อนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน 2 รัชกาล วัดราชประดิษฐฯ

คัมภีร์ใบลานที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตร คัมภีร์โบราณนี้มีความสำคัญเทียบเท่ากับวัด ซึ่งเป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  เป็นคัมภีร์ใบลานที่เคยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมตั้งแต่สมัย ร.  4 ถือว่าเป็นคัมภีร์ใบลานฉบับหลวงประจำรัชกาล จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดราชประดิษฐ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “คัมภีร์ใบลาน  2 รัชกาล”  

ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากร (ศก.) โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินความร่วมมือกับวัดราชประดิษฐ์ เพื่อเผยแพร่การอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐฯ  เพื่อทำการสำรวจ ลงทะเบียน จัดเก็บเอกสารโบราณ และซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดให้เต็มใบ ซึ่งใช้ระยะเวลา 2 เดือนในการทำงานอนุรักษ์ ปัจจุบันโครงการแล้วเสร็จ ทาง ศก. ส่งมอบคัมภีร์ใบลานจำนวน 894 ผูก ให้แก่วัดราชประดิษฐฯ ดูแลอนุรักษ์ต่อไป 

คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่มีความสำคัญ ได้แก่ วรด.1-3 (วัดราชประดิษฐฯ เลขที่ 1-3)  เรื่อง อนาคตวังสะ  สมัยรัชกาลที่ 4 อายุประมาณ 170 ปี, วรด.14,17,28-32,83,98 (วัดราชประดิษฐฯ เลขที่ 14,17,28-32,83,98) เรื่อง วังสมาลินี, อรรถกถาสังยุตตนิกาย, ฎีกามหาวงศ์, โยชนาอภิธัมมัตถสังคหะและปุคคลบัญญัติ ฉบับหลวงสร้างซ่อม รัชกาลที่ 5 อายุ 139 ปี  

พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดี ศก. กล่าวว่า สำนักหอสมุดแห่งชาติได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับวัดราชประดิษฐฯ อนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-21 มี.ค. โดยมีคณะสงฆ์และประชาชนร่วมเป็นเครือข่าย อส.มศ. เพิ่มขึ้น จำนวน 7 รูป/คน ประกอบด้วยการอนุรักษ์จัดเก็บ ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดและจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน จัดระบบคัมภีร์ใบลานเพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อคัมภีร์ใบลาน ตั้งเป้าหมายให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้พระไตรปิฎกสมัยรัตนโกสินทร์กลางกรุงที่สำคัญ  เนื่องจากเป็นคัมภีร์ 2 รัชกาล มุ่งเน้นการอนุรักษ์ สืบสานมรดกภูมิปัญญาของบรรพชนให้มีอายุยืนยาว พร้อมบูรณาการเครือข่ายให้มีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้สู่ประชาชน

วัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจเพื่อจัดเก็บคัมภีร์ใบลานของวัดราชประดิษฐฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยและใส่พระทัยในพระพุทธศาสนา ด้านหน้าคัมภีร์ปรากฎพระราชลัญจกรประจำรัชกาลของทั้ง 2 พระองค์ คือรัชกาลที่ 4 อยู่ทางด้านซ้าย และรัชกาลที่ 5 อยู่ทางด้านขวา  นอกจากนัยยะของการย้ายจากพระที่นั่งอนันตสมาคม มาประดิษฐานยังวัดราชประดิษฐฯ แล้ว อีกนัยยะคัมภีร์ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลง ทำให้คัมภีร์ใบลานบางผูก เกิดชำรุดเสียหายไป ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างคัมภีร์ผูกที่หายไปขึ้นมาใหม่ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการซ่อมสร้าง เพื่อให้คัมภีร์เต็มทุกผูก และได้ประทับตราพระราชลัญจกรลงบนคัมภีร์ กล่าวได้ว่าเป็นวัดแห่งแรกที่พบคัมภีร์ใบลานในลักษณะนี้ 

“ การสำรวจคัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่เนื้อหาเกี่ยวกับพระไตรปิฎก พบว่าคัมภีร์ที่ได้รับความเสียหายถึง 80%  เนื่องจากสภาพอากาศและสัตว์ โดยสามารถนำมาจัดเก็บอนุรักษ์ได้เพียง 20%  ตามหลักวิชาการใช้ไม้ประกับประกบด้านข้างของคัมภีร์ เพื่อเป็นการรักษาทรงไม่ให้โค้งงอ ใช้ผ้าห่อคลุมเพื่อให้ระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น และออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อคัมภีร์ใบลาน จำนวน 67 มัด มีเลขทะเบียน 144 เลขที่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 894 ผูก เพื่อการอนุรักษ์และซ่อมแซมให้เต็มใบในลำดับต่อไป ทั้งนี้ คัมภีร์ใบลานที่วัดราชประดิษฐฯ ได้รับการถอดแปลเนื้อหาเป็นภาษาไทยแล้วจึงไม่กังวลในส่วนที่หายไป ทั้งนี้ทางวัดกำลังซ่อมแซมหอพระไตร สร้างตู้กระจกบรรจุคัมภีร์ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษาและพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้วย ” วัฒนา กล่าว 

 นอกจากนี้ ที่วัดราชประดิษฐฯ ยังพบคัมภีร์ใบลานที่คุณค่า รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างฉบับพิเศษ ตัวคัมภีร์ประดับด้วยลายรดน้ำและลงรักปิดทองงดงาม มีจำนวน 10 ผูก เนื้อหาเกี่ยวกับมิลินทปัญหา เรื่องราวของการถกเถียงเชิงปรัชญาของพระนาคเสนกับพระยามิลินท์ แต่เนื่องจากมีความชำรุดต้องมีการดำเนินการซ่อมแซมลำดับต่อไป อีกทั้งมีกล่องพระธรรมบรรจุคัมภีร์ใบลานทำจากไม้ สร้างสมัยร. 5 จำนวน 87 กล่อง ทำด้วยไม้เป็นมีรูปทรงคล้ายกับหนังสือ โดยใช้ฝีมือด้านปราณีตศิลป์ลักษณะของการทำด้วยศิลปะงานคร่ำไทย ฝังทองเหลืองลงในเนื้อไม้ บริเวณสันกล่องขึ้นรูปเป็นเส้นอักษรจารึกชื่อตามหมวดหมู่คัมภีร์ใบลาน ระบุปี จ.ศ.1247(พ.ศ.2428) สันนิษฐานว่า มีอายุอย่างน้อย 139 ปี  ซึ่งสำนักช่างสิบหมู่จะดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซมต่อไป

ถือเป็นความร่วมมือครั้งประวัติศาสตรในการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง 2 รัชกาล จนสำเร็จ สืบสานมรดกทรงคุณค่าของชาติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ครูสลา - โอม ค็อกเทล - แม็ก เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์' คว้ารางวัลอันทรงเกียรติ

ครูสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) พร้อมด้วย โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวงค็อกเทล (Cocktail) และ แม็ก-ธิติวัฒน์ รองทอง นักร้องนำและมือเบสวง เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์ (The Darkest Romance) ได้รับรางวัล "เพชรในเพลง" ประจำปี 2567

พัฒนาแหล่งโบราณคดีโคราช สู่หมุดหมายระดับโลก

จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองมรดกโลกที่คนทั่วโลกรู้จักจากผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่  ถิ่นโคราชยังมีความโดดเด่นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีแหล่งโบราณคดีเป็นวัตถุดิบชั้นดีใน

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สุดวิจิตรประณีตศิลป์ไทย

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศไทย งานพระราชพิธีสำคัญที่จะเกิดขึ้นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามฯ

ซ่อมเรือพระราชพิธีใกล้เสร็จ

21 มิ.ย. 2567 - เวลา 9.15  น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและตกแต่งเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฝีพาย ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ เ

สหรัฐเตรียมส่งคืนเสาสลักหินทราย'ปราสาทพนมรุ้ง'กลับไทย

18 มิ.ย.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก (The Art Institute of Chicago) สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุให้กับกรมศิลปากร จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ชิ้นส่วนเสาติดผนังสลักจากหินทรายรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ

ชมสำรับ'กับข้าวเจ้านาย'ในสยาม

พูดถึงตำรับอาหารชาววัง บางคนนึกถึงเมนูอาหารสุดพิถีพิถันและประณีตบรรจงในทุกขั้นตอน  บางคนนึกถึงการประดิษฐ์ประดอยอาหารคาวหวานให้มีความสวยงามน่ากิน รสอาหารกลมกล่อม ตำรับอาหารชาววังนั้นครองใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ