สองราชินี 'สวีเดน-ไทย' เสด็จร่วมประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024

16 พ.ค. 67 เมื่อเวลา 09.44 น. สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเข้าร่วมการประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงนายสเวน ฟิลลิป โซเรนเซน (Mr. Sven Philip-Sörensen) ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ World Childhood Foundation นายชเล วุทธานันท์ ประธานกรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguard Kids Foundation) ประธานศาลฎีกา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประทับรับรองเพื่อทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมูลนิธิ World Childhood Foundation มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็กและองค์การสหประชาชาติ แล้วเสด็จเข้าห้องประชุม ESCAP HALL ทอดพระเนตรการกล่าวสิทธิเด็ก (Children Rights) 6 ข้อ ของมูลนิธิ World Childhood Foundation ในพระราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน และการขับร้องบทเพลง You raise me up โดยคณะนักร้องเด็ก ประสานเสียง

ต่อจากนั้นสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 ความว่า มีความยินดีที่ได้กลับมายังกรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันแนบแน่น ทั้งนี้ในการดำเนินงานเรื่องการคุ้มครองเด็กในปี 1999 เป็นระยะกว่า 25 ปีมาแล้วได้ก่อตั้งมูลนิธิ World Childhood Foundation สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงการละเมิดสิทธิหรือตัวเด็ก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่อยากพูดคุยกันในฐานที่เป็นแม่ ย่า ยาย ความเงียบไม่สามารถทำให้ปัญหาหายไป แต่จะทำให้คนร้ายได้ก่อเหตุต่อไป การละเมิดทางเพศต่อเด็กมีอยู่ทุกประเทศทั่วโลก ในวัฒนธรรมการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การตระหนักรู้ เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ หลังจากนั้น คือการต้องดำเนินการต่อไป ข้าพเจ้าอยากจะส่งเสียงเป็นพลังในการคุ้มครองเด็ก ซึ่งควรจะได้รับการคุ้มครองมากที่สุด เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ตามท้องถนน เด็กที่มีความพิการ และเด็กที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ให้มีความปลอดภัย


ทรงมีพระราชดำรัสต่ออีกว่า จากเครือข่ายที่เข้มแข็งอันเป็นหุ้นส่วนคนไทย ในการทำโครงการนำร่องต่างๆมากมายเป็นส่วนที่น่าประทับใจ ทั้งการแนะนำวิธีการคุ้มครองเด็กทางออนไลน์ ให้ผู้ปกครองได้มีส่วนเข้ามาร่วมในโครงการ ทั้งนี้ เพื่อจะคุ้มครองเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดทางเพศ และยังมีการสนับสนุนให้เด็กเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ได้รับความรัก โดยขอเน้นย้ำว่าเด็กที่ต้องการรับความรักโดยเฉพาะ นั้นก็คือเด็กที่อาศัยอยู่ตามถนน เด็กพิการ และเด็กที่อยู่ตามพื้นที่ก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะเด็กเปราะบางในประเทศไทย

“เมื่อ 25 ปีมาแล้ว นับเป็นเวลานาน เมื่อมองกลับไปจะเห็นพัฒนาการเชิงบวกที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทยในปี 2015 เป็นปีที่สำคัญ เนื่องจากมีการพัฒนาเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติ เห็นชอบในการป้องกันหรือขจัดความรุนแรงกับเด็กทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นเป้าหมายที่พลังมาก ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งไม่ใช่เรื่องทางด้านศีลธรรมหรือการแสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นสิ่งที่สำคัญในการเติบโตและความยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ขณะนี้เหลือเวลาอีก 6 ปีเท่านั้น แต่ยังอยู่ห่างไกลในการที่จะประสบผลสำเร็จ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2567 จะมีการพบปะของผู้นำโลกที่เมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย รัฐบาลของทุกประเทศจะมีการร่วมกันป้องกันความรุนแรงที่มีต่อเด็ก และสำหรับประเทศไทยมีความก้าวอย่างมาก เมื่อมีการผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็ก ทั้งนี้ในทุกประเทศทั่วโลกก็มีการดำเนินการทางกฎหมายที่ก้าวหน้าไปมาก”

ทรงตรัสอีกว่า ในประเทศสวีเดนมีการผ่านกฎหมายอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิเด็ก มีการรับรองเป็นกฎหมายในปี 2020 และในประเทศไทยข้าพเจ้าเข้าใจว่าขณะนี้ก็มีการทำงานมากมายในการที่ป้องกันเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ส่วนที่สำคัญในการพัฒนาคือ การคุ้มครองเด็กจากการเลี้ยงดูโดยใช้อินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กๆ ในการเปิดโลกการเรียนรู้ ติดต่อสื่อสาร แค่การเลี้ยงดูด้วยอินเตอร์เน็ตก็ทำให้เกิดภัยคุกคามต่อเด็ก เพราะผู้ร้ายติดต่อกับเด็กได้โดยตรง ในการเข้ามาในรูปแบบไม่เปิดเผยตัวตนหรือแอบโดยใช้นามแฝง ดังนั้นเทคโนโลยีก็เป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมได้เช่นกัน เราจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการคุ้มครองเด็ก จึงมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องร่วมมือกันในการช่วยสนับสนุนเพื่อให้เด็กพร้อมที่จะฟังและเชื่อฟังในสิ่งที่จะบอก พร้อมแสดงออกให้ผู้ร้ายรับรู้ว่าเราเห็นการกระทำของเขาตลอด ไม่สามารถซุกซ่อนได้อีกแล้ว เราต้องทำสิ่งเหล่านี้พร้อมกัน เพราะปัญหาการละเมิดต่อเด็กเป็นอาชญากรรม จึงจำเป็นต้องมีนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย ภาคประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้เปราะบาง ภาคเอกชน ก็มีส่วนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ดังนั้น เรื่องการละเมิดเด็กไม่มีพรมแดน แต่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเรียนรู้และสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ฯ พระบรมราชินี มีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน เป็นที่รู้จักของคนไทย เพราะพระองค์เป็นเพื่อน เป็นมิตรที่ดีของคนไทยและประเทศไทย การทำงานตลอดชีวิตของพระองค์ได้ดูแลเด็กๆ ทั่วโลก พระองค์ทรงงานอย่างหนักทำงาน ในการทำงานให้กับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก เพื่อที่จะคุ้มครองและทำให้เด็กมีความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือการเอารัดเอาเปรียบต่อเด็ก

การทำงานเป็นหุ้นส่วนกับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก การทำงานร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเรากำลังเผชิญปัญหาหลายคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดทางเพศต่อเด็ก และการนำเด็กมาเป็นสินค้า เราจะขยายการทำงานในอินเตอร์เน็ต เพราะการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ได้สร้างและเพิ่มอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กๆ ดังนั้นเราจะปกป้องเด็กพวกนี้ได้อย่างไร เมื่อความเสี่ยงนั้นมากกว่าสิ่งที่เราควรจะทำได้

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชดำรัสอีกว่า ผู้กระทำความผิดมีการละเมิดเด็ก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงในการถูกล่วงละเมิด มีการทำร้ายเด็กจากครอบครัวที่มีปัญหาและขาดการศึกษา รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ผู้กระทำความผิดนั้นส่วนใหญ่ บางครั้งอาจจะเป็นเพื่อนบ้าน บางครั้งเป็นคนในครอบครัว ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้เสียหายได้ ในกรณีหนึ่งเป็นการละเมิดโดยแม่ของเขาเอง เพราะว่าครอบครัวเด็ก เป็นคนที่กระตุ้นให้เด็กขายสิ่งของทางออนไลน์ ปัญหาก็คือการละเมิดของเด็กนั้นมีความซับซ้อน จำเป็นต้องมีวิธีหลากหลายในการป้องกัน และจะต้องมียุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน เช่น การให้เงิน การสนับสนุนให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตได้ ต้องมีโครงการในชุมชนเพื่อช่วยเหลือ หรือการณรงค์เพื่อให้สร้างความตระหนักรู้ในประชาชน


“เราจะต้องนำผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อที่มาดูแลปัญหานี้ และมีความพยายามต่างๆ จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล เอกชน และหุ้นส่วนที่ทำงานกันในระดับนานาชาติ เพื่อให้เด็กนั้นมีความปลอดภัย อันนี้เป็นปัจจัยหลักและเป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนที่เราจะต้องแบ่งปันกัน เด็กๆ นั้นเป็น ทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด เขาควรจะมีการเจริญเติบโตและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย เราจะต้องผลักดันให้มีการทำงานเรื่องนี้ให้อนาคตของเด็กสดใส รุ่งเรือง เด็กทุกคนมีสิทธิในชีวิตของเขา มีสิทธิที่จะได้รับความรักมีความสุข มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิในการเล่น และมีสิทธิในการเจริญเติบโตในทิศทางที่ดีด้วย”สมเด็จพระนางเจ้าสุทธิดาฯ ทรงตรัส

พระองค์ ยังได้มีพระราชดำรัสตอนท้ายว่า ความจำเป็นในการทำงานจากความยุ่งยากให้ง่ายขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิต่างๆ เด็กจะได้รับทุกคน ข้าพเจ้าหวังว่าการแบ่งปันข้อมูลต่างๆ อาจจะทำให้การทำงานเจริญรุ่งเรือง อยากขอขอบพระคุณสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมประชุมในครั้งนี้สำหรับอนาคตที่ดีของเด็กๆ ของเรา

จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระราชินี ซิลเวียแห่งสวีเดน พระราชทานพระราชวโรกาสให้ เลขาธิการมูลนิธิ World Childhood Foundation กับประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดการประชุม และประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย และทรงรับฟังการกล่าวสุนทรพจน์โดยบุคคลต่าง ๆ ทรงร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แล้วทรงร่วมรับฟังการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Key steps to reduce child sexual abuse online” และหัวข้อ “Protecting children from sexual abuse : Challenges and Key steps forward”

จากนั้นสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน พระราชทานพระราชดำรัสปิดการประชุมในหัวข้อ “Have a better future” เสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทอดพระเนตรการแสดงร้องเพลง Better Tomorrow โดยคณะนักร้องเด็กประสานเสียง และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายลูกแก้วจากผู้แทนคณะนักร้องเด็กประสานเสียงดังกล่าว แล้วเสด็จออกจากห้องประชุม ESCAP HALL ไปทอดพระเนตรนิทรรศการ “ความจริงที่คนไทยไม่รู้” (The Hidden Truth in Thailand) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ และสิทธิความเท่าเทียมกันของเด็ก จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีทรงมีพระราชปฏิสันถาร และทรงทูลลาสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตนิทรรศการเกี่ยวกับความยั่งยืนและนวัตกรรม และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสาวซูมี โร (Ms. Soomi Ro) ผู้บริหารคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับนิทรรศการดังกล่าว สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ในโอกาสนี้สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงได้กล่าวอวยพรให้เด็กไทย “อยากขอขอบคุณสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และยังมีฝ่ายตุลากร กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หระทรวงมหาดไทย ที่ได้พูดคุยถึงเด็กไทยและอนาคตของประเทศไทย ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจและภูมิใจ เพราะว่าก่อนนี้ข้าพเจ้าเข้าร่วมการประชุมหลายครั้งไม่เคยมีบุคคลสำคัญ สมาชิกระดับสูงเข้าร่วมมากขนาดนี้ในการเป็นไฟสนับสนุนต่อไป และสำหรับเด็กไทยข้าพเจ้าอยากจะบอกว่าเด็กต่างๆอยู่ในมือที่ดีของสมเด็จพระนางเจ้าและสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ข้าพเจ้ารู้ว่าทุกคนจะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำได้ในการช่วยเด็กๆในประเทศไทยต่อไป ขอบคุณมากๆสำหรับการประชุมวันนี้ ข้าพเจ้าภูมิใจ พอใจและมีความสุข”

การประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมูลนิธิ World Childhood ในพระราชินูปถัมภ์สมเด็จพระราชินีซิลเวียเเห่งสวีเดน ร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมต่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และการเเสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกันช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในประเทศต่าง ๆ และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและทรงเอาพระราชหฤทัยใส่กับเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีโอกาสเท่าเทียมกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาโดยตลอด ดังพระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ เวทีเสวนาพิเศษ “Key steps to reduce child sexual abuse online” และ “Protecting children from sexual abuse: challenges and key steps forward” นิทรรศการเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก “ความจริงที่คนไทยไม่รู้” (The Truth that Thai People don’t know) และนิทรรศการภาพเล่าเรื่องสะท้อนความเจ็บปวดของเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดทางเพศ “Story of Rose” รังสรรค์โดยศิลปินชาวเมียนมา Ms.Hla Hla Win รวมถึงการขับร้องประสานเสียงสุดไพเราะจากคณะเด็กและเยาวชน ฯลฯ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเคหะแห่งชาติถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงการเคหะแห่งชาติ ร่วมถวายพระพร

'ในหลวง-พระราชินี' พระราชทานแจกันดอกไม้แก่ 'เศรษฐา' เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 62 ปี

ในหลวงพระราชทานแจกันดอกไม้แก่ 'เศรษฐา' เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 15 ก.พ.ขณะนายกฯ อารมณ์ดี เข้าทำเนียบสื่ออวยพรแฮปปี้เบิร์ธเดย์

สมศ. ร่วมบันทึกเทปถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี

ดร.นันทา หงวนตัด (กลาง) รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สมศ.

กษัตริย์และราชินีแห่งสวีเดนติดเชื้อโควิด-19

สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนทรงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ทั้งสองพระองค์ฉีดวัคซีนครบ 3 โดสแล้ว และมีพระอาการเพียงเล็กน้อย