เตรียมใจยังร้อนกันอีกยาว 'เอลนีโญ'ส่อหวนกลับมาเร็ว

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศการติดตามและการคาดหมายปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยมี 4 ปรากฏการณ์ ประกอบด้วย ปรากฏการณ์เอนโซ El Nino Southern Oscillation (ENSO) ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) และลมมรสุม (Monsoon) นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ไขความสำคัญของ 4 ปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นสัญญาณภาวะโลกเดือดที่เราทุกคนกำลังเผชิญ พร้อมเตือนหากไทยผ่านวิกฤตความร้อนแบบเดือดๆ ที่มีอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสในแต่ละวันช่วงฤดูร้อนนี้ไปได้ แต่กลางปี 2567 ต่อเนื่องถึงปลายปี ประเทศไทยก็ยังอยู่ยาก เพราะเตรียมเผชิญกับผลกระทบจากสภาพอากาศผันผวนจาก 4 ปรากฎการณ์ดังกล่าว 

สมควร ต้นจาน ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กล่าวว่า ทั้ง 4 ปรากฎการณ์นี้มีลำดับความสำคัญแตกต่างกัน อย่างปรากฏการณ์เอนโซ El Nino Southern Oscillation (ENSO) เป็นปรากฎการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญ ต้องจับตาที่การเปลี่ยนแปลงเอลนีโญ กับลานีญา ขณะนี้สภาวะเอลนีโยกำลังอ่อนลงแล้วและเข้าสู่สภาวะความเป็นกลางในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ จากนั้นมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะลานีญา แสดงถึงความแปรปรวนในปีเดียวกัน ต้นปีเป็นเอลนีโญ กลางปีเป็นกลาง ปลายปีเป็นลานีญา ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทย

“ ปรากฎการณ์ ENSO มีความแปรปรวนชัดเจนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าสถิตที่ผ่านมา ปกติการเปลี่ยนแปลงจะเกิดทุกช่วงเวลา 2 ปีครึ่ง หรือ 3 ปี จะสลับปรากฎการณ์นี้กันอยู่ อดีตสภาวะเอลนีโญมีผลกระทบตั้งแต่ 5 ปี ช่วงหลังผิดปกติ เป็นความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปี 67 ในประเทศไทยเห็นได้ชัดเจนมาก เพราะปี 54 เป็นต้นมาเป็นลานีญา ปี 60 ก็ยังเป็นลานีญา ครั้งที่สลับกันจะกินเวลา 2 ปีครึ่ง แต่ปีนี้ปีเดียวผันผวนเร็วเกินไป “ นักอุตุนิยมวิทยาตั้งข้อสังเกต 

ส่วนปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) สมควร กล่าวว่า ปรากฏการณ์ IOD หรือดัชนีวัดค่าความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล เนื่องมาจากการอุ่นขึ้นหรือเย็นตัวอย่างผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนใต้ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียบริเวณเขตศูนย์สูตร (EAST) กับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียเขตศูนย์สูตร (WEST) ซึ่งไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอยู่ทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ต้องติดตามผลกระทบอุณหภูมิฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะช่วงมรสุมตะวันตกฉียงใต้ที่มักก่อตัวขึ้นกลางเดือนพฤษภาคม จากแบบจำลองคาดการณ์ว่า IOD มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นสถานะบวก ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิสูงขึ้น ร้อน แห้ง จะพัดเอาเฉพาะความแห้งแล้ง อากาศที่ไม่มีความชื้นเข้ามา จะกระทบปริมาณฝนภาคกลาง และภาคเหนือของบ้านเราได้ 

” ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2567 IOD มีสถานะเป็นบวก ซึ่งเป็นที่กังวลฝนช่วงต้นปีของไทยจะมีปริมาณไม่มากและกระจายไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยลดลง และในช่วงเดือนกันยายน-สิงหาคม 2567 คาดว่าจะมีสถานะเป็นลบ “สมควรระบุ              

ถัดมาปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) ผอ.กองเฝ้าระวังฯ อธิบายว่า MJO เป็นปรากฏการณ์เกิดควบคู่กันระหว่างการไหลเวียนของบรรยากาศกับการยกตัวขนาดใหญ่ของอากาศในเขตร้อน มีการเคลื่อนตัวจากตะวันตกไปทางตะวันออก เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของลานีญา เอลนีโญ และ IOD จะมีอิทธิพลหรือส่งผลกระทบกับการเกิดฝนที่ผิดปกติในขณะที่ MJO เคลื่อนผ่าน ปรากฏการณ์ MJO ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน หลังจากนี้ยังคงต้องเฝ้าติดตามปรากฏการณ์ MJO อย่างใกล้ชิดต่อไป​ 

“ ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนเมษายน ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 45% ปกติไทยน่าจะมีฝนปลายเดือนมกราคม ช่วงรอยต่อฤดูหนาวก่อนเปลี่ยนแปลงสู่ฤดูร้อน ฝนไม่น่าทิ้งช่วงนาน อย่างเดือนเมษายน 2567 ปรากฎว่า มีฝนช่วงเดียว วันที่ 9-10 เมษายน และฝนตกเล็กน้อย แล้วหายไปเลย ถือว่าเป็นปีที่มีฝนน้อย ในช่วงฤดูร้อน ทำให้สภาพอากาศร้อนจัด ต่อเนื่องกัน เพราะฤดูหนาวของเราสั้นลง ฤดูร้อนไทยยาวนานขึ้น ความร้อนสะสมได้เยอะ อีกทั้งเป็นช่วงรอยต่อเอลนีโญกำลังแรงด้วย ผนวกกันหลายอย่างเลยร้อนจัด “ สมควร​กล่าว

ส่วนไทยจะผ่านพ้นอุณหภูมิร้อนเดือดเมื่อไหร่ ผอ.กองเฝ้าระวังฯ คาดการณ์ว่า อุณหภูมิความร้อนจะลดงงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 - สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคมนี้ อาจมีฝนสลับ เนื่องจากลมระดับบนและระดับล่างมีการเปลี่ยนแปลงไปมา บางวันฝน บางวันร้อน แต่ช่วงที่ร้อนพีคที่สุดผ่านไปแล้ว คือ วันที่ 22 เมษายน อุณหภูมิวัดได้ 44.2 องศาเซลเซียส ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง แต่ยังไม่ทำลายสถิติร้อนสูงสุดของไทยวัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส ที่แม่ฮ่องสอน วันที่ 28 เมษายน 2559 ถ้าร้อนต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ปลายเดือนเมษายนต่อเนื่องสัปดาห์นี้ แล้วจะค่อยๆ ลดระดับความร้อนแรงลงไป 

ปรากฎการณ์สุดท้ายที่ต้องจับตา นักอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ลมมรสุม (Monsoon) เป็นลมที่พัดตามฤดูกาล ประเทศไทยอยู่ภายใต้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเข้าสู่ฤดูฝนของไทยขยับออกไป 2 สัปดาห์ บางปีขยับไปต้นเดือนมิถุนายน ปีที่แล้วเดือนกรกฎาคม ปีนี้คาดการณ์ว่าฤดูฝนจะเลื่อนไปปลายสัปดาห์ที่ 3 หรือต้นสัปดาห์ที่ 4 ถึงจะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดจากฝั่งอันดามันเข้ามาบ้านเราบ้าง ขณะนี้เป็นลมตะวันตก ซึ่งเป็นลมแห้งพัดเอาฝุ่น ควันเข้ามา ความชื้นน้อย ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ของไทยจึงเจอสภาพอากาศร้อนแบบร้อนแรง เมื่อลมเปลี่ยนทิศอาจจะมีฝนเข้ามา จะมีการกระจายของฝนดีขึ้น 60-70% ของประเทศไทย ต่อเนื่อง 3-4 วัน จึงจะเข้าเงื่อนไขออกประกาศฤดูฝน แต่ยังห่วงต้นฝน ฝนน้อย เกษตรกรนาปีขอให้รอฝนตกชุกต่อเนื่องก่อนในช่วง มิ.ย.- ก.ค. ยังพอมีเวลาเพาะปลูก เตรียมการไว้ก่อนรอให้ชุ่มฉ่ำกว่านี้ 

 ” ตอนนี้ฤดูกาลขยับ ฤดูหนาวปีนี้จะอุ่น ไม่หนาว แต่ถ้าลานีญาอาจกลับมาเย็นขึ้น ต้องติดตามสภาวะลานีญาให้ชัดเจนกว่านี้ ถึงจะคาดการณ์ได้แม่นยำ แต่ถ้าเอลนีโญจบเร็ว จะไม่ส่งผลแล้งต่อเนื่องยาวนาน 2-3 ปีติดต่อกัน จะลำบากมากกว่านี้ “ 

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยดัชนีฝนของประเทศไทย ปีนี้น้อยทุกภูมิภาค น้อยกว่าค่าปกติ ถ้าในช่วง มิ.ย. - ก.ค. นี้ ปริมาณฝนน้อย น่าเป็นห่วง สถานการณ์ขาดแคลนน้ำ เพราะน้ำต้นทุนมีน้อย คาดหวังให้มีพายุ ซ่งจะมีฝนตกหนัก ตกแรง หรือหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเข้ามาปกคลุมบ้านเราต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน จะทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่ามรสุม ปีนี้ร้อนแรง ปี 

“ แต่ที่น่าห่วง ช่วงหน้าฝนจะพีคเป็นจุดๆ อาจจะเกิดปรากฎการณ์พายุกระหน่ำขึ้นได้ อย่างเช่นฝนถล่มดูไบ เมืองทะเลทราย น้ำท่วมเมือง ซาอุดิอาระเบียน้ำท่วมหนักจากพายุฝน ทอร์นาโดที่จีนและอเมริกา หลายประเทศเผชิญสภาพอากาศสุดขั้ว ส่วนจำนวนพายุที่จะเข้าไทย คาดการณ์โดยเฉลี่ยจากภาวะลานีญา จะมี 2-3 ลูก แต่ความรุนแรงปกติจะเป็นดีเปรสชั่น แต่ปีที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแบบนี้อาจเกิดไต้ฝุ่น หรือพายุโซนร้อน แล้วไม่ลดกำลังลงมาถึงบ้านเรา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรอบๆ ปีนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่จะถึงนี้ “ สมควรฉายภาพความรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้ว              

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญสู่ลานีญา ผอ.กองเฝ้าระวังฯ เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรวดเร็วของประเทศไทย การเตรียมการมีความสำคัญ บางครั้งร้อนจัด บางครั้งฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วม หรือฝนมารุนแรงเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน อาจเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพะในช่วงวันที่ 3-15 พ.ค. อาจจะมีฝนฟ้าคะนองจากอากาศร้อนปะทะอากาศเย็น อากาศยกตัวรุนแรง สิ่งปลุกสร้าง ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงต้องตรวจสอบ ปรับปรุง เตรียมรับมือ เพราะฝนมาเร็วและรุนแรงในช่วงเย็น เตือนประชาชนภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ทนร้อนไปก่อน สัปดาห์หน้าฝนมา          

” จากสภาพอากาศแปรปรวน อากาศที่ร้อนจัด ฝนรุนแรงในต่างประเทศ เตือนทั่วโลกเผชิญภาวะโลกเดือด ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อน ก๊าซคาร์บอน ต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้องเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะอากาศเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด ถ้าไม่เริ่มลงมือวันนี้จะหนักกว่าเดิม แทนที่อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะพุ่งเป็น 3-4 องศาเซลเซียส เป็นความร้อนที่จะอยู่กันได้ยาก เราจะเผชิญความร้อนที่สูงขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า จะมีพลังงานรองรับการใช้ระบบเครื่องปรับอากาศเพิ่มข้นอย่างไร ต้องทำแผนรับมือและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ นักอุตุนิยมวิทยาผู้เกาะติดสภาพอากาศไทยและทั่วโลกฝากในท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 3 เตือนฝนถล่มภาคใต้ คลื่นลมอ่าวไทย-อันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 3 (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567)

ลมหนาวมาต่อเนื่อง กรมอุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน อุณหภูมิลดฮวบ 2-4 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 18 - 22 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

กรมอุตุฯ ออกประกาศ ฉ.1 พายุไต้ฝุ่น ‘หม่านหยี่’ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน

พายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว