ร้อนยาวถึงพฤษภาคม ภาคเหนือระอุสุดในประเทศ

เข้าเมษายนคนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดทั่วประเทศไทย ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือของไทยระอุที่สุด จ.ตาก วัดได้เกือบ 44 องศาเซลเซียส  อีก 2 เดือนกว่าจะพ้นหน้าร้อน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ร้อนปีนี้ลากยาวถึงเดือนพฤษภาคม นักวิชาการกรมอุตุนิยมวิทยาที่จับตาสภาพอากาศในไทยยืนยันวิกฤตอากาศร้อนในไทยแนวโน้มมีแต่อุณหภูมิจะขยับขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องจับตาและเตรียมรับมือผลกระทบมากมายที่จะเกิดขึ้นตามมา

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า  ช่วงวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 12-16 เมษายน 2567 มีเมฆเป็นส่วนมาก มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง มาพร้อมกับความรุนแรง ลมกรรโชกแรง พายุลูกเห็บ ผลจากอากาศร้อนจัดกับอากาศเย็นมาเจอกัน  ส่วนใหญ่บริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก และซีกตะวันตกของภาคเหนือ เนื่องจากมีกระแสลมตะวันตกพัดปกคลุม  หลังวันที่ 13 เมษายน อากาศจะเริ่มกลับมาร้อนอีกครั้ง  อุณหภูมิเฉลี่ย 39-42 องศาเซลเซียส เนื่องจากฝนกระจายไปไม่ทั่วถึง 

“ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน แนวโน้มสภาพอากาศร้อนขึ้น แต่อากาศร้อนสู้สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้ ส่วนที่คาดการณ์วันที่ 8 เมษายนจะร้อนที่สุดก่อนสงกรานต์ ปรากฎว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีอุณหภูมิสูงสุด 42.8 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่ร้อนที่สุด เพราะวันที่ 5 เมษายน อ.เมือง จ.ตาก เป็นจังหวัดที่ร้อนสุด 43.5 องศาเซลเซียส  ส่วนที่ 7 เมษายน วัดได้ 43.4 องศาเซลเซียส  ที่จ.แม่ฮ่องสอน ตากยังครองแชมป์อยู่  สภาพอากาศช่วงเดือนเมษายนจะมีอุณหภูมิสูงสุด ต้องระมัดระวังสุขภาพร่างกาย เทศกาลสงกรานต์ปีนี้เวลาเดินทางท่องเที่ยว บางพื้นที่มีฝนเหลืออยู่ในภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก  ต้องสังเกตุหากมีเมฆก่อตัวเหมือนจะเป็นฝนฟ้าคะนองควรหลีกเลี่ยง “ นายสมควร กล่าว

ส่วนอนาคตจังหวัดใดในไทยจะมีอากาศร้อนที่สุดนั้น ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ   กล่าวว่า   จังหวัดที่จะมีอุณหภูมิสูงในอนาคต  คือ ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่    ด้วยสภาพพื้นที่เป็นภูเขา มีแอ่งกะทะ ลมพัดไปพัดมาไม่ไปไหน หน้าร้อนรับแสงแดด สะสมความร้อนได้ดี เทียบกับพื้นที่อื่นๆ ที่ภูมิประเทศไม่เป็นแอ่งกะทะ เวลาลมพัดจะถ่ายเทอากาศได้ดีกว่า  เทียบกับความร้อนพื้นดินภาคกลางกับภาคเหนือ ฝนน้อย ความแห้งสะสมตั้งแต่ต้นปี จะร้อนกว่า อีสานบางช่วงมีฝนสภาพอากาศถึงไม่ร้อนเท่าภาคกลาง แต่ก็มีลมร้อนที่ทำให้สภาพอากาศทวีความรุนแรง แต่ถ้าเทียบจังหวัดชายทะเลอุณหภูมิจะไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส อยู่ที่ 37-38 องศาเซลเซียส  เพราะลมทะเลช่วยนำพาความชื้นเข้ามา การถ่ายเทอากาศดีกว่าพื้นดิน อนาคตจังหวัดชายทะเลจะอุณหภูมิเพิ่มขึ้นน้อยกว่า

“ อีกตัวการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น ซึ่งหลายคนมองข้ามไป ภาคเหนือสภาพอากาศร้อนจัด พีคอยู่เรื่อยๆ  เพราะจำนวนจุดความร้อน หรือ Hot Spot จำนวนมาก และจุดความร้อนอยู่นานเป็นสัปดาห์ ทำให้ร้อนต่อเนื่อง หน้าร้อนหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม แล้วช่วงเดือนเมษายนแสงอาทิตย์ส่องตรงบริเวณประเทศไทยตอนบนตั้งฉาก  ความเข้มของแสงมากกว่าปกติ ถ้าวันเมฆน้อย ยิ่งกระตุ้นให้สภาพอากาศร้อนจัด “  นายสมควร กล่าว

ส่วนที่มีนักวิชาการด้านภัยพิบัติคาดการณ์สุโขทัยจะเป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุดในอนาคตข้างหน้า  ทั้งจังหวัดอุณหภูมิ  49 องศาเซลเซียส อีก 60 ปีข้างหน้า นายสมควร กล่าวว่า เป็นการคาดการณ์จากการประเมินฉากทัศน์ต่างๆ ตามรายงาน IPCC โดยแบบจำลองคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ บางปีเป็นปรากฎการณ์ลานีญาอุณหภูมิจะไม่พีคขนาดนั้น  แต่ถ้าปีที่มีปรากฎการ์เอลนีโญแรงๆ  ก็มีความเป็นไปได้  เพราะสุโขทัยเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสภาพอากาศร้อนจัด ปัจจัยมาจากสภาวะทางอุตุนิยมวิทยา

สำหรับหน้าร้อนปี 2567 จะอยู่ช่วงในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม  สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. อุณหภูมิจะมากกว่า 40 องศาเซลเซียส  คาดการณ์สัปดาห์ที่สามเดือน พ.ค. ลมจะเปลี่ยนทิศ ลมตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาเป็นสัญญาณเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูฝน ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

เมื่อถามว่า ปีนี้ไทยจะเผชิญวิกฤตภัยแล้งหรือไม่ ผู้อำนวยการคนเดิมระบุปัจจุบันต้นทุนน้ำเหลือ 30%  คาดหวังฤดูฝนเติมมา 50% คาดการณ์ต้นฤดูฝนปริมาณฝนจะไม่มาก  ไม่สม่ำเสมอ  ฝนจะมาตกเดือน มิ.ย. – ก.ค. เหมือนล่าช้า แต่ก็เร็วกว่าปี 2566 ซึ่งฝนมาเดือน ส.ค. – ก.ย.  

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายสมควร กล่าวว่า แนวโน้มของสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ปรากฎการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไป อย่างเอลณีโญ ลานีญ่า เดิม 2-3 ปี ครั้ง แต่ตอนนี้ต้นปีเป็นเอลนีโญ่ กลางปีระดับกลาง ปลายปีอาจจะเป็นลานีญ่า มันผิดปกติ ปีเดียวมีครบ แน่นอนอุณหภูมิเฉลี่ยโลกต้องขยับสูงขึ้น อนาคตในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิจะขยับขึ้น 1.2-1.3 องศาเซลเซียส  ก็ถือว่าสูงแล้ว ถ้าประชาคมโลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงต่างๆ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นๆ

ส่วนที่มีคำถามว่า สภาพอากาศของไทยจะร้อนปรอทแตกแตะ 50 องศาเซลเซียสหรือไม่ เรื่องนี้ นายสมควรให้คำตอบว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงสุด 50 องศาเซลเซียส  แต่ถ้าเมียนมาร์ อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ  มีความเป็นไปได้ เพราะมีปัจจัยความร้อนจากทะเลทราย  ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 45-46 องศาเซลเซียส 

เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่ตามมา ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังฯ  อธิบายว่า กระทบเรื่องปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง การบริหารจัดการน้ำ โรคภัยที่คุกคามจากความร้อน  เช่น ฮีทสโตรกหรือลมแดด  การระบาดของโรคแมลง รวมถึงฝุ่นมลพิษอากาศเพิ่มขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่สูงยังกระทบภาคเกษตรกรรม ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหายไปจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ต้องมีนวัตกรรมและการศึกษาวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนร้อน  ทุกภาคส่วนต้องมีการเตรียมความพร้อม รับมือ  รวมถึงต้องปรับตัวสู้กับภาวะความร้อนที่รุนแรง ชุมชนเมืองกับชนบทผลกระทบแตกต่างกัน

“ การออกแบบเมืองรับมืออากาศร้อน ขณะที่อุณหภูมิธรรมชาติสูงขึ้น เราออกแบบเมืองให้เย็นลงได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่ อนาคตจะร้อนกว่านี้ ถ้าออกแบบไม่เหมาะสม จะยิ่งร้อนจัด สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น ควรมองระบบสำรองไฟฟ้ารับสภาพอากาศร้อนในอนาคตด้วย ปัจจุบันการพัฒนาสิ่งก่อสร้างในเมือง พื้นที่เปิดโล่งน้อยลง  สกายวอล์กที่พาดผ่านยาว ข้อดีอำนวยความสะดวกการเดินทาง แต่มีส่วนขวางทิศทางลม อากาศไม่สามารถไหลได้ตามธรรมชาติ ยังไม่รวมตึกสูงที่ขึ้นเต็มไปหมด การออกแบบตึกอาคารก็ช่วยให้เมืองเย็นขึ้นได้  “ นายสมควรกล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศเสนอแนะในท้ายควรมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง  นอกจากช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุณหภูมิความร้อนในเมือง ลดมลพิษอากาศ กรองฝุ่น PM2.5 ยังมีมีส่วนเพิ่มความชื้น เพิ่มปริมาณฝนให้เมือง รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ สระน้ำในเมือง   ซึ่งการเตรียมการรับมือสภาพอากาศร้อนในเมืองต้องวางแผนระยะยาวอย่างรอบด้าน  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหนือ-อีสาน อากาศเย็นตอนเช้า ภาคใต้ฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

กรมอุตุฯเตือน 9 จังหวัดภาคใต้มีฝนตกหนัก หวั่นเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 4 (304/2567) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567) มีใจความว่า

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 3 เตือนฝนถล่มภาคใต้ คลื่นลมอ่าวไทย-อันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 3 (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567)

ลมหนาวมาต่อเนื่อง กรมอุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน อุณหภูมิลดฮวบ 2-4 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 18 - 22 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้