'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (2)

มาจาริกแสวงบุญตามเส้นทางพุทธภูมิพาเดินทางข้ามด่านชายแดนเนปาล เพื่อไปบ้านเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองลุมพินี เรามีเวลาอยู่ที่อุทยานลุมพินีวันสถาน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าหลายชั่วโมง เข้าชมมายาเทวีวิหาร อนุสรณ์แห่งพุทธมารดา รับฟังเรื่องราวพระนางศิริมหามายา  ประสูติพระกุมารเจ้าชายสิทธิทัตถะใต้ต้นสาละในวันเพ็ญวิสาขปุรณมี   ณ ลุมพินีวัน สถานที่เรามาตามรอยนี้เป็นที่รองรับศาสดาเอกของโลก

ภายในมายาเทวีวิหาร เราได้ชมภาพขณะพระนางสิริมหามายาให้ประสูติกาลเจ้าชายองค์น้อย ที่แห่งนี้ยังมีเสาหินพระเจ้าอโศก ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชรับสั่งให้สลักเสา พร้อมกับประกาศว่า ณ ที่ตรงนี้ประสูติพระราชกุมาร การได้บูชาสถานที่ประสูติเราชาวพุทธนับเป็นมงคลยิ่ง

มาถึงลุมพินีวันแล้ว แนะนำให้ไปสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งอัญเชิญเมล็ดพระศรีมหาโพธิ์แห่งพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาปลูกไว้ ณ ที่แห่งนี้  เพื่อให้ผู้คนที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปพุทธคยาได้สักการะ จนกลายเป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชายาวนานนับพันปี  อีกจุดสำคัญสระโบกขรณี เป็นสระที่พระนางสิริมหามายาเทวีสรงสนานก่อนมีพระประสูติกาล และหลังประสูติได้อุ้มพระราชกุมารน้อยลงไปสรงด้วย

เชื่อกันว่า เบื้องล่างมีตาน้ำอุ่นและตาน้ำเย็น สระแห่งนี้มีอุณหภูมิปกติไม่ว่าอากาศจะร้อนจะหนาวสักเท่าไหร่  ชาวเนปาลนิยมนำน้ำไปใช้ในงานมงคลหรือเมื่อมาถึงจะวักน้ำจากสระนี้ล้างหน้าเปรียบดั่งน้ำพระพุทธมนต์  เหล่าผู้จาริกทั้งพระและฆราวาสโครงการประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล นำโดยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา สวดมนต์และนั่งสมาธิท่ามกลางความเงียบสงบของสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์

ก่อนกลับเราแวะสถูปเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมหน้ามายาเทวีวิหาร ซึ่งมีดอกไม้หลากสีวางเคารพบูชาด้วยมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่ใด  พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาสักการะบูชาที่นี่ ปี พ.ศ. 338 นอกจากสร้างเสาอโศก สร้างวิหาร ได้สร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ณ จุดนี้ ภายในสวนลุมพินีวัน เมื่อชาวเนปาลขุดสถูปพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ก็นำบรรจุกลับคืนที่เดิม  ทำให้สวนลุมพินีวัน ประกอบด้วยสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นบุญยิ่งนักได้กราบไว้บูชา  และไม่ลืมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก แผนการเดินทางบ่ายวันนั้นเรามุ่งสู่แคว้นโกลิยะ ในเขตประเทศเนปาล เพื่อชมสถูปรามคามที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพุทธเจ้า ซึ่งราชาแห่งเทวทหะรับมอบจากนครกุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน  เป็นพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 8 นครนั่นเอง

จากนั้นออกเดินทางข้ามชายแดนเนปาล-อินเดีย สู่ด่านโสเนาลี ต่อไปยังเมืองโฆรัคปูร์ และเดินทางต่อไปยังเมืองเล็กๆ ในชนบท ชื่อ “กุสินารา” สังเวชนียสถานอีกแห่ง ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่พระองค์ทรงทอดพระสรีระและเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นที่กล่าวกันว่า กุสินารานคร คือ สถานที่แห่งการดับทุกข์ ดับโศก ดับโรคภัย เป็นเมืองที่พระศาสดาตรัสสอนสังเวชฯ 4 สถาน และเมืองสิ้นสุดพุทธกิจพระบิดร 

เพราะการเดินทางดั้นด้นมายาวไกล ระหว่างการตามรอยได้ฟังหลักธรรมในพระไตรปิฎกที่ พระครูอินเดีย – พระวิเทศวัชราจารย์ เลขานุการหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล พระธรรมวิทยากร บรรยายผ่านบุคคล สถานที่จริงตามปรากฎในพุทธประวัติพระพุทธเจ้า ตลอดจนการปฏิบัติศาสนกิจตามที่ต่างๆ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ น้ำตาไม่อาจกลั้นไว้ได้ขณะสวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิ และก้มลงกราบพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดใหญ่เบื้องหน้าที่เป็นตัวแทนพระศาสดา นี่คือ คำตอบที่ตัวเองค้นหา เพราะไม่เคยคิดจะมีน้ำตามาก่อน ขณะที่หลายๆ คน น้ำตานองหน้าอาลัยศาสดา

การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินารา บริเวณสาลวโนทยาน ป่าสาละของเจ้ามัลละกษัตริย์พราหมณ์  เป็นสถานที่ปรินิพพาน เหตุผลสำคัญคือ ทรงทราบดีว่าเมื่อปรินิพพานไปแล้ว สรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะถูกแย่งชิง หากทรงปรินิพพานในเมืองใหญ่ นครเหล่านั้นอาจไม่แบ่งให้เมืองเล็กเช่นกุสินารานั่นเอง ซึ่งหลังเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วน กษัตริย์ 8 นคร มาขอรับไปดูแลรักษา

พระครูอินเดีย เล่าว่า เมื่อเวลาใกล้เข้าสู่พระนิพพาน พระองค์ทรงประทับใต้ต้นสาละคู่ นอนตะแคง ขณะนั้นยังทรงทำหน้าที่ศาสดาเอกของโลกด้วยการโปรดสุภัททะ สาวกองค์สุดท้าย น้ำพระทัยของพระศาสดา แม้จะหมดลม แต่มิวายทำหน้าที่ความเป็นครูอย่างหมดจดงดงาม เหล่าเทวดาเนรมิตรดอกสาละให้พรั่งพรูบูชาสรีระศาสดาอย่างงดงาม แต่พระองค์ตรัสการบูชาอย่างที่สุด คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม   ทั้งยังทรงสอนพระอานนท์ที่กำลังโศกเศร้าเสียใจด้วยว่า ความพลัดพรากจากของรักและสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมแตกสลายไปเป็นธรรมดา  

“ วาจาสุดท้ายยังแสดงความห่วงใยพุทธบริษัทให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ก่อนเสด็จดับขันด้วยจิตใจอันตั้งมั่น พร้อมมรดกพระธรรมที่พระองค์แสดงไว้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น 2,600 ปี จวบจนปัจจุบัน “ พระครูอินเดียบอก

ตราบใดที่เราอยู่กับธรรมะของพุทธเจ้า ตราบนั้นเราจะอยู่กับลมหายใจของพระองค์ เป็นสิ่งที่ตัวเองรู้สึกจากสถานที่แห่งนี้ ทำให้กุสินาราเป็นหมุดหมายสำคัญของสังเวชนียสถาน ชาวพุทธมีความปรารถนาสักครั้งหนึ่งในชีวิต อยากจะไปกราบพระพุทธเจ้าในดินแดนพุทธภูมิ  

ส่วนคณะพระสงฆ์ที่กรมการศาสนาได้พามาแดนพุทธภูมิ ได้เจริญปัญญา เจริญจิตภาวนา ได้เห็นด้วยตา ได้รับรู้ด้วยใจ สามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนมีแสงสว่างทางธรรมตามรอยพระพุทธเจ้าได้ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้น

จากนั้นคณะเราไปสักการะมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์ ปัจจุบันเป็นซากเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ ก่อนจะมีโอกาสเข้าวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ วัดไทยในต่างแดน และมีโอกาสไปสักการะพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา  พระมหาเจดีย์องค์นี้สำคัญที่ในหลวง ร.9 พระราชทานให้เพื่อนำไปสร้างในต่างแดน ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์กลับสู่พุทธภูมิ พร้อมทั้งเส้นพระเจ้าเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุในพระมหาเจดีย์

ที่วัดเราเดินขึ้นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นปีกาญจนาภิเษกครบ 50 ปี เป็นอุโบสถทรงไทยประเพณีสง่างามแบบศิลปะรัชกาลที่ 9 ออกแบบโดย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ กราบพระพุทธสยัมภูญาณ พระพุทธรูปสีทองปางสมาธิ ภายในพระอุโบสถสะดุดตากับจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมหาชนกจากชาดกและพระราชนิพนธ์ ร.9  รวมถึงภาพเทพอินเดียแสดงถึงการไม่กีดกั้นศาสนาที่คนท้องถิ่นเคารพนับถือ ภาพลายเส้นอ้อนช้อยงดงามลักษณะเหมือนจริง น้ำหนักอ่อนแก่ไล่สีแนบเนียนดูแล้วสบายตา งานจิตรกรรมมีส่วนผสมตะวันตก-ตะวันออก ผสานความเป็นอินเดียอย่างกลมกลืน  จิตรกรไทยจากกรมศิลปากรและคณะช่างใช้เวลาถึง 7 ปีรังสรรค์ ที่นี่เราได้หนังสือเล่มเล็กๆ เกี่ยวกับวัดไทยกุสินาราฯ และหนังสือภาพจิตรกรรมฝาผนังพระมหาชนกเป็นของฝากแด่ผู้จาริก

สำหรับผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญนั้น วัดไทยในอินเดียเป็นที่พักพิงทั้งกายและใจ มีอาหารให้กิน มีที่นอนให้พักผ่อน ถ้าสับสนวุ่นวายใจก็มีธรรมะกล่อมเกลา มีพระสงฆ์ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มภัย เราสามารถร่วมบุญวัดไทยในต่างแดนทุกแห่ง ขอทำตัวเป็นสะพานบุญ อย่างวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร พระอุโบสถ ช่อฟ้า รวยระกา หน้าบัน ลวดลายประกอบทรุดโทรมลงเชิญชวนร่วมบุญใหญ่ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและเสนาสนะวัดไทยพุทธคยา  

ส่วนวัดไทยนวราชรัตนาราม 960 ที่ตั้งอยู่ชายแดนอินเดีย-เนปาล คอยดูแลผู้จาริก มีคลินิกปฐมพยาบาล ห้องกินอาหาร ซุ้มชา กาแฟ โรตีแสนอร่อย พร้อมบริการห้องน้ำ ห้องสุขา ปลดทุกข์จากการเดินทางไกล มีแผนสร้างมหาวิหารพระอุโบสถเพื่อเป็นศาสนสถานที่สมบูรณ์ในต่างบ้านต่างเมือง หากช่วยกันรับรองว่าผู้แสวงบุญที่เดินทางไปจะสะดวกสบายและได้ประโยชน์

ทุกๆ ที่ที่ได้พบเจอ ได้เห็น ได้สัมผัส บนเส้นทางจาริกเป็นประสบการณ์มีค่าตั้งใจว่าจะเดินทางไปแดนพุทธภูมิอีกแน่นอน….

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่

เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1  โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ

วธ.จัดกิจกรรมถวายพระราชกุศล ร.9

28 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์การทางศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์และกลุ่มภาคีเครือข่ายจัด “กิจ

'ปลัดยุพา' เริ่มลุยงาน สปน. เร่งสรรหา 'เลขาฯ สคบ.' จบใน 1 เดือน

'ปลัดยุพา’ เข้าทำเนียบฯ วันแรก สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยันพร้อมลุยงาน สปน. แก้ปัญหาประชาชน คาด 1 เดือน สรรหา ‘เลขาฯ สคบ.’ คนใหม่ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

ศน.ชวนแจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน 9 พระอาราม

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชานุญาตให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคล และเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐิน เพื่อน้อมนำไ

'นวราตรี' พื้นที่ของทุกศาสนา

หนึ่งปีมีครั้งเดียวเทศกาล “นวราตรี” ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวีจากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา“ ปราบอสูรชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วได้สำเร็จ หลังสู้รบกันมา 9 วัน 9 คืน

รุ่นใหม่วัยเยาว์ 5 ศาสนา ท่อง'กะดีจีน'

ชุมชนกะดีจีนหรือชุมชนกุฎีจีนถือเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางความวัฒนธรรมและความเชื่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย่านนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับทุกวัยและทุกศาสนา ในพื้นที่มีชุมชนและศาสนสถานแต่ละศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อส่งต่อเรื่องราวพหุวัฒนธรรม เยาวชนรุ่นใหม่จาก 5 ศาสน