ผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูที่เพิ่มมากขึ้น ในแง่ของการปลูกมันฝรั่งเป็นพืชอีกชนิดที่หนีผลกระทบไม่พ้น ง ด้วยเหตุนี้เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ผู้ผลิตมันฝรั่งยี่ห้อเลย์ ซึ่งใช้มันฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทย จึงได้เดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ทำงานร่วมกับ จีไอแซด(GIZ) และ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว ผ่านโครงการ “การจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยวิธีการปลูกข้าวมันฝรั่งและข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน” (Building a Climate Resilient Potato Supply Chain through a Whole-Farm Approach หรือ RePSC) เพื่อเสริมทักษะให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเรียนรู้แนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ
แปลงสาธิตการเพาะปลูกมันฝรั่งฟาร์มต้นแบบโดยใช้ “เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตในแปลงมันฝรั่งและการปลูกมันฝรั่งแบบยั่งยืน” ซึ่งอยู่ในพื้นที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ ที่เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ใช้ส่งเสริมเกษตรกรไทยในการปลูกมันฝรั่ง โดยปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 38,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม มีเกษตรกรรวมกันมากกว่า 5,800 คน ที่ได้รับการสนับสนุนการดูงานการจัดทำฟาร์มต้นแบบ (model farm) จำนวน 19 แห่ง ซึ่งเกษตรกรจะได้รับองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคนิค และเทคโนโลยีในการปลูกมันฝรั่งซึ่งเป็นพืชหลังนาที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี และมีความมั่นคง เนื่องจากมีการรับประกันราคารับซื้อที่แน่นอนภายใต้การทำข้อตกลงของระบบเกษตรพันธสัญญา
บุษบา วงศ์นภาไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวว่า กลยุทธ์ pep+ ที่บริษัทฯ ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งเสริมให้เกษตรกรที่เพาะปลูกมันฝรั่งประสบความสำเร็จในหลายมติ ทั้งการเพิ่มความสามารถ แนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตร ตลอดจนการพลิกโฉมการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ถือเป็นการสร้างแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คนและโลกผ่านผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างแบรนด์เลย์
ธนกฤต ศรีวิชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ในแต่ละมีความต้องใช้ปริมาณของมันฝรั่งประมาณ 1.2 แสนตันต่อปี โดยมีการส่งเสริมเกษตรผู้ปลูกมันฝรั่ง ทำให้สามารถใช้ผลผลิตจากในประเทศไทยได้กว่า 1 แสนตัน จากพื้นที่ทั้งหมดกว่า 30,000 ไร่ และนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 1 หมื่นตัน ทั้งนี้ความต้องการมันฝรั่งในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเป้าภายในปีพ.ศ.2567 ต้องผลิตมันฝรั่งให้ได้ 1.1 แสนตัน ดังนั้นจึงมีเป้าหมายในการขยายเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งให้เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ตัน รองรับการเติบโตที่เพิ่มของเลย์ขึ้น 8-10% ในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยลดอัตราการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง
ธนกฤต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันทำให้ปริมาณผลผลิตมันฝรั่งลดลง เพราะมันฝรั่งที่เป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์หลักเฉลี่ย 90% ดังนั้นมีการประเมินไว้ว่าอาจจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือการปรับตัวสูงของต้นทุนราวๆ 14-15 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จึงได้การเพิ่มผลผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรนำแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรแบบยั่งยืนมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการนำเข้า เช่น นำเทคโนโลยีดิจิทัล Agro Drone Scout หรือการใช้โดรนเพื่อประเมินโรคและตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง และ ListenField หรือการใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดเพื่อตรวจสอบสภาพดิน จัดการปัญหาศัตรูพืชและให้สารอาหารแก่พืชแบบผสมผสาน
และการติดตั้งระบบชลประทานน้ำหยด ซึ่งสามารถช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 40% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 25% ประหยัดต้นทุนแรงงาน 12% ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 6,000 ไร่ ทำให้เกษตรลดการใช้น้ำลงได้ถึง 50% โดยเกษตรกรในฟาร์มต้นแบบสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้รวมกว่า 1 แสนตันต่อปี มีรายได้มากกว่า1,500 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าพัฒนาสายพันธุ์มันฝรั่ง ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรจะปลูกมันฝรั่งสายพันธุ์ FL2215 ที่มีความแข็งแรง ต้านทานโรคดี เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น ลดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวลงจาก 120 วัน เหลือเพียง 90 วัน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตจาก 2 ตันต่อไร่ เป็น 3.0-3.2 ตันต่อไร่ ดังนั้นเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังผลผลิตเป็น 5 ตันต่อไร่ ภายใน 5 ปี และภายในปีพ.ศ.2573 จะขยายเครือข่ายเกษตรและสร้างกำไรจากการปลูกมันฝรั่งให้เพิ่มขึ้นประมาณ 15% พร้อมกับขับเคลื่อนการส่งเสริมเกษตรยั่งยืนในกลุ่มผลผลิตในธุรกิจเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ด้วย
ธนกฤต กล่าวอีกว่า เทคนิคการปรับปรุงดินและการให้ความรู้เรื่องศัตรูพืชและโรคคุณภาพของที่ดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ปรับความเป็นกรด-ด่างของดิน การใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคทางดิน ระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ระบบน้ำหยด และระบบให้น้ำตามร่องแบบสลับ การเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ นอกจากนี้การปลูกพืชเชิงเดี่ยวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป การส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนสำหรับข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพด จะช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
วินัย แสนสุข เกษตรกรต้นแบบในโครงการ RePSC กล่าวว่า มันฝรั่งที่ปลูกอยู่มีประมาณ 45 ไร่ จากเก็บเกี่ยวข้าวประมาณเดือนตุลาคม ก็จะมีการปรับปรุงหน้าดินเพื่อเตรียมปลูกมันฝรั่ง ซึ่งก็ได้มีการใช้มันฝรั่งสายพันธุ์ FL2215 ประมาณ 15-20 วันก็จะเริ่มเห็นต้นมันผลิออกมา แต่สิ่งที่ทำให้ผลผลิตดีขึ้นคือจากเมื่อก่อนที่ใช้เครื่องรดน้ำประมาณ 3-4 เครื่อง โดย 1 เครื่องต่อคนรดไปตามล่องมันฝรั่งประมาณ 3-4 วันถึงจะรดเสร็จ หลังเปลี่ยนมาเป็นระบบน้ำหยดลดการใช้กำลังคน และประหยัดเวลา แรงงานคน น้ำมันที่ใช้เพราะเพียงแค่ทำการเปิด-ปิดวาล์วน้ำเท่านั้น หลังจากนั้นก็ดูแลและใช้เวลาเพียง 90 วันก็จะได้มันฝรั่งที่มีคุณภาพ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกษตรฯ ผลักดันส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ ตอบรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิต มันฝรั่ง ปี 2566 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 40,732 ไร่