สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน พระราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ “ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” เผยแพร่ ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีนักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดีเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ หอศิลป์ ท้องพระโรง มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เมื่อวันก่อน
ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า พระราชนิพนธ์นี้เผยแพร่ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อตั้งครบ 80 ปี ใน พ.ศ. 2566 ตามที่มหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน โดยทรงปรับปรุงจากพระวิทยานิพนธ์เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2521
ในช่วงเวลานั้นทรงสนพระทัยที่จะศึกษาจารึกปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งกรมศิลปากรพบใหม่ในระหว่างการบูรณะปราสาทพนมรุ้ง ใน พ.ศ. 2516 และจะทรงนิพนธ์เป็นบทความวิชาการ แต่ ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ม.ศิลปากร ในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงศึกษาทั้งด้านจารึกและด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เมื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบกันจะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับปราสาทพนมรุ้ง เพื่อนำเสนอเป็นพระวิทยานิพนธ์ ต่อมาเมื่อเสด็จฯ ไปทัศนศึกษาปราสาทพนมรุ้ง พ.ศ. 2520 และศึกษาอย่างจริงจัง ทรงพบว่า ถ้าศึกษาทั้งด้านจารึกและด้านประวัติศาสตร์ศิลปะพร้อมกัน จะไม่สามารถศึกษาได้สำเร็จตามช่วงเวลาที่กำหนด การทำพระวิทยานิพนธ์ครั้งนั้นจึงทรงจำกัดเฉพาะด้านจารึก ส่วนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจะทรงศึกษาประกอบเพียงสังเขปเท่านั้น เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องราวของปราสาทพนมรุ้ง หลังจากทรงปรับปรุงแล้ว ทรงตั้งชื่อใหม่ว่า “ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง“
นายกสภา มศก. กล่าวว่า ผลงานที่ทรงศึกษาค้นคว้าในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการอ่านและแปลจารึก ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ยากมาก เพราะนอกจากจะต้องมีความรู้ทางด้านภาษาโบราณเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องใช้ความรู้ในศาสตร์อื่นๆ มาบูรณาการในการตีความด้วย สามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในการเรียนการสอนด้านจารึกภาษาตะวันออก พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ให้ข้อมูลหลักฐานสำคัญของปราสาทพนมรุ้งทั้งด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ที่ได้จากการทรงอ่านและทรงแปลจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าอ้างอิง ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักปราสาทพนมรุ้งโบราณสถานที่สำคัญของไทยมากขึ้น
ด้าน รศ.มยุรี วีระประเสริฐ อดีต อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มศก. กล่าวว่า ในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ทรงแบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 ปราสาทพนมรุ้ง ทรงปรับปรุงเนื้อหาจากบทนำของพระวิทยานิพนธ์ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า ความรู้ด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ และประติมานวิทยาที่เกี่ยวกับปราสาทพนมรุ้งในบทนำเดิมนั้น ปัจจุบันมีการพบหลักฐานใหม่เพิ่มเติมที่ทำให้ความรู้เหล่านั้นก้าวหน้าขึ้นมาก จึงทรงปรับปรุงและเพิ่มเติมหลักฐานและความรู้ต่างๆ ให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น
ส่วนตอนที่ 2 จารึกภาษาเขมรโบราณและจารึกภาษาสันสกฤตพบที่ปราสาทพนมรุ้ง มาจากบทที่ 2 จารึกภาษาเขมร และบทที่ 3 จารึกภาษาสันสกฤต อันเป็นเนื้อหาหลักของพระวิทยานิพนธ์ ซึ่งหลังจากที่ทรงทบทวนตรวจสอบคำอ่านและคำแปลจารึกอีกครั้ง ได้ทรงปรับแก้คำอ่านและคำแปลใหม่ในบางแห่ง โดยเพิ่มเติมไว้ที่เชิงอรรถ แต่ยังคงรักษาคำอ่านและคำแปลเดิมในพระวิทยานิพนธ์ไว้ เนื่องจากมีพระราชประสงค์ให้ผู้อ่านเห็นว่า คำอ่านและคำแปลแต่เดิมในพระวิทยานิพนธ์เป็นอย่างไร คำอ่านและคำแปลที่ปรับแก้ใหม่เป็นอย่างไร
สำหรับบทสรุปของตอนที่ 2 ผลการอ่านและแปลจารึกภาษาเขมรโบราณและภาษาสันสกฤต มาจากข้อสันนิษฐานต่างๆ ในบทสรุปเดิมของพระวิทยานิพนธ์ นอกจากนั้น ยังทรงรวบรวมข้อคิดเห็นที่มีอยู่ตามเชิงอรรถของบทนำและบทอื่นๆ ในพระวิทยานิพนธ์มาไว้ด้วย ทั้งหมดเป็นความรู้ใหม่ทั้งด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา ศาสนาและความเชื่อ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรจะมอบหนังสือ ‘ปราสาทพนมรุ้งและจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง’ แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี อีกทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำ ‘E-Book’ เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สคส.กรมสมเด็จพระเทพฯ
กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพรปีใหม่ 2568 ปีมะเส็งงูเล็กแก่พสกนิกรไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล ชีวิตก้าวหน้า
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'สานสายใยเพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย'
29 ต.ค.2567 - เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานเปิดงาน“สานสายใยเพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย ครั้งที่ 26 ” ณ ลิฟวิ่ง ฮอลล์ ชั้น 3 สยามพารากอน
นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลโครงการริเริ่มด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับเอเชีย
คณะนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากหลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดเทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ณ เอ็มสเฟียร์
18 ต.ค.2567 - เวลา 14.30 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ณ เอ็ม กลาส
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ 'บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่'
1 ต.ค.2567 - เวลา 9.04 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) ภายใต้แนวคิด "รักษา กายา
กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหารทองถนิมเฝ้าฯ
10 ก.ย.2567 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหารทองถนิม เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลงาน “อัคราภิรักษศิลปินแห่งแผ่นดินสยาม”