การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ สร้างความฮือฮาให้กับวงการชีววิทยาของไทยและสากล นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.) เป็นประธานแถลงข่าว ร่วมด้วยทีมนักวิจัย นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการอช.และผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ นายนนธวัช ฉัตรธนบูรณ์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ะ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมศึกษาผึ้งหลวงหิมาลัยที่เคยพบเฉพาะในแนวเทือกเขาหิมาลัยของเนปาลและอินเดีย
นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ เผยที่มาการการค้นพบครั้งสำคัญนี้ว่า เมื่อเดือนเมษายน 2565 กลุ่มงานกีฎวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการติดตามประชากรและการปรากฎของผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีถิ่นอาศัยในดอยผ้าห่มปกและอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง เราพบผีเสื้อไกเซอร์สองเพศในตัวเดียวกัน ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นเป็นไปได้ยาก ระหว่างการสำรวจมีผึ้งหลายตัวบินมาจากหน้าผาสูง ก่อนลงรังได้มาจับใบไม้และทำความสะอาดตัวเอง แรกนึกว่าเป็นผึ้งหลวง แต่ลักษณะต่างจากผึ้งหลวงทั่วไป มีลำตัวสีดำ สันนิษฐานว่า อาจไม่ใช่ผึ้งหลวงที่มีอยู่ปัจจุบันในบ้านเรา จึงเก็บตัวอย่างผึ้งกลับมาเพื่อทำการศึกษา ผลศึกษาเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งยังไม่เคยพบในไทย ทางกลุ่มงานกีฎวิทยาฯ จึงได้จัดทำโครงการศึกษาผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis ( ApislaboriosaSmith, 1871 ) ในพื้นที่อุทยานฯ ดอยผ้าห่มปก เพื่อติดตามศึกษาผึ้งดังกล่าว พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างผึ้งในพื้นที่มาจัดจำแนกชนิดพันธุ์ โดยไดรับทุนสนับสนุนจากส่วนความหลากหลายทางชีวภาพ เดือนต่อมาสำรวจพบแหล่งอาศัยสร้างรังของผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งอยู่บริเวณชะง่อนหน้าผาหินสูงชันดอยผ้าห่มปก พบ 8 รังบริเวณเดียวกัน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อนำกลับมาศึกษา ระดับชีวโมเลกุล โดยมีความร่วมมือกับภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบในพื้นที่อุทยานฯ ดอยผ้าห่มปก ได้รับการคุ้มครองจาก พรบ.อุทยานแห่งชาติ
ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยผู้ร่วมศึกษาและจำแนกลักษณะสัณฐานวิทยา และศึกษาระดับชีวโมเลกุล กล่าวว่า หลังจากได้ตัวอย่างผึ้งจากกรมอุทยานฯ มีการแบ่งทีมในภาควิชาเพื่อยืนยันเป็นผึ้งหลวงหิมาลัยจริงหรือไม่ ปกติคนไทยรู้จักผึ้งซึ่งให้น้ำหวาน ซึ่งเป็นผึ้งให้น้ำหวานต่างถิ่น ผึ้งพันธุ์ นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของผึ้งให้น้ำหวานสูงระดับโลก ไทยมีผึ้งให้น้ำหวานพื้นถิ่น อย่างผึ้งมิ้น ผึ้งม้าน ผึ้งโพรง และผึ้งหลวง สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้ง ไข่ผึ้ง นมผึ้ง หลากหลาย แต่ไม่มีรายงานพบผึ้งหลวงหิมาลัยในไทย ผึ้งหลวงหิมาลัยถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศจีน มณฑลยูนนาน ปัจจุบันพบการกระจายตัวตามแนวเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตกติดปากีสถานลากยาวถึงแนวเทอกเขาในพม่า ลาว จนถึงตอนเหนือของเวียดนาม ผึ้งหลวงหิมาลัยร่างกายมีสีดำ ส่วนท้องสีดำสนิท มีขนสีเหลืองทองปกคลุมส่วนอก และส่วนต้นของปล้องท้องปล้องแรก ปีกดูขุ่น ไม่โปร่งใส
“ ทีมกรมอุทยานฯ เจอการสร้างรังที่ชะง่อนผา ซึ่ง 95% การทำรังของผึ้งชนิดนี้ ไม่ว่าจะในอินเดีย เนปาล พม่า จนถึงเวียดนาม จะสร้างรังบนผาสูง ทำให้ชื่อเรียกทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า “Clip Bee” หรือ “Rock Bee “ ผึ้งหินบ้าง ผึ้งหน้าผาบ้าง เพราะชอบอาศัยบริเวณหน้าผาสูง ที่เนปาลมีชาวบ้านโรยตัวจากภูเขาตีรังเพื่อเก็บน้ำผึ้ง “ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาครั้งนี้พบครั้งแรกในไทยที่ดอยผ้าห่มปก นักชีววิทยาระบุบริเวณที่พบผึ้งหลวงหิมาลัยเราประหลาดใจ เพราะห่างจากจุดที่เคยพบในพม่า ลาว และจีน ประมาณ 240 กิโลเมตร ลงมาทางใต้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ที่ตำแหน่งนี้ดอยผ้าห่มปกสูงจากระดับน้ำทะเล 2,285 เมตร เจอการรวมกลุ่มผึ้งหลวงหิมาลัยตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 65 และทิ้งรังไปเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ทีม อช. กลับไปสำรวจแล้วค้นพบผึ้งกลับมาทำรังที่เดิม ฉะนั้น เรารู้ว่าผึ้งหลวงหิมาลัยมีพฤติกรรมอพยพออกจากพื้นที่ในช่วงฤดูฝนและกลับเข้ามาช่วงต้นฤดูแล้ง จริงๆ มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นมาก่อน เป็นภาพถ่ายในเว็บไซต์วิทยาศาสตร์ประชาชน เมื่อปี 2563 แต่ขณะนั้นไม่มีใครมั่นใจว่าเป็นผึ้งชนิดไหน
เรานำตัวอย่างที่ได้มาศึกษาหลายอย่าง วัดโครงสร้างบนตัว ผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นผึ้งให้น้ำหวานสกุล Apis ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปริมาณน้ำผึ้งเยอะ มี 50,000-100,000 ตัวต่อรัง มีการดำรงชีวิตแบบสังคมชั้นสูง มีการแบ่งวรรณะ นางพญา ผึ้งตัวผู้ และผึ้งงาน
“ จากการศึกษานำตัวอย่างมาเทียบกับผึ้งหลวงที่พบในประเทศไทย พบว่า แผ่นปิดปล้องท้องด้านล่างและแผ่นปิดปล้องท้องด้านบนมีความแตกต่างกันชัดเจน ส่วนสัณฐานวิทยาเชิงเรขาคณิต จากลักษณะทั้งหมด 19 ลักษณะ แสดงให้เห็นข้อมูลของผึ้งหลวงหิมาลัยแยกออกจากผึ้งหลวงทั่วไปที่พบในไทยและผึ้งหลวงที่พบดอยผ้าห่มปกอย่างชัดเจน และการใช้สารพันธุกรรมของผึ้งในการหาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ตัวอย่างในพื้นที่พบจัดกลุ่มในกลุ่มประชากรจากอินเดียและเนปาล “ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ ยืนยันจากการศึกษาเป็นผึ้งหลวงหิมาลัยอย่างแท้จริง
ความสำคัญการค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งนี้ นักชีววิทยาระบุผึ้งหลวงหิมาลัยมีความสำคัญในบทบาทของแมลงผสมเกสรในระบบนิเวศที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-4,500 เมตร ในไทยสูงสุดที่ดอยอินทนนท์ 2,565 เมตร ซึ่งการมีพบรังผึ้งหลวงหิมาลัยเกิดประโยชน์ต่อสังคมพืชในระบบนิเวศที่สูงมีอากาศหนาวตลอดปี ผึ้งช่วยผสมเกสรพืชพรรณบริเวณนี้ได้ แต่ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โลกเผชิญอุณหภูมิที่สูงขึ้น ผึ้งหลวงหิมาลัยอาศัยอยู่ในบริเวณอุณหภูมิหนาวเย็น หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต มีความเป็นไปได้จะไม่อพยพมาอยู่อาศัยในบริเวณปัจจุบันอาจเกิดปัญหากับสังคมพืชดอยผ้าห่มปก และพื้นที่ป่าทางตอนเหนือของไทยในอนาคต
“ นอกจากนิเวศวิทยาแล้ว น้ำผึ้งที่ถูกผลิตจากผึ้งหลวงหิมาลัย ในอินเดียและเนปาลมีการวิเคราะห์ว่า มีสารเคมีที่ผลิตออกจากดอกกุหลาบพันปี เมื่อทานเข้าไปแล้วจะมีอาการเมา เรียก ”น้ำผึ้งเมา” ในต่างประเทศ ไกด์เนปาล อินเดียที่พานักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปดูหน้าตาผึ้งหลวงหิมาลัย รวมถึงซื้อน้ำผึ้งสนับสนุนเกษตรกร เพื่อรักษาผึ้งหลวงหิมาลัยให้อยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งน้ำผึ้งหิมาลัยนี้เป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันประชากรผึ้งหลวงหิมาลัยโลกลดลง อย่างในอินเดีย เนปาล จำนวนน้อยลง หายไป ภาวะโลกร้อนนำไปสู่ภูมิต้านทานผึ้งลดลง โดนโรคโจมตี หากโลกมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปีนี้อากาศร้อนจัด อนาคตอาจจะไม่เจอสิ่งมีชีวิตนี้ “
นักชีววิทยาจุฬาฯ กล่าวต่อว่า ส่วนวิธีไหนจะทำให้สิ่งมีชีวิตนี้อยู่ในพื้นที่และช่วยรักษาระบบนิเวศวิทยาของเรา เป็นคำถามที่ต้องศึกษาต่อไป รวมถึงการศึกษาคุณสมบัติของน้ำผึ้งเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่อนุรักษ์ ศึกษาเกสรในรังผึ้ง ตลอดจนจำนวนประชากรที่แท้จริงในประเทศไทย ซึ่งกรมอุทยานฯ สำรวจพบรังผึ้งหลวงหิมาลัยอีก 3 จุดในดอยผ้าห่มปก และคาดเดามีความเป็นไปได้จะพบในดอยหลวงเชียงดาว ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ หรือดอยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดกับแนวเทือกเขาหลวงพระบาง สปป.ลาว ได้
ต่อข้อถามว่า ผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือไม่นั้น ผศ.ดร.ณัฐพจน์ กล่าวว่า ขณะนี้จัดทำโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาหากอุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลง ทุก 10 ปี เพิ่มสูงขึ้น 1- 2 องศาเซลเซียส ขอบเขตการกระจายพันธุ์ของผึ้งกลุ่มนี้จะลดลงมากน้อยเพียงใด ด้วยขณะนี้ไม่ทราบจำนวนประชากรที่ชัดเจน แต่หากแนวโน้มอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี มีสิทธิ์ผึ้งจะไม่อยู่อาศัย เพราะนอกจากหาที่สร้างรังแล้ว ผึ้งยังหาแหล่งอาหาร พืชเมืองหนาวเป็นป่าเมฆที่มีความเฉพาะ โลกร้อนพืชอยู่ไม่ได้ มีผลต่อผึ้ง
นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดี อช. กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทยที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งชนิดต่างๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่ไทยยังสามารถพบผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศได้ แสดงถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์คุ้มครองดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้อุดมสมบูรณ์ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม อช.จะสนับสนุนการศึกษาต่อยอดเพิ่มจากข้อมูลผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบในประเทศไทย
ภารกิตตามติดชีวิตผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยเชิงลึกยังต้องติดตามต่อไป!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
เวียนเทียนด้วยต้นไม้ วันวิสาขูชา ลดฝุ่น PM2.5
วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันทำบุญ เจริญภาวนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และประธานมูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชานี้ มูลนิธิปลูกต้นไม้ฯ
เปิดยุทธศาสตร์'กุยบุรี' ลดขัดแย้งคน-ช้าง
เนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการรณรงค์สื่อสารให้คนไทยตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของช้างไทยจากปัญหาผืนป่าที่ถูกทำลายและลดลง ทั้งด้วยปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมจากน้ำมือมนุษย์รบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างสัตว์ประจำชาติ
ยุติค้าสัตว์ป่า ภัยเงียบทำลายระบบนิเวศ
23 ธ.ค.2566 - พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จ.ราชบุรี ที่
‘น้ำมันรั่วชลบุรี-ทะเลสีเขียว’ ปลุกแก้ที่ต้นเหตุ
จากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณตอนใต้ของเกาะสีชัง จ.ชลบุรี กลางดึกวันที่ 3 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย ไม่พบคราบน้ำมันในทะเล และไม่พบการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันบริเวณเกาะสีชัง ตลอดจนบริเวณชายฝั่งตั้งแต่หาดบางพระ
ทีมวิจัยจุฬาฯ ห่วงน้ำมันรั่วชลบุรี ทำปะการังเป็นหมัน
7 ก.ย.2566 - จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดชลบุรี สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจเบื้องต้น พบว่ายังไม่พบผลกระทบที่เห็นชัดเกิดขึ้น เนื่องจากคราบน้ำมันได้ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว