การใช้ขวดน้ำพกพาไปเติมน้ำดื่มเองทุกวัน เป็นวิธีการง่ายๆ ช่วยลดขยะขวดพลาสติก ถ้าใครเคยตั้งคำถามว่า คนกรุงเทพทิ้งขวดพลาสติกกันมากแค่ไหน จากการสำรวจของ Environmental Justice Foundation Thailand (EJF) พบว่า ประชาชนร้อยละ 99 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล บริโภคน้ำดื่มจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกขั้นต่ำวันละ 1 ขวดทุกวัน ร้อยละ 41 คิดเป็นการบริโภคน้ำดื่มทั้งหมดอย่างน้อย 4 ล้านขวดต่อวัน หรือ 121 ล้านขวดใน 1 เดือน ซึ่งเท่ากับ 1.4 พันล้านขวดต่อปี และใน 1 ปี ปริมาณขยะขวดพลาสติกจำนวนเท่านี้จะสูงกว่าครึ่งหนึ่งของตึกมหานครเลยทีเดียว
ขวดพลาสติกที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรามักจะถูกมองข้ามไปจากโจทย์แก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพราะเจ้าขวดนี้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ด้วยราคารับซื้อที่สูงกว่าพลาสติกประเภทอื่นในตลาด แต่ความจริง ทั้งโลกมีขวดพลาสติกเพียงร้อยละ 27.2 เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล (สถิติปี 2563) ผลจากระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ การหลุดรอดของขยะพลาสติกจากบนบกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างแม่น้ำลำคลองและทะเล รวมทั้งการปนเปื้อนบนขวดพลาสติกจากการทิ้งปะปนขยะประเภทอื่น โดยเฉพาะเศษอาหาร
ขยะขวดพลาสติกถ้าไม่ถูกรีไซเคิล พลาสติกจะใช้เวลาย่อยสลายนานหลายร้อยปี พลาสติกจะเสื่อมคุณภาพลงเรื่อยๆ หลังการรีไซเคิลแต่ละรอบ ในที่สุดจะไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้อีก นักวิชาการสิ่งแวดล้อมมองว่าการรีไซเคิลเพียงอย่างเดียวแก้ปัญหาผิดจุด เป็นการบริหารจัดการปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน
ปัญหามลพิษขยะพลาสติกในเมืองใหญ่แก้ตรงจุด ต้องครอบคลุมถึงการการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลดพลาสติก ระบบการใช้ซ้ำ (reuse) และระบบการเติม (refill) เช่น จุดเติมน้ำสาธารณะและน้ำประปาสะอาด ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวเชิงนโยบาย ส่วนเป้าหมายระยะสั้นที่รัฐบาลสามารถบรรลุได้ คือ การประกาศหยุดผลิตและหยุดใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีปัญหาและไม่จำเป็นทันที เช่น พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ กล่องบรรจุอาหารทำจากโฟม แก้วพลาสติกแบบบาง หลอดพลาสติก ซึ่งเป็นหมุดหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในโรดแมฟจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573
สำหรับ คน กทม. ร่วมแก้ไขปัญหาพลาสติกล้นโลกได้ง่ายๆ ด้วยการพกกระบอกน้ำเมื่อออกจากบ้านเพื่อใช้เติมน้ำ นอกจากจะช่วยลดจำนวนขวดพลาสติกในเมือง ยังเป็นการส่งเสียงดังๆ ว่า “ประชาชนต้องการจุดเติมน้ำ” ในพื้นที่ กทม. ขณะนี้มีการผลักดันโครงการ “Bottle Free Seas ลดก่อน ล้นโลก” ติดตั้งจุดเติมน้ำสาธารณะที่สะอาด ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวด้วยการเติม นำร่องลดพลาสติกจากต้นทางบนความร่วมมือของกรุงเทพมหานครและมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม(EJF)
ปัจจุบันติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรีแล้ว 10 แห่ง พกกระบอกน้ำไปเติมน้ำดื่มสะอาด เย็นชื่นใจได้เลย จุดที่ 1 บริเวณประตู 6 สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย จุดที่ 2 ศูนย์กีฬาในร่มอาคาร 3 พิคเคิลบอล สวนเบญจกิติ จุดที่ 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) หน้าห้องน้ำชั้น 3 ทางเชื่อม BTS สนามกีฬาแห่งชาติ ถือเป็นจุดเชื่อมต่อและเข้าถึงง่าย
สายเที่ยว สายชิล สายช้อป แวะจุดที่ 4 ลานหน้าศาลพระตรีมูรติ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ใครจะไปขอความรัก หรือไปช้อปปิ้งแถวนั้นอย่าลืมพกกระบอกน้ำไปเติมน้ำดื่มดับกระหายกันได้ฟรี จุดที่ 5 ป้ายรถเมล์ติดแอร์ หน้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ จุดที่ 6 ฟอร์จูนทาวน์ พระราม 9 จุดที่ 7 สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนผู้ค้าปลีกแห่งนอร์เวย์และให้พื้นที่สวนติดตั้งบริเวณทางโค้งใกล้ห้องน้ำหน้าสวน จากการชี้จุดระบุความต้องการของประชาชนในพื้นที่
จุดที่ 8 สวนวชิรเบญจทัศ หรือที่คนกรุงเรียก”สวนรถไฟ” เขตจตุจักร อากาศร้อนๆ แบบนี้ สวนรถไฟเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่า 375 ไร่ ที่มีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยาน โดยมีเลนสำหรับขี่จักรยานโดยเฉพาะ อาคารจัดแสดงและเพาะเลี้ยงผีเสื้อและแมลง เมืองจราจรจำลอง พร้อมจุดถ่ายรูปกับดอกไม้นานาชนิด เชิญชวนผู้ใช้สวนมาดับร้อนและลดพลาสติกที่จุดเติมน้ำ Bottle Free Seas พิกัดสำนักงานของสวนฯ บริเวณสุขา 5
อีก 2 จุดเติมน้ำใหม่ถูกใจสายเที่ยว จุดที่ 9 อุโมงค์หน้าพระลาน และจุดที่ 10 ท่ามหาราช เขตพระนคร ทั้งสองพื้นที่เป็นจุดเช็คอินยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ มีพื้นที่กว้างขวาง แอร์เย็นสบาย มีที่นั่งให้สามารถคลายร้อนได้ แต่ละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใช้พื้นที่จำนวนมาก ถ้าวันหยุดยาวตัวเลขถึง 35,000 คนต่อวันเลยทีเดียว
การมีจุดเติมน้ำบริการ นอกจากจะช่วยดับกระหาย คลายความร้อนระอุแล้ว ยังจะช่วยลดปริมาณขยะขวดพลาสติกที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ผลดำเนินโครงการ Bottle Free Seas ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ลดการใช้ขวดพลาสติกไปแล้ว 456,894 ขวด มุ่งสู่เป้าหมาย 500,000 ชวด
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เยี่ยมจุดบริการเติมน้ำดื่มตามโครงการ “Bottle Free Seas” บริเวณอุโมงค์หน้าพระลานและท่ามหาราช ภายใต้นโยบาย “น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรี ทั่วกรุง” กล่าวว่า การติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรีเพื่อเป็นการบริการประชาชนและลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปพร้อมกัน ทุกการกดเติมน้ำที่ตู้ 1 ครั้ง จะถือเป็นการลดการใช้ขวดน้ำพลาสติก 1 ขวด ปัจจุบันมีการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรีแล้ว 10 แห่ง กระจายในหลายเขต ในส่วน กทม. เองมีแผนดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 จุด ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง สำนักงานเขตทุกเขต และสวนสาธารณะ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว รวมถึงประสานความมือกับภาคเอกชนในการใช้พื้นที่เพื่อติดตั้งตู้กดน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกและบริการคนกรุงเทพฯ อย่างทั่วถึง ลดปริมาณขยะแล้ว ยังลดงบประมาณจัดการขยะระยะยาวไปพร้อมกัน
“ การขยายจุดเติมน้ำดื่ม สิ่งสําคัญต้องร่วมมือกันภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ เชิญชวนมาร่วมกันติดตั้งทุกตึก สำนักงานต่างๆ รวมถึงหน่วยงานราชการทุกแห่ง ถ้าร่วมมือร่วมใจกันจะติดตั้งครบตามเป้าที่กำหนดได้รวดเร็ว กทม. ติดตั้งเองทุกแห่งอาจจะช้า ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
การมีจุดเติมน้ำดื่มเป็นอีกกลไกสำคัญต่อการยุติมลพิษพลาสติก จะลดจำนวนขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้อีกมาก หากไทยมีจุดเติมน้ำดื่มทั่วทุกมุมเมือง และมีน้ำประปาสามารถดื่มได้ทั่วประเทศที่มีการตรวจสอบคุณภาพสม่ำเสมอและน่าเชื่อถือสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
จุดเติมน้ำจุดต่อไปจะอยู่ที่ไหน โปรดติดตามและเตรียมกระบอกน้ำให้พร้อม มาลดพลาสติกไปด้วยกัน ส่วนใครพกกระบอกน้ำแล้ว คลิกดูจุดเติมน้ำดื่มฟรีอื่นๆ ในเครือข่าย Refill Bangkok ทั่วกรุงฯ ได้ที่ : https://ejf.shorthandstories.com/bottle-free-seas-refill-station-page/index.html
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก
ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
โรดแมฟขยะพลาสติก ปี 66-70
เมื่อแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) สิ้นสุดลง เพื่อให้การขับเคลื่อนแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยเกิดความต่อเนื่อง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เนื่องจากไทยมีปริมาณขยะพลาสติกติดอับดับต้นๆ ของโลก กรมควบคุมมลพิษ ( คพ. )