พลิกโฉมมหาวิทยาลัย ภาคเหนือ มช.พัฒนา'ศูนย์ทดสอบดัชนีน้ำตาล' มุ่งสู่ระดับโลก 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมโดย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล พร้อมคณะ ได้เยี่ยมลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)  ของสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

รศ.ดร.รัฐชาติ  กล่าวว่า ทิศทางแนวนโยบายด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เป็นการพัฒนาปรับปรุงระบบนิเวศของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยแบบองค์รวม ทั้งในด้านการปฏิรูประบบบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศให้กับมหาวิทยาลัยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล  จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา  ทั้งการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะอาจารย์ สามารถตอบสนองต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21 มุ่งหวังยกระดับมหาวิทยาลัยของไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมีความถนัดและเชี่ยวชาญ ผลักดันให้เกิดการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยและยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ

“มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นและมีความชัดเจน สามารถตอบโจทย์ประเทศไทยในมิติของความยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ สิ่งนี้เป็นการสะท้อนการทำงานของโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป ทางโครงการจะให้การสนับสนุนเรื่องของงบประมาณมากขึ้น เนื่องจากจะมีกองทุนเพื่อพัฒนาอุดมศึกษาเข้ามาช่วยในโครงการนี้ แต่ขอให้การทำงานต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกมหาวิทยาลัย”รศ.ดร.รัฐชาติ

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว. กล่าวว่า นโยบายสําคัญของ อว. จะมุ่งเน้นในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในด้านของการผลิตและพัฒนากำลังคน การพัฒนาองค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรม ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้และการทำงานรูปแบบใหม่ โดยใช้ศักยภาพและความถนัดของสถาบัน นำไปสู่การพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถจัดการศึกษา ทำวิจัย และผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เกิดการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้สังกัดกลุ่ม ประจำปีงบประมาณ 2565 – 2566 จำนวน 104 แห่ง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก มี 17 แห่ง กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มี 19 แห่ง กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น มี 48 แห่ง กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา มี 2 แห่ง และกลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ มี 18 แห่ง

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) สามารถนำงานวิจัยต่อยอดสู่นวัตกรรม ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลิตบัณฑิต ส่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based  & Community) ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระดับครัวเรือนและชุมชน  ยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนให้ดีขึ้น  

ในโอกาสนี้คณะผู้แทนจากอว.ได้เยี่ยมชม “ศูนย์ทดสอบดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index Center; GIC)” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศูนย์ GI ที่มีระบบ กลไก และบุคลากรที่พร้อมต่อการให้บริการศึกษาค่าดัชนีน้ำตาล ที่มีความเชี่ยวชาญและยอมรับในระดับสากล โดยผ่านการขอรับรอง ISO22642:2010 (ระบบคุณภาพสำหรับการวิเคราะห์ค่าดัชนีน้ำตาล) และเป็นแพลตฟอร์มการทำงานแบบบูรณาการของผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและการแพทย์ ที่จะช่วยสนับสนุนการศึกษาวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ในระดับ Clinical trial อย่างครบวงจร สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน นับเป็นการ เพิ่มขีดความสามารถทางวิชาการด้านสุขภาพระดับโลก

รศ. ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งการวิจัยที่มีคุณภาพในระดับแนวหน้าของโลกหรือเฉพาะทางสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพหรือทักษะสูงให้สามารถคิดค้น ผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในระดับสากล ผลิตบัณฑิตที่เป็นนักวิจัยหรือผลงานวิจัยในระดับนานาชาติเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานโลก ซึ่งโครงการจัดตั้ง ศูนย์ GI Center (GIC Thailand) เพื่อให้บริการวิจัยแบบบูรณาการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำ และการพัฒนาเป็นศูนย์ที่ให้บริการทดสอบ GI ที่เป็นมาตรฐานรายแรกในประเทศไทย สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่เป็นเลิศและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ Food for health in NCDs ต่อไปในอนาคต รวมทั้งศูนย์นี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและการต่อยอดในเชิงพาณิชย์

“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศูนย์ GI center (GIC Thailand) ให้เป็นศูนย์ที่ดำเนินการทดสอบและวิจัย GI ในผลิตภัณฑ์อาหารแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก Glycemic Index Foundation ในการประเมินคุณภาพของคาร์โบไฮเดรตในอาหารเอเชีย โดยใช้อาสาสมัครคนไทยเพื่อพัฒนาฐานข้อมูล GI ของอาหารในท้องถิ่นตลอดจนสนับสนุนและตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมผ่านการนำเสนอชุดบริการให้คำปรึกษาในการพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ GI ต่ำแก่ SMEs และบริษัทข้ามชาติ (MNCs) นอกจากนี้ GIC Thailand ยังจะมีศักยภาพในการให้บริการวิจัยด้านโภชนาการทางคลินิกที่หลากหลาย นอกเหนือจากการทดสอบ GI เพื่อการวิจัยและพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ ตลอดจนการนำไปใช้ในการยื่นขอเลขทะเบียน อย. และการเป็นข้อมูลอ้างอิงผลต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์”รองอธิการบดี มช.กล่าว

นอกจากนี้  ศูนย์ GIC Thailand จะทำให้เกิดแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ นักวิจัยผู้ประกอบการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการนำความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยในมิติของ Food for NCDs Prevention มาร่วมกันพัฒนาบูรณาการศาสตร์ที่จะพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลกได้อีกทั้งยังเป็นการสร้าง Frontier Technology ให้กับประเทศในการเป็นผู้นำแห่งวิทยาการที่นำไปสู่การรับมือกับมิติการเปลี่ยนแปลงของโลก

สำหรับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่(มรภ.เชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการภายใต้โปรแกรม 25 แผนงานย่อยรายประเด็น “แผนงานพัฒนาระบบ ววน. ในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อดำเนินโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่การเป็นล้านนาเมืองสร้างสรรค์(Creative LANNA)

รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน สังคม ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ที่จะมีผลต่อประเทศ ส่วนโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน (The Development of Creative Smart Community driven by Innovation and Lifelong Learning University) เป็นการพลิกโฉมการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจและผู้ประกอบการโอทอป เพื่อพัฒนากำลังคนด้านเศรษฐกิจชุมชนอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการเป็นเมืองล้านนาสร้างสรรค์ (Creative LANNA) และเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) รองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC)

“โครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์นี้ฯ เราสนับสนุนให้ชุมชนโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพื่อให้เกิดความหลากหลายทั้งในงานหัตถกรรม สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว อาหาร ซึ่งจะส่งผลเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อเกิดย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในชุมชนซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการร่วมกับภาคีเครือข่ายขยายผลต่อไป”รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ 'วันครีษมายัน' กลางวันยาวสุดของปี พระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเกือบ 13 ชม.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็น “วันครีษมายัน”

มช. ครองอันดับที่ 1 ของประเทศ SDG 13 Climate Action SDG 4 Quality Education และ SDG 5 Gender Equality สะท้อนการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

มช. อันดับที่ 75 ของโลก ครองอันดับที่ 1 ของประเทศ 4 ปีซ้อนด้าน SDG 13 Climate Action และยังเป็นอันดับ 1 ของไทยด้าน SDG 4 Quality Education