กรมวิทย์ฯรุกตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก นนท์-ปทุม ตั้งเป้า 15.7 ล้านคนทั่วประเทศ

 มะเร็ง เป็นภัยใกล้ตัวที่ต้องระวังมากที่สุด ตามสถิติโดยกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานในปีพ.ศ. 2566 พบสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ปีละประมาณ 140,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80,000 คนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.มะเร็งตับและท่อน้ำดี 2.มะเร็งปอด 3.มะเร็งเต้านม 4.มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 5.มะเร็งปากมดลูก

สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยในระบบสืบพันธุ์สตรี 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่มีอัตราการเสียชีวิตมากเป็นอัน 1 ในกลุ่มที่มีอายุช่วง 40 ปีขึ้นไป โดยในแต่ละประเทศไทยจะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละกว่า 9,900 ราย และเสียชีวิตกว่า 5,200 ราย เฉลี่ยมีการเสียชีวิตเพิ่มจาก 7 รายต่อวัน เป็น 14 รายต่อวัน หรือ 2 ชั่วโมงต่อ 1 คน

สาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV(Human Papilloma virus) สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเชื้อไวรัสเอชพีวี มีอยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยมีประมาณ 14 สายพันธุ์เสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดโรค ประกอบด้วย HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 56, 68 ในผู้หญิงบางคนอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่นๆได้

ดังนั้นทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดแนวทางเชิงรุก ภายใต้โครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองหรือที่เรียกว่าวิธี HPV DNA Self-sampling ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ และจ.ชัยนาท เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้คือหญิงไทยอายุ 30-60 ปี ต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test จำนวน 15.7 ล้านคน ภายใน 5 ปี(2564-2567) ปัจจุบันดำเนินการตรวจคัดกรองไปแล้วกว่า 2.3 ล้านคน ยังเหลืออีก 13.4 บ้านคนที่ต้องเร่งรณรงค์ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อเก็บข้อมูลจำนวน ตัวอย่าง HPV ให้ได้มากที่สุด ที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ก้าวสู่การแพทย์แม่นยำ

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยายาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่จ.นนทบุรีและปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ในเขตปริมณฑล ซึ่งพบว่ายังมีกลุ่มผู้หญิงเป้าหมายที่ได้เข้าตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตามระยะเวลาของโครงการเพียง 100,000 ราย โดยยังเหลืออยู่ราวๆ 600,000 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นจ.นนทบุรี 310,000 ราย และจ.ปทุมธานี 290,000 ราย สาเหตุที่ตรวจคัดกรองได้ในจำนวนน้อยอยู่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน ที่อาจจะไม่มีเวลา ดังนั้นจึงต้องดำเนินการเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพราะหากดูเป้าหมายที่ต้องการในระดับประเทศจะพบยังมีผู้หญิงไทยไม่ได้เข้ารับการคัดกรองจำนวนกว่า 13 ล้านคน โดยในปีนี้จนถึงปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองได้ประมาณ 645,000 คน ยังคงพบสายพันธุ์ 16,52 และ 53  แต่สายพันธุ์ที่ 18 ไม่พบเลย จึงเป็นเหตุที่กรมวิทย์ฯ จะต้องเร่งตรวจคัดกรองให้ได้มากที่สุด เพื่อเก็บข้อมูลในด้านของสายพันธุ์ HPV ในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบาดวิทยา เพื่อวางแผนในระบบสาธารณสุข อาทิ วัคซีน ยา การตรวจคัดกรองได้อย่างครอบคลุม

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในเชิงสถิติผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ได้คาดการณ์ไว้ในปีพ.ศ. 2568 จำนวนผู้ป่วยรายใหม่จะสูงขึ้นปีละกว่า 13,000 คน เสียชีวิตกว่า 7,800 คน หรือวันละ 21 คน และคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ 1-2 คนละประมาณ 3 แสนบาท ระยะ 3-4 คนละ 7 แสนบาท หรือราวๆคนละ 1 ล้านบาท ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากข้อมูลผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ข่วงเดือนตุลาคม 2566 – 29 มีนาคม 2567 พบว่าจากตัวอย่าง 15,138 ราย ตรวจพบการติดเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูง จำนวน 1,543 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.19 การติดเชื้อเดี่ยว 5 อันดับแรกเป็นสายพันธุ์ 52, 68, 16, 66 และ 58

 “ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง สามารถช่วยคัดกรองเพื่อหยุดผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาในอนาคตได้ถึง 462.9 - 1,080 ล้านบาท ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 1-2 จะเสียค่าใช้จ่ายอยู่ที่รายละ 300,000 บาท หากป่วยระยะที่ 3-4 จะเสียค่าใช้จ่ายรายละ 700,000 บาท และการตรวจพบความชุกของการติดเชื้อสายพันธุ์เดี่ยว 5 อันดับแรก คือ สายพันธุ์ 52, 68, 16, 66 และ 58 และ เมื่อนำผลที่ได้ไปรวมกับผลของ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้รวบรวมปีพ.ศ. 2563-2565 พบสายพันธุ์ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ได้แก่ สายพันธุ์ 35, 39, 51, 56, 59, 66 และ 68 ส่วนวัคซีนป้องกันที่มีจำหน่ายยังไม่จำเพาะกับสายพันธุ์ที่พบในหญิงไทย ได้แก่ 2 สายพันธุ์ (16,18), 4 สายพันธุ์ (16,18 และ 6,11), 9 สายพันธุ์ (16,18, 31, 33, 45, 52, 58 และ 6,11)” นพ.บัลลังก์ กล่าว

 นพ.บัลลังก์ กล่าวเสริมอีกว่า หากโครงการนี้ดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิงได้ตามเป้า จะทำให้เกิดข้อมูล Big Data ทำให้ทราบสายพันธุ์ของไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งในหญิงไทย เป็นประโยชน์ในการวางแผนเชิงนโยบายเพื่อป้องกัน วินิจฉัย และรักษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้หญิงไทยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากมะเร็งปากมดลูก เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก จะแก้ปัญหาได้ทันที และกลับมามีชีวิตได้ปกติสุข เหมือนคนทั่วไป แต่หากไม่ได้รับการตรวจมะเร็งจะค่อยๆลุกลามอย่างไม่รู้ตัวกว่าจะรู้ตัวมีอาการก็ถึงขั้นกระจายไปทั่วแล้ว ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้ทั้งกับผู้ป่วยและครอบครัว

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การติดเชื้อไวรัส HPV เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ แม้เพียงครั้งเดียวก็ติดได้ สามารถติดเชื้อ HPV โดยไม่ต้องมีการร่วมประเวณีก็ได้ เช่น การใช้มือ หรือปากขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% โดยในต่างประเทศมีการศึกษาข้อมูลพบว่า ผู้หญิงทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็งตลอดช่วงชีวิต และ 50-80 % ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจะติดเชื้อในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา  กล่าวต่อว่า  เชื้อ HPV  มีการพบทั่วโลกกว่า 300 สายพันธุ์ ที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในคนและสัตว์ แต่สำหรับในคนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (low risk HPV) ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และรอยโรคขั้นต่ำ ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง มีจำนวน 12 สายพันธุ์ ได้แก่ 6, 11, 40, 42, 43, 44, 54, 61, 70, 72, 81 และสายพันธุ์ CP 6108  ส่วนกลุ่มสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง (high risk หรือ oncogenic HPV) ทำให้เกิดรอยโรคขั้นสูง และมะเร็งปากมดลูกมี 15 สายพันธุ์ ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 35,39, 45, 51, 52, 56,58, 59, 68, 73 และ 82  ดังนั้นเชื้อ HPV กลุ่มก่อมะเร็งเท่านั้นที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากถึง 70% ซึ่งวิธีการป้องกันและรักษาคือ การได้ตรวจคัดกรอง วัคซีน HPV และเมื่อตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรก เข้ารับการรักษาทันทีและสามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้หญิงไทยจะต้องไม่อาย ไม่กลัวเจ็บ และมีเวลา เพื่อรู้ก่อนและป้องกันได้ทัน

 “โดยไอเดียที่อาจจะนำมาสร้างความสนใจ ให้คนมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเยอะขึ้น อาจจะลดภาษีได้ การส่งเสริมโปรโมชั่นด้านสุขภาพและค่ารักษา ออกใบประกาศนียบัตรหรือการอบรมครูเพื่อสร้างองค์ความรู้ในโรงเรียน เป็นต้น” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา กล่าว

 สำหรับหญิงชาวไทยอายุ 30-60 ปี ที่ไม่เคยได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test เก็บตัวอย่างด้วยตนเอง แบบแยก 14 สายพันธุ์ ได้ฟรี รับชุดเก็บตัวอย่างได้ที่ แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง
-----------------------------

1. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต "ชุดทดสอบสารพาราควอดตกค้างในผักและผลไม้สด"

วันนี้ (26 สิงหาคม 2567) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบอิมมูโนโครมาโตกราฟี สำหรับตรวจหาสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์