'หมื่นเสียงสุวรรณภูมิ' ร้อยเรียงเป็น 6 บทเพลง          'สะท้อนเรื่องราวดินแดนแห่งทองคำ'

10,000 เสียงที่สะท้อนให้ได้รับฟัง ส่วนหนึ่งในนิทรรศการ 

“สุวรรณภูมิ” มีความหมายว่าเป็น” ดินแดนแห่งทองคำ “ที่ถูกกล่าวขานมาอย่างยาวนานในบันทึกทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้มีการทำหนังสือสุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างเข้มข้น ทั้งภายในและต่าง ประเทศในระยะ 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มจากการสืบสวนจากนิทานชาดกของอินเดีย ตลอดจนพงศาวดาร และบันทึกต่างๆ ทั้งของอินเดีย ศรีลังกา กรีก โรมัน และจีน โดยยังมีส่วนของฝ่ายเปอร์เซียและอาระเบีย 

ข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือที่สำคัญต่อพิกัดของดินแดนสุวรรณภูมิ.  ซึ่งในวงวิชาการไทย มีข้อคิดความเห็นว่าสุวรรณภูมินั้นมีจริงผ่านพัฒนาการ. ก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปี จนอาจถึงระดับนคร รัฐ หรืออาณาจักร เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว มีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ที่เรียกว่าอินโดจีน ระหว่างอินเดียกับจีน ตั้งแต่เขตลุ่มน้ำพรหมบุตร ผ่านดินแดนเมียนมา มอญ ไทย ไปตลอดแหลมมลายู ไปจนถึงเขตแม่น้ำโขงรวมถึงในดินแดนยูนนาน รวมทั้งมีข้อเสนอในชื่อโลกแห่งสุวรรณภูมิที่มีภาคพื้นดินเป็นศูนย์กลางแวดล้อม ด้วยอ่าวเบงกอลและอ่าวเมาะตะมะ แหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย และทะเลจีนใต้ มีการกำหนดอายุว่าอยู่ ในช่วง พุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงเวลาของสุวรรณภูมิ แต่ยังขาดหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจนจนกว่าจะมีการค้นพบ หลักฐานใหม่หรือมีการตีความหลักฐานเก่าด้วยวิธีใหม่ๆ ในอนาคต 

มีการกล่าวอีกว่า “สุวรรณภูมิ “นับเป็นดินแดนที่เนื้อหอมเป็นจุดนับพบของชาวตะวันออกและตะวันตกในการเข้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนสิ่งสินค้า และสิ่งที่นำมาด้วยคือการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม 

เพื่อให้ประวัติศาสตร์ถูกนำกลับมาเล่าใหม่ให้คนในยุคปัจจุบันได้ตระหนักถึงมรดกอันทรงคุณค่าที่ผสมผสานความหลากหลายอย่างไร้การแบ่งแยก ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ทำโครงการ “หมื่นเสียงสุวรรณภูมิ ความรักไปได้ทุกที่ (Sounds Of Suvarnabkumi)” ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย(ธัชชา) มหาวิทยาลัยศิลปากร และเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสรรค์บทเพลงจากลักษณะเฉพาะของเสียงพื้นถิ่นทั่วทั้ง 4 ภาคในประเทศไทยจำนวน 10,000 เสียง นำมาร้อยเรียงเป็นบทเพลงพิเศษ เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวของสุวรรณภูมิที่เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทเพลงในโครงการหมื่นเสียงสุวรรณภูมิฯ ประกอบด้วย เพลงอู้วว ฮูวว, เพลงสุวรรณภูมิล้านนา (เสียงจากภาคเหนือ), เพลงบูรพา สุวรรณภูมิ (เสียงจากภาคตะวันออก), เพลง นิราศบางกอก (เสียงจากทุกภาคของไทย), เพลงซาลามัตดาตังสุวรรณภูมิ (เสียงจากภาคใต้) และเพลงวิถีไทเฮา (เสียงจากภาคอีสาน) ที่ได้ถูกบรรเลงขึ้นในกิจกรรม “คอนเสิร์ตเสียงแห่งสุวรรณภูมิและนิทรรศการการสร้างการรับรู้ของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” ที่ผ่านมา เพื่อสร้างการรับรู้ผ่านนิทรรศการ

คอนเสิร์ตจากบทเพลงในโครงการวิจัยหมื่นเสียงสุวรรณภูมิ และการแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องประดับสุวรรณภูมิ  และการแสดงชุด รากสุวรรณภูมิ โดยนายมานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร สาขาการแสดงร่วมสมัย ขับเคลื่อนบูรณาการผลงานศาสตร์และศิลป์ให้เป็นที่ประจักษ์

 ผศ.ชวลิต ขาวเขียว

 ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ผู้อํานวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา กล่าวว่า เมื่อศึกษาเรื่องราวความเป็นไปของอารยธรรมสุวรรณภูมิที่เคยเกิดขึ้น การติดต่อปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่มคนในแต่ละพื้นที่ของดินแดนสุวรรณภูมิ ทำให้เข้าใจภาพรวมทางประวัติศาสตร์ และบริบทของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นชาติพันธุ์ที่มีความใกล้เคียงกัน ทั้งทางสายเลือด ความคิด วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาเชิงช่าง ผู้คนในดินแดนแห่งนี้ล้วนมีรากฐานทางมรดกวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนาความเป็นรัฐแรกเริ่ม รวมไปถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยแรงศรัทธา ซึ่งสืบสานรากประเพณีมาอย่างยาวนาน เพื่อสร้างบริบทใหม่ทางการศึกษา ต่อยอด ขยายผลงานวิจัยเชิงวิชาการ สู่ทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการผสานพหุศาสตร์ หวังผลักดันคุณค่า Soft Power บนรากฐานแห่งอารยธรรมสุวรรณภูมิ ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจ กระบวนการสื่อสารที่ทันสมัย ปรับกระบวนทัศน์ทางประวัติศาสตร์ใหม่ และส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ เพื่อถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่คงเหลือให้ถูกสืบทอดและต่อยอด  เพื่อกระตุ้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บนฐานแห่งคุณค่า 5 มิติ และการวิวัฒน์อย่างไม่มีวันจบสิ้น

อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล 

ด้าน อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล ผู้อำนวยการศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไป ดังนั้นการนำเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาค่อนข้างใช้เวลาในการทำความเข้าใจ การทำให้เข้าใจง่ายจึงเป็นโจทย์ที่มีความท้าทาย โดยในการศึกษาวิจัยยใช้เวลากว่า 6 เดือนในการลงพื้นที่รวบรวมเสียงพื้นถิ่นทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ภาคละ 2,500 เสียง เป็น 10,000 เสียง หากนำมาทำเป็นรายงานวิจัยก็คงยากที่จะมีคนสนใจ ดังนั้นเพื่อให้เกิดเป็นงานศิลปะที่เสพได้ จึงได้เลือกการนำมาทำเป็นเพลง รวมไปถึงการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นถิ่นและความสมัยใหม่รวมเข้าด้วยกัน โดยทั้ง 6 เพลงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด อย่างเพลง นิราศบางกอก ที่มีการแร็ปของแต่ละภาค และการทำนองที่ดูแปลกใหม่ ซึ่งได้ทั้งสุนทรียะในการฟังและการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย  สำหรับก้าวต่อไปจะเป็นการนำเสนอเป็นสารคดีที่จะนำเสนอเรื่องราวของสุวรรณภูมิจำนวน 5 ตอน ที่ยิ่งทำให้เข้าใจคำว่าสุวรรณภูมิมากยิ่งขึ้น 

ผศ.บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ 

ผศ.บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต  หัวหน้าโครงการหมื่นเสียงสุวรรณภูมิ ได้อธิบายความสัมพันธ์ของดินแดนสุวรรณภูมิพื้นที่แห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมว่า หากจะหานิยามคำว่าสุวรรณภูมิ ที่แท้จริงนั้นคืออะไร ก็คงไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคงจะเป็นความหลากหลายของประเพณี ศิลปวัฒนธรรม เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่สุด คือการสะท้อนผ่านเครื่องดนตรีที่มีหลากหลายประเภทและชนิด เพราะอย่างที่ทราบในอดีตพื้นที่สุวรรณภูมิคือเมืองท่าเป็นสถานีการค้ามีการคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายการการไหลเวียนทางวัฒนธรรม อย่างเครื่องดนตรีโบราณที่มีอายุเกาแก่คือ กลองมโหระทึก ที่นอกจากจะพบในไทย ก็ยังพบที่มณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม อินเดีย  และฆ้อง จะพบในแถบประเทศเวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียจะมีการใช้ฆ้องประกอบการเล่นดนตรีจำนวนมาก เช่นเดียวกับไทยที่มีการเล่นฆ้องวง ฆ้องมอญ หรือโหม่ง ซึ่งเครื่องดนตรีทั้ง 2 ชนิดเปรียบเสมือนของมีค่าของไทย เพราะหากพื้นที่ใดพบก็จะสันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นเมืองท่ามาก่อน 

กลองมโหระทึก

“ไทยยังรับวัฒนธรรมการเล่นเครื่องดนตรีมาจากประเทศอื่นด้วย เช่น ปี่ มาจากลังกา หอยสังข์ กลองแขก กลองชนะ มาจากศรีลังกา แต่เครื่องดนตรีที่มีต้นกำเนิดในไทยอย่างชัดเจนเลย คือ แคน หรือโปงลาง เป็นต้น หรือไวโอลิน ที่มีต้นกำเนิดมาจากเปอร์เซีย สะท้อนให้เห็นว่าดนตรีเป็นวัฒนธรรมที่ไทยรับมาจากหลากหลายแห่งผสมผสานจนเป็นเราทุกวันนี้” ผศ.บุญรัตน์  กล่าว 

ผศ.บุญรัตน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อให้เกิดการผสมผสานอย่างลงตัวของเครื่องดนตรีที่หลากหลายในแต่ละเภท แต่ละภูมิภาค รวมไปถึงการผนวกเสียงวิถีชีวิตและเสียงธรรมชาติที่รวมกันเป็น 10,000 เสียง มาประพันธ์เป็นบทเพลงขึ้นใหม่จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านทำนองและคำร้องยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลายของคำว่าสุวรรณภูมิผ่านบทเพลงต่างๆ และเสียงดนตรีจากประเทศไทย จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย ลาว มอญ  อาทิ ซอบั้ง กลองยาว โทน  ไวโอลิน ปี่ โหม่ง มโหระทึก ฯลฯ เป็นทำนองได้ความแปลกใหม่เข้ากับยุคสมัย เพราะได้มีการรังสรรค์เข้ากับการแร็ป บีตบ็อกซ์ ที่ร่วมสมัยแต่ยังคงใช้คำพื้นถิ่น 

การแสดงรากสุวรรณภูมิ

“ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นถิ่น เสียงจากวิถีชีวิต เสียงธรรมชาติ หรือแม้แต่เครื่องดนตรีสมัยใหม่ การทำเพลงแบบยุคปัจจุบันก็สามารถนำมาประยุกต์ร่วมกันใช้ได้ และยังเป็นประโยชน์เพราะเสียง 10,000 เสียงที่ถูกเก็บมาจะเป็นสมบัติของชาติ และนักดนตรีได้เห็นความเป็นไปได้ในการทำเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน หรือนักร้องที่สามารถร้องเพลงได้การทำนองที่มีความเป็นเอกลักษณ์และตัวตนของวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตัวเอง” ผศ.บุญรัตน์ ทิ้งท้าย 

อย่างไรก็ตามสามารถรับฟัง 6 บทเพลงพิเศษจากโครงการหมื่นเสียงสุวรรณภูมิฯ ได้ที่ YouTube และ Spotify 

การแสดงเครื่องดนตรีซอบั้ง 

การแสดงเครื่องดนตรีเป่าปี่
การแสดงดนตรีหลากหลายประเภท ที่มาจากดินแดนสุวรรณภูมิ

เพิ่มเพื่อน