ปลูกฝังนิสัยเด็กใช้เงินให้เป็น ผ่านโครงการJA SparktheDream

แม้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประเทศพัฒนา และมีความพยายามของภาครัฐที่จะก้าวพ้นการเป็น”ประเทศกับดักรายได้ปานกลาง” แต่ต้องยอมรับว่ายังมีคนจำนวนมากที่มีปัญหาหนี้สิน ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมากถึง135,616 ราย มูลหนี้ 9,186 ล้านบาท   และยังมีอีกหลายกลุ่มอาชีพ แม้แต่ข้าราชการที่มีปัญหาหนี้สิน เช่น ปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูจำนวนมาก ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายสิบปี  

ปัญหาการก่อหนี้ และมีภาระหนี้สินรุงรังสะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องการเงิน และการออมเงิน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โครงการ JA SparktheDream จัดขึ้นโดย บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ FWD ประกันชีวิต และมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเม้นท์ ประเทศไทย หรือ JA Thailand ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 จึงเกิดขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่อความรู้ทางการเงิน สังคม และทักษะการใช้ชีวิตในระดับพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้สามารถตัดสินใจทางการเงินอย่างรอบคอบ และปูรากฐานทางการเงินให้กับเยาวชนตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก โดยตั้งเป้าหมาย ที่จะให้ความรู้นี้ เข้าถึงนักเรียนในระดับขั้นประถมศึกษา จำนวน 3,000 คน และเพิ่มมากขึ้นอีกหลายพันคนภายในปี 2567

สำหรับบทเรียนทางการเงิน ประกอบด้วย 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1) การหารายได้ การเก็บออม และการใช้จ่าย 2) การวางแผนทางการเงิน บันทึกรายรับ รายจ่าย และ 3) แรงบันดาลใจและความมั่นคงทางการเงิน ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบของเกมจำลองสถานการณ์ แบบทดสอบ และกิจกรรมประเภทต่างๆ ใช้เนื้อหาที่เข้าใจง่ายและออกแบบให้สามารถปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งนักเรียนจะได้พัฒนาทักษะความรู้ทางการเงินผ่านบทเรียนการจัดการทางการเงิน และจากประสบการณ์ที่หลากหลายจากอาสาสมัครเอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต ที่จะเป็นครูพี่เลี้ยงและร่วมทำกิจกรรม โดยมีทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ทำแผนการสอนและประสานงานกับทางโรงเรียนและผู้สอน

ครูนงนภัส ชมภูนิช โรงเรียนไผทวิทยา จังหวัดนครปฐม หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า  ในทุกระดับชั้นจะมีการเรียนเรื่องการออมอยู่แล้ว แต่ด้วยเนื้อหาที่ครูสอน จะเป็นการสอนเรื่องของความหมายทั่วไปว่าการออมคืออะไร วิธีการออมมีอะไรบ้าง เป็นเนื้อหาในเชิงวิชาการ พอโครงการฯ ได้เข้ามาให้ความรู้และมีส่วนร่วมกับเด็กๆ ทำให้เด็กมองเห็นภาพเกี่ยวกับความรู้ทางการเงินได้ชัดเจนมากขึ้น  จากการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม นอกจากนี้ หลังจากที่เด็กๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมของโครงการฯ เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ เด็กๆ รู้จักวางแผนในการใช้เงินมากยิ่งขึ้น รู้จักการออม ไม่นำไปใช้จ่ายจนหมด บางคนก็ตั้งใจออมเพื่อเก็บเงินไปซื้อของในสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องขอเงินจากพ่อแม่ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เด็กรู้จักนำไปประยุกต์ใช้และคิดได้ด้วยตนเอง

ตัวอย่างของเยาวชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ JA SparktheDream เวิร์คช็อปให้ความรู้ทางการเงินสำหรับเยาวชนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรู้สึกพึงพอใจนั้นก็คือ น้องไออุ่น – ด.ญ. ณัฐณิชา อภิรักษ์จิต นักเรียนชั้นป.5 โรงเรียนไผทวิทยา จังหวัดนครปฐม  บอกว่า  รู้สึกสนุกมากๆ  ที่ได้ทำกิจกรรมและได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการออม การจัดการเงินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน พี่ๆ อาสาสมัครสอนสนุกและเป็นกันเอง เนื้อหาก็เข้าใจง่าย แถมมีเกมให้พวกเราเล่นสนุกอีกด้วย

ทีมจากโรงเรียนวัดอุทัยธาราม

“ทุกวันนี้หนูก็เอาไปปรับใช้เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ให้เงินค่าขนม หนูก็จะเก็บออมไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเอาไว้ใช้ในยามที่จำเป็นหรือซื้อของที่ตัวเองอยากได้โดยที่ไม่ต้องไปรบกวนคุณพ่อคุณแม่ค่ะ”  น้องไออุ่น เล่า

ไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น โครงการ JA SparktheDream  ยังขยายโครงการไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยจัดให้มีการแข่งขัน JA SparktheDream Social Challenge 2023 ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียน 6 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ในการให้ข้อคิดทางการเงิน ใช้ทักษะและเครื่องมือทางการเงินที่จำเป็นในการดูแลอนาคตทางการเงินของตนเอง ในรูปแบบวิดีโอความยาว 2 นาที โดยมีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 60 ทีม โดยทีมนักเรียนโรงเรียนวัดอุทัยธาราม จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครองได้สำเร็จ

น้องจ๊ะจ๋า – ด.ญ.อคัมย์สิริ โพชนา ตัวแทนทีมผู้เข้าแข่งขัน ชั้น ป.6 จากโรงเรียนวัดอุทัยธาราม เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมแข่งขันว่า ทีมเรามีทั้งหมด 4 คน ได้ไอเดียการทำคลิปวิดีโอมาจากการดูคลิปละครคุณธรรมในโซเชียล ก็เลยคิดอยากลองทำคลิปส่งเข้าประกวด โดยเนื้อหาเป็นการสอนให้ใช้จ่ายเงินให้เป็น รู้จักคิดก่อนที่จะใช้จ่ายทุกครั้ง โดยเดินเรื่องว่า มีเด็กชายคนหนึ่งกำลังนั่งเหงาอยู่คนเดียว ดูท่าทางหิวข้าว พอดีมีกลุ่มเพื่อนเดินผ่านมาเห็น ก็เลยเข้าไปสอบถาม จึงได้รู้ว่าเด็กคนนี้เอาเงินไปซื้อกระเป๋าใหม่จนหมด ไม่เหลือเงินเก็บไว้ซื้อข้าวกิน เลยพาเพื่อนคนนี้ไปเลี้ยงขนม เด็กชายคนนี้จึงกล่าวขอบคุณและคิดได้ว่าจะต้องคิดก่อนใช้เงินทุกครั้ง ซึ่งพวกเราก็นำมาจากความรู้ที่ได้จากโครงการ JA SparktheDream มาประยุกต์และคิดทำเป็นบทละคร

ด้าน น้องอาร์ต – ด.ช.ธัญเตชิษฐ์ ตรีทะวัช หนึ่งในทีมโรงเรียนอุทัยธาราม เล่าเสริมถึงการเข้าร่วมโครงการอบรมฯและการแข่งขันว่า รู้สึกสนุกและชอบมากๆ กับเกมที่พวกพี่ๆ มาสอน โดยเฉพาะเกมบิงโก ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาที่สอนมากขึ้น และอยากให้มีโครงการฯ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้พวกพี่ๆ สอนในลักษณะการจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้จดจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ขอขอบคุณพี่ๆ และคุณครูทุกคนที่มีส่วนช่วยให้พวกเราต่อยอดสร้างผลงานส่งเข้าประกวด และรู้สึกดีใจที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครองได้สำเร็จ สามารถทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน

ปวริศา ชุมวิกรานต์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ FWD ประกันชีวิต หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการกล่าวว่า  เราเชื่อว่าการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีความรู้ทางการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องที่ดีและสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการปลูกฝังให้พวกเขามีพฤติกรรมและวินัยการเงินที่ดีแล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานด้านการเงินในอนาคต ซึ่งเราเห็นความสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เยาวชนไทย และมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ Celebrate living ได้โดยไม่ต้องกังวล

หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล กรรมการอำนวยการ มูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเม้นท์ ประเทศไทย หรือ JA Thailand กล่าวว่า หากเราสามารถถ่ายทอดทักษะความรู้ ปลูกฝังวินัยทางการเงิน และส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าและความสำคัญของเงิน สร้างความรู้และความเข้าใจให้เด็กได้รู้จักคิด วิเคราะห์ วางแผน และลงมือทำตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยทำให้เด็กมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างมีวินัย รู้จักเก็บออมเงิน และสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม นับเป็นการวางรากฐานที่ดีในการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต

โครงการ JA SparktheDream ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องสู่ปีที่ 2 ในการส่งมอบความรู้และทักษะทางการเงินขั้นพื้นฐาน รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อเพิ่มเติมทักษะความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่เยาวชนรู้จักการวางแผนและบริหารเงินของตัวเองให้เป็น

โดยรูปแบบของโครงการฯ ในปีที่ 2 มีความน่าสนใจและแตกต่างออกไป คือ เน้นการสอนและฝึกอบรมพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรมืออาชีพไปยังกลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชน หรือที่เรียกว่า train the trainer ในรูปแบบการสอนผ่านวิดีโอ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะความรู้ รวมถึงสื่อที่ใช้ในการสอน และวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจและเหมาะสม เพราะนอกจากผู้สอนจะต้องมีความรู้เรื่องการเงินเป็นอย่างดีแล้ว ทักษะในการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ก็จะต้องรู้จักนำมาปรับใช้ให้ได้ดีด้วยเช่นกัน เพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือพันธมิตรยกระดับความรู้ทางการเงินแก่คนไทยทุกช่วงวัย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดินหน้าส่งเสริมความรู้การวางแผนการเงิน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7