ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ วิกฤตทะเลเดือด

เมื่อโลกร้อนทะเลเดือด  อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลไทย ภาพแนวปะการังขาวโพลนที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ในทะเล สะท้อนวิกฤตปะการังฟอกขาวและสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ว่าปะการังจะอยู่หรือตายหมดทะเล   ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทยอยประกาศปิดจุดดำน้ำท่องเที่ยวในอุทยานฯ ทางทะเล หลายแห่งแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อปะการัง

จากการสำรวจปะการังฟอกขาวของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)  นำโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มก. มีการบันทึกภาพและรายงานข้อมูลที่สำคัญ พบว่า เกาะบริเวณชายฝั่งแกลง  เช่น เกาะมันใน หินต่อยหอย เกาะขี้ปลา มีปะการังฟอกขาวรุนแรง ในเขตน้ำตื้นการฟอกขาว 90% และพบปะการังตายแล้ว  10 % ไม่พบปะการังปกติ  ขณะที่เกาะอื่นๆ เช่น เกาะทะลุ มีการฟอกขาวลักษณะเดียวกัน แล้วยังมีรายงานจากหาดเจ้าหลาวว่าฟอกขาวรุนแรงก่อนหน้านี้

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเกิดปะการังฟอกขาวครั้งแรกปี 2534 แต่ฟอกขาวรุนแรงโดนหนักทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  ปี 2553 จากนั้นเกิดถี่ขึ้นๆ  ปี 2558 อันดามันฟอกขาวหนัก คณะประมงติดตามสถานภาพและเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงปะการังที่น่าเศร้ามาตลอด ปี 2562 ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดถี่ขึ้นและภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น ปี 2564 เกิดปะการังฟอกขาวระดับเบา ซึ่งคณะประมงจัดจุดติดตามปะการังถาวร เพื่อศึกษาวิจัยระยะยาว โดยตั้งสถานีในทะเลตะวันออก จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี สำรวจและติดตั้งอุปกรณ์วัดอุณหภูมิน้ำ โดยมีการสำรวจ 2-3 ครั้งต่อปี  สำรวจปะการังฟอกขาวแบบใช้โดรนกันน้ำติดกล้องถ่ายคลิปใต้น้ำ เก็บพิกัดพร้อมบันทึกภาพรอบด้าน บวกกับการใช้โดรนใหญ่บินสูงเพื่อถ่ายภาพ ควบคู่กับการดำน้ำบางจุด  เป้าหมายให้ได้แผนที่ปะการังฟอกขาวในภาพรวม

“ จากการสำรวจปะการังฟอกขาวถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฟอกขาวเบาเกิดขึ้นปีเว้นปี ทำให้ปะการังไม่ฟื้นตัวแม้ขณะนี้อุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มลดลงแล้ว  แต่ปะการังแช่น้ำร้อนจัดต่อเนื่อง 6-7 สัปดาห์ น้ำที่เย็นลงก็ยังร้อนอยู่ดี หนนี้เป็นการฟอกขาวรุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปี นับจากปี 53 ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ  ถามว่า ปะการังจะรอดหรือไม่ คำตอบ คือ ยังบอกไม่ได้แต่น่าเป็นห่วงมาก น้ำร้อนมากและร้อนนาน ปะการังอ่อนแอถึงขีดสุด เทียบเป็นมนุษย์ก็เข้าไอซียู  จะอยู่จะไปก็ไม่รู้  ต้องเฝ้าระวัง แนวปะการังบางส่วนกลายเป็นสุสานใต้น้ำไปแล้ว  ปลาในแนวปะการังลดลง จำนวนชนิดของปลาลดลง  ถึงตอนนี้แม้น้ำเย็นลง แต่ยังเกินเส้นวิกฤต 31 องศาเซลเซียส  หากสถานการณ์ยังลากยาวไปเรื่อยๆ อีก 2-3 สัปดาห์ โอกาสรอดมีน้อย เราไม่ได้ต้องการแค่น้ำเย็นลง แต่ยังต้องการให้อุณหภูมิน้ำต่ำกว่าเส้นวิกฤต “ ดร.ธรณ์ ให้ภาพทะเลเดือด

ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลระบุ ปี 64 เกาะมันในและหินต่อยหอย จ.ระยอง ฟอกขาวพร้อมกัน เกาะมันใน ปะการังในน้ำตื้นตายเรียบหมด จนต้องปิดสถานี เพราะไม่สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้   ขณะที่หินตอยหอยปะการังน้ำตื้นโทรม แต่ปีนี้รุนแรงมาก ทั้งสองจุดปะการังขาวโพลนไปหมด  แม้แต่หินต่อยหอยก็ทนทะเลเดือดไม่ได้ ถ้าไม่ตายทั้งหมด ก็โทรมลง  ที่เลือกหินต่อยหอยเป็นจุดสำรวจเพราะเป็นแนวกลางน้ำ มีร่องน้ำตรงกลาง มีปะการังเยอะ  น้ำไหลเวียนดี น้ำลึกกว่า สำคัญมากต่อการทนฟอกขาว เจอน้ำร้อนประจำทุกปี ถือเป็นปะการังที่อึดทน  แต่ปีนี้เผชิญน้ำร้อนระดับไม่เคยพบเห็น ข้อมูลช่วงต้นเมษายน น้ำร้อนเกิน 34 องศา เกือบแตะ 35 องศา

“ เส้นวิกฤตปะการังฟอกขาว คือ 30.5 องศา แต่ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มมาเป็น 31 องศา ไม่เช่นนั้นต้องประกาศฟอกขาวตลอด เพราะปะการังไทยที่รอดมาถึงยุคนี้ล้วนอึดขึ้น  น้ำทะเลทะลุขีดจำกัดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม หลังจากนั้นไม่เคยกลับไปต่ำกว่า 31 องศาอีกเลยจนทุกวันนี้ การช่วยปะการังในอนาคต เราควรทดลองเลี้ยงปะการังที่มีความทนทานต่อความร้อน ซึ่งปัจจุบันมีนักวิจัย ม.เกษตร จุฬาฯ และรามคำแหงดำเนินโครงการขยายพันธุ์ปะการังที่ทนต่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงได้หลายชนิด เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังในธรรมชาติ และเป็นการแก้ปัญหาปะการังฟอกขาวของประเทศไทยอีกด้วย  แต่โครงการลักษณะนี้ต้องใช้งบประมาณสูงมากกว่าปลูกปะการังปกติ และต้องทำต่อเนื่องยาวนาน  “ ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

ส่วนแนวปะการังอุทยานนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลระบุ คณะประมงสำรวจร่วมกับหน่วยงานรัฐ  พบว่า แนวปะการังเกาะใกล้ฝั่ง อย่างทะเลแหวก เกาะปอดะ โดนฟอกขาวแล้ว ซึ่งสัปดาห์นี้จะลงสำรวจแนวปะการังจุดนี้ซึ่งเป็นตัวแทนทะเลอันดามัน แนวปะการังแทบทุกแห่งในทะเลไทยล้วนแสดงอาการมากน้อยต่างกัน  หนนี้เกาะใกล้ฝั่งโดนเยอะ หวังให้ฝนไม่ล่าช้ามาก จะช่วยลดอุณหภูมิน้ำ ปะการังจะรอดไปได้  

นอกจากปะการังตายหมด หอยมือเสือ หอยที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแนวปะการัง  เป็นอีกสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่อยู่ในภาวะไอซียู ผศ.ดร.ธรณ์ บอกว่าจากการสำรวจตามจุดที่ตั้งสถานี พบหอยมิอเสือสีซีดจางเกือบขาว  น้ำร้อนจัด กระทบสาหร่ายที่ช่วยสังเคราะห์แสงสร้างพลังงาน สร้างเปลือก น้ำร้อนฉ่า  สาหร่ายจากไป สีสันที่เคยสวยงามกลับซืด หอยมือเสือกำลังจะอดตาย ปะการังที่เป็นบ้านบางส่วนฟอกขาวตาย ต่อให้หอยรอด ปะการังตายหมด หอยก็อยู่ต่อไม่ได้ ล่าสุดประสานกับกรมทรัพยากรทางทะเลฯ จะมีการส่งทีมไปนำหอยมือเสือมาพักฟื้นในบ่อของกรมต่อไป

อนาคตจะเผชิญหน่ากับหายนะครั้งใหญ่  ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปเตะระดับที่ 2 องศาเซลเซียส  ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2050 นี้ ปะการังกว่าร้อยละ 99 บนโลกจะตายไปหมด ถ้าสถานการณ์โลกร้อนยังดำเนินอย่างนี้ต่อไป ถ้ายังปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกเช่นทุกวันนี้  จะไม่มีปะการังน้อยใหญ่เป็นแหล่งอนุบาลหรือแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต เพื่อเกิดและเติบโต  สร้างระบบนิเวศทางทะเลที่สวยงามสมบูรณ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน การท่องเที่ยว ไปจนถึงการส่งออก

สำหรับข้อเสนอแนะ ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวควรให้ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายด้านโลกร้อน ไม่เฉพาะหน่วยงานรัฐ แต่รวมถึงองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ของประเทศไทยมาดู จะได้รู้ว่าผลกระทบหมายความว่าอย่างไร มาเผชิญหน้ากับความจริง จะได้เห็นด้วยตาตัวเอง มันตายยังไง จะรอดมั้ย เพราะเราก็มีตาเหมือนกัน แทนที่จะนั่งประชุมในห้อง จับมือเอ็มโอยู หรือจัดอีเว้นท์ Net Zero  หรือทำกิจกรรมรักษ์ทะเล นอกจากนี้ รัฐควรสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาแนวทางอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ประเทศไทยขาดนวัตกรรมเพื่อสำรวจและช่วยธรรมชาติ เพื่อสู้กับภาวะโลกเดือด  รวมถึงขาดนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ขับเคลื่อนเพื่อช่วยให้ปะการังรอดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง  เราให้ความสำคัญน้อยไป เราลงทะเลน้อยไป

ประการังฟอกขาวหนัก ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลฝากในท้าย 4 วิธีง่ายๆ ช่วยดูแลรักษาปะการังและท้องทะเลไทย เริ่มจากท่องเที่ยวอย่างระวัง ไม่เข้าใกล้ปะการังฟอกขาว เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ช่วยกันเก็บขยะจากแนวปะการัง  อย่าให้อาหารปลา เพราะเมื่อปลากินขนมปังจะไล่ปลากินสาหร่ายออกไป แล้วจะเหลือตัวอะไรกินสาหร่าย และอย่ากินปลานกแก้วและสัตว์หายาก  เพราะปลานกแก้วกินสาหร่าย ทำให้ปะการังใหม่ลงเกาะบนพื้นได้

เครดิตภาพ : คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปุ้มปุ้ย ผนึกกำลัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และบิ๊กซี นำร่องโครงการ “พี่ปุ้มปุ้ย...พาน้องพะยูนกลับบ้าน”

บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) โดยนางปวิตา โตทับเที่ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารความยั่งยืน และสื่อสารองค์กร

อุทยานแห่งชาติฯพีพี เร่งปิดจุดดำน้ำตื้น-ดำน้ำลึกบางจุด หลังพบปะการังฟอกขาว

นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หน.อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนา

อุทยานฯสิรินาถ ประกาศปิด 'เกาะปลิง' ภูเก็ต แนวปะการังฟอกขาววิกฤติ

นายวัชระ ส่งสีอ่อน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการทำหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถลงนาม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ในประกาศอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เรื่อง ปิดการท่องเที่ยวบริเวณเกาะปลิงและแนวปะการังโดยรอบเป็นการชั่วคราว

'ดร.ธรณ์' เฉลย ฝนตกลงมาแล้ว จะช่วย 'ปะการังฟอกขาว' ได้แค่ไหน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

'ดร.ธรณ์' เจอด้วยตัวเอง นักท่องเที่ยวเหยียบปะการังที่เกาะกูด แค่ฟอกขาวก็แย่มากแล้ว

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า ทราบดีว่าไม่มีใครอยากเหยียบปะการัง แต่คงต้องฝากช่วยดูแลกันให้มาก