเด่น ดึงดูดใจ ผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
เฉพาะในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไอศกรีมรวม 148.21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.1พันล้านบาท เท่ากับขยายตัวร้อยละ 7.3 โดยนายฐานพงศ์ จุ้ยประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 1 ของเอเชีย สอดคล้องกับการเติบโตของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตไอศกรีมซอร์เบในลูกผลไม้ ไอศกรีมผลไม้และโมจิไอศกรีม โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเกือบ 99% และขายในประเทศเพียง 1% ทำให้ในปี 66 บริษัทฯ มีรายได้รวมสูงถึง 340 ล้านบาท เติบโตประมาณ 30% แต่ยังน้อยกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 400 ล้านบาท เพราะปัญหาการไม่เพียงพอของผลไม้สดที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต และกำลังการผลิตของโรงงานก็เต็มกำลังแล้ว ทำให้มียอดค้างส่งแก่ลูกค้าถึง 40 ตู้คอนเทนเนอร์หรือคิดเป็นเงินประมาณ 60 ล้านบาท
แต่ปีนี้ปัญหาทั้งหมดได้รับการแก้ไขแล้วแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิต การบริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบ ด้วยการลงทุนปลูก จัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ เพิ่มและสต๊อกผลไม้ ให้ผลิตได้ตลอดปี โดยการขยายโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิตนั้น มีการลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เป็นการขยายทั้งตัวโรงงานให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รองรับกับเครื่องจักรและสายการผลิต ที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สามารถลดเวลาในการผลิตไอศกรีมผลไม้ 1 ลูก จากเดิมที่ใช้เวลา 3 วัน เหลือเพียงแค่ 10 นาที ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตจากปีละ 340 ตู้คอนเทนเนอร์หรือคิดเป็นผลิตภัณฑ์ไอศกรีมประมาณ 9 ล้านชิ้นต่อปี เป็น 720 ตู้คอนเทนเนอร์หรือ คิดเป็นผลิตภัณฑ์ไอศกรีมประมาณ 18 ล้านชิ้นต่อปี
“โรงงานใหม่จะเสร็จสิ้นและผลิตได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ปัญหาด้านวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตนั้น เรามีแผนระยะยาว โดยลงทุนกว่า 20 ล้านบาท เพื่อปลูกสับปะรดจำนวน 1,000 ไร่ ที่จังหวัดเชียงราย เพราะสับปะรดเป็นวัตถุดิบสำคัญของเรา ในการผลิต ไอศกรีมผลไม้ในลูกสับปะรด ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของเรา คาดว่าจะได้ผลผลิตช่วงปลายปีนี้ประมาณ 1 ล้านลูก และจะเพิ่มเป็น 6 ล้านลูกในปีต่อๆ ไป นอกจากนี้ เรายังได้สร้างห้องเย็นเพื่อจัดเก็บวัตถุดิบ ทำสต๊อกวัตถุดิบเพิ่มได้มากถึง 40 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ ประมาณ 1 ล้านชิ้น จัดเก็บผลไม้ในฤดูกาลที่มีผลผลิตมากได้ในราคาที่ไม่สูงเกินไป ถือว่าเป็นการช่วยเกษตรกรทางอ้อมอีกด้วย”ฐานพงศ์กล่าว
การส่งออก ยังคงเป็นฐานการจำหน่ายหลัก ซึ่งฐานพงศ์ บอกว่า ไอศกรีมในลูกผลไม้ยังคงครองอันดับหนึ่งในประเทศเกาหลี ส่วนกลุ่มยุโรปที่แม้ว่าจะเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมรายใหญ่ของโลก เช่น ประเทศฝรั่งเศส ออสเตรเลีย แต่บริษัทไม่ได้ละเลย เน้นทำตลาดเพื่อสร้างความรู้จักไอศกรีมไทยมากขึ้น แต่ตลาดที่น่าสนใจ และมีศักยภาพสูงซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประตูบานสำคัญในการส่งออกต่อไปก็คือ ซาอุดีอาระเบีย และจีน เนื่องจากมีกำลังการซื้อสูง โดยตลาดซาอุฯ มองว่าจะเป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังประเทศในแถบอาหรับและแอฟริกาในอนาคต
“ทั้งซาอุและจีนที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ มีการบริโภคสูง เราได้เริ่มมีการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายบ้างแล้ว และผลตอบรับเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ เรายังได้เริ่มมีการเปิดตลาดใหม่กับทางอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาและพัฒนาสูตร คาดว่าจะสามารถส่งผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายได้ประมาณปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า”ฐานพงศ์กล่าว
กลุ่มผลิตภัณฑ์ของ แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป ประกอบด้วย ไอศกรีมซอร์เบในลูกผลไม้ เป็นผลิตภัณฑ์หลักที่มีสัดส่วนสูง 80% โมจิไอศกรีม 15% และ ไอศกรีมผลไม้แท่ง 5% ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้เป็นไอศกรีมซอร์เบผลไม้ชนิดถ้วยขนาด 210 กรัม มี 6 รสชาติ ประกอบด้วยสับปะรด เสาวรส แตงโม มะพร้าว มะม่วง และแก้วมังกร โดยจะเปิดตัวครั้งแรกในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งไอศกรีมชนิดถ้วยนี้ จะเป็นคนละตลาดกับไอศกรีมซอร์เบในลูกผลไม้ แต่ยังเน้นตลาดส่งออกเช่นเดิม โดยจะเริ่มจำหน่ายในเกาหลีก่อน
“เรามองว่า จุดเด่นของไอศกรีมชนิดถ้วย คือ การเจาะเข้าสู่ฐานผู้บริโภคในวงกว้าง โดยจำหน่ายผ่านช่องทาง รีเทล ซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ Costco, GS25, 7-ELEVEN นอกจากนั้นยังเปิดกว้างในการรับจ้างผลิต (OEM) แบบครบวงจร โดยลูกค้าที่สนใจสามารถร่วมพัฒนาสูตรกับเรา โดย แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จะดูแลเรื่องการผลิต บรรจุ พร้อมส่งออกไปยังปลายทางให้ได้อีกด้วย ซึ่งจากการขยายการลงทุนโรงงานใหม่ แหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้คาดว่ารายได้รวมในปีนี้จะสูงแตะ 400 ล้านบาท”กรรมการผู้จัดการฯกล่าวย้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วาทะ พาตาย!! | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
วาทะ พาตาย!! | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
ลัคนามีนกับเค้าโครงชีวิตปี2568
สรุป-ตลอดทั้งปีทุกข์สองอย่างคือ ค่าใช้จ่ายและทุกข์ถึงตัวตรงๆ ยังอ้อยอิ่งในชีวิต มีโอกาสสู
แม่หมอ..มองทะลุ ปี 68 เปลี่ยนนายกฯ ..ยุบสภา-ลาออก!!.. I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568
เคลื่อนทัพ...เคาะโผนายพล | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2568
‘สมชาย’เตือน รธน.ฉบับใหม่ ตายยกสภา !! | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2568