TCELS ปักหมุด'เครื่องสำอางไทย'ไปไกลติดท็อป 10 โลกจัด' CIB2024'ดันสุดแรง

สมุนไพรไทย ได้รับการยอมรับมานานแล้วว่าเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ   มีความแตกต่างจากประเทศอื่น จึงเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ เพราะหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ  ส่วนใหญ่ล้วนใช้สารสกัดจากสมุนไพร เป็นสารตั้งต้นในการผลิต

ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ   ทีเซลส์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) ในฐานะองค์กรที่มีบทบาท สนับสนุนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  และเชื่อมโยงศูนย์กลางของนวัตกรรมและการลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ  ล่าสุดได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องสำอางจากสมุนไพร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ภายใต้ “โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประจำปี 2567” (Cosmeceutical and Herbal Innovation with Business Link: CIB2024)  

นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล

นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการ  ทีเซลส์ กลาวว่า โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องสำอางจากสมุนไพร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ภายใต้การกำกับดูแลของ TCELS ให้มีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด  สร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาด และความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาสินค้าและบริการ  ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐ หรือผู้ประกอบการไทยกับนานาชาติ และสร้างโอกาสในการขยายตลาดในระดับสากล รวมถึงเกิดการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างประเทศ

“ตลาดสุขภาพและความงามในประเทศไทยเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญ ทั้งด้านมูลค่าตลาดที่สูงและด้านการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โครงการ CIB2024 สามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ต่อยอดความสำเร็จของผลงานวิจัยและพัฒนาของคนไทย สนับสนุนการเติบโตของสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพร ที่สามารถปลูกได้ในประเทศ  เสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ใหญ่ของโลก โดยต่างชาติ จะต้องมาซื้อสารสกัดสมุนไพรจากเราที่ประเทศอื่นไม่มี และสิ่งที่เราอยากส่งเสริมก็คือ ส่วนที่เป็นนวัตกรรมที่มาจากสมุนไพรไทยเราเอง จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มาก”

ดร.พัชราภรณ์ วงษา

ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง TCELS ให้ข้อมูลว่า โครงการ CIB2024 ที่รับสมัครผู้ประกอบการสมุนไพรไทยเข้าโครงการ ก็เพื่อต้องการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย และกลุ่มธุรกิจสุขภาพและความงาม  ซึ่งเป็นธุรกิจกลุ่มไลฟ์สไตล์ และในทีนี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเครื่องสำอางอย่างเดียว แต่เราเน้นถึงพวกสกินแคร์  และการรักษาเช่น ยาแต้มสิว หรือผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม  ซึ่งชื่อโครงการCIB2024 มีความหมายว่าเป็น Cosmeceutical and Herbal Innovation with Business Link  จุดประสงค์ตั้งมาเพื่อปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการไทย ซึ่งมีความมุ่งมั่น ที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรของตนเองไปสู่ตลาดต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการผลิตได้ ต้องนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ  ทั้งๆที่เรามีสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบต้นทางจำนวนมาก แต่กลับต้องนำเข้า    ประเด็นนี้จึงกลายเป็นช่องว่างหรือจุดอ่อน ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทย ดังนั้น ทางทีเซลล์ จึงต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ยกระดับพัฒนาศักยภาพส่วนนี้  เพื่อเป็นการปิดจุดอ่อนอุตสาหกรรม  นอกจากนี้ หากไทยสามารถผลิตสารสกัดสมุนไพรได้ ก็จะได้ราคาสูงกว่าสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบหลายเท่า    

“โครงการนี้ทีเซลส์ไม่ได้คนเดียว แต่มีการร่วมมือเซ็นเอ็มโอยูกับประเทศฝรั่งเศส เพื่อพาผู้ประกอบการไทยไปโรดโชว์ในตลาดเครื่องสำอางระดับโลก แต่เมื่อทำไประยะหนึ่งก็เห็นว่า ซัพพลายเชน ยังไม่ครบ จึงร่วมมือกับสวทช.ที่มีองค์ความรู้นวัตกรรมมากมาย เพราะเราต้องไปด้วยนวัตกรรม หากไม่มีนวัตกรรมก็แข่งขันไม่ได้   และต่อมา ได้ร่วมมือกับวว. ในด้านภาคการเกษตร เพื่อให้กลุ่มซัพพลายเชนฐานราก ได้รับประโยชน์ไปด้วย  ส่วนผู้ประกอบการก็มองเรื่องปลายน้ำ ที่หมายถึงเรื่องของการตลาด แม้ทีเซลส์ จะทำระดับหนึ่งแต่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จึงหันไปร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ภาพของซัพพลายเชน ครบวงจรในเวลาต่อมา”
 จุดอ่อนที่ไทยไม่สามารถผลิตสารสกัดได้เอง นับเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ ดร.พัชราภรณ์ บอกว่า หากเราปิดจุดอ่อนเรื่องสารสกัดได้  ก็คาดหวังว่า ผู้ประกอบการเครื่องสำอาง เวชสำอางไทย จะไปไกล ถึงติดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดโลก ซึ่งตอนนี้ทีเซลส์มี 2 กลไกในการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางก็คือ การให้ทุนพัฒนาเพื่อต่อยอดยอดผลิตภัณฑ์  ให้มุ่งสู่มาตรฐานระดับสากล กลไกที่ 2 คือ การสนับสนุนด้านธุรกิจ ให้เติบโต ซึ่งงานCIB2024 จะเป็นการเฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีสุดยอดนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเวชสำอาง ก็จะได้รับการสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดโลกอย่างเต็มที่  

การผลักดันสมุนไพรไทยออกไปยืนในระดับโลก ดร.พัชราภรณ์   กล่าวว่า ทำให้ที่ผ่านมา ทีเซลส์ พยายามหาพันธมิตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะใน ลุ่มผู้ผลิตเครื่องสำอาง ทั้งในยุโรป เช่น  ฝรั่งเศส ที่ร่วมมือกันภายใต้ Global Cosmetics อันได้แก่แบรนด์ LVMH, Loreal  หรือ อังกฤษ สเปน  Canadian cosmetics กลุ่มลาตินอเมริกา  เนื่องจากแบรนด์ระดับโลกเหล่านี้ มักมีโจทย์ที่มองหาสารธรรมชาติ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสของเราที่จะสู่ตลาดโลก

พาร์ทเนอร์ที่เป็นแบรนด์ระดับโลก


“การจับมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับแบรนด์ระดับโลก ก็มีมาแล้ว อย่างหลุยส์วิตตอง เคยจับมือร่วมกับบริษัทSpike ผู้ประกอบการไทย  ที่พอไปออกงานแล้วหลุยส์ วิตตองเกิดความสนใจ ขอเป็นพาร์ทเนอร์  ถือว่าเป็นตัวอย่างของการประสบความสำเร็จ”

สำหรับ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ CIB2024 คุณสมบัติสำคัญคือ จะต้องมีนวัตกรรมที่เป็นเรื่องของสารสกัด หรือผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ผู้สมัครแต่ละรายจะถูกวิเคราะห์ตัวผลิตภัณฑ์ และการประเมินศักยภาพทางธุรกิจว่า มีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงดูดผู้สนใจและร่วมทุนต่อยอดทางธุรกิจได้หรือไม่  ซึ่งปีนี้จะเป็นการเน้นเฟ้นหาผู้ประกอบการที่ทำcosmetic ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้น จะเลือกผู้ประกอบการ  ที่มีศักยภาพสูงสุด 3 ราย ซึ่งทั้ง 3รายนี้จะมีการแข่งขันกันเองและมีเพียงมี1ราย ที่ได้รับเลือกไปร่วมงานCosmetic Valley  ที่ฝรั่งเศส  ส่วนอีก 2 รายที่เหลือจะไปงานไบโอเอเชีย -แปซิฟิกที่เป็นงานใหญ่ด้านนวัตกรรม ชีววิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน

งานไปร่วมงาน Cosmetic Valley  ที่ฝรั่งเศส  โดยพาสุดยอดผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดสรรจาก CIB2024  นั้นทีเซลส์ คาดหวังว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางสมุนไพรไทย  ดร.พัชราภรณ์ กลาาวว่า  งานCosmetic Valley  ที่ถือว่าเป็นงานนวัตกรรม วงการเครื่องสำอางที่ใหญ่มาก เป็นงานในระดับโลก ซึ่งทีเซลส์ ได้มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมมือกับCosmetic Valley  เมื่อปี 2016  และปีนี้เราตั้งในที่จะไปเปิดพาวิลเลียน และชวนบิ๊กเนมผู้ผลิตเครื่องสำอางในประเทศไทย และเราทาบทามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สกสว. วช. เป็นต้นให้ร่วมงานด้วย เรียนเชิญท่านรมต.อว. เพราะเราคาดหวังว่าปีนี้จะเกิดการเจรจาในระดับนโยบาย เรื่องอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย

 ในโครงการ CIB2024  ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างอัดแน่น  โดยมีทั้งการสัมมนาการเตรียมข้อมูลผลิตภัณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังประเทศยุโรป โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐาน COSMOS (Cosmetic Organic and Natural Standard) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ” เพื่อวิเคราะห์ช่องว่างทางธุรกิจ เทคนิคการปิดช่องว่าง และเพิ่มผลผลิตของธุรกิจ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เจรจาธุรกิจอย่างไรให้ได้งาน” เพื่อเสริมสร้างทักษะการเจรจาธุรกิจ เรียนรู้กระบวนการเจรจาต่อรอง และวิธีนำเสนอสินค้าและบริการ

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมพบที่ปรึกษา (เเบบ One on One) เพื่อทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและวินิจฉัยปัญหาทางธุรกิจ การเงิน การวางกลยุทธ์ การตลาด การบริหารองค์กร และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกิจกรรม Pitching เพื่อนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจทั่วไป

ในรายละเอียดการสมัครเพิ่มเติม ผู้สมัคร ต้องเป็นผู้ประกอบการไทย SMEs ตามนิยามของ สสว. ในกลุ่ม เวชสำอาง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ที่มีส่วนประกอบหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ หรือมีส่วนประกอบสำคัญของสารสกัดจากพืชหรือสมุนไพรที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นและผ่านการรับรองมาตรฐาน โดยเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี และมีการส่งงบการเงินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และขอสงวนสิทธิสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการ CIB เท่านั้น

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม “โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประจำปี 2567” สามารถลงทะเบียนได้ตั้งเเต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0 2644 5499 ต่อ 217 E-mail: [email protected]

เพิ่มเพื่อน