ประดับตกแต่ง'ขบวนเรือพระราชพิธี' มรดกวัฒนธรรมล้ำค่า

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของประเทศไทย กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตามโบราณราชประเพณี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยกำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567

เพื่อให้ขบวนเรือพระราชพิธีมีความยิ่งใหญ่ งดงาม และสมพระเกียรติ กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร (ศก.)  โดยสำนักช่างสิบหมู่และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซ่อมแซมเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ โดยจัดพิธีส่งมอบการซ่อมทำเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ จำนวน 16 ลำ  ให้ ศก. เริ่มประดับตกแต่ง  หลังจากที่อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ สำรวจและซ่อมทำเรือพระพระราชพิธี  โดยได้นำเรือพระที่นั่งรูปสัตว์ รวมถึงเรือในขบวนเรือพระราชพิธีลำอื่น ๆ มาซ่อมบำรุงด้วยวิธีศิลปะภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน การตอกหมันเรือ นำด้ายดิบมาตอกเข้าไปบริเวณร่องระหว่างไม้กระดานเรือให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเรือ จากนั้นได้ชันยาเรือผสมกับน้ำมันยางยาแนวในร่องและทาทั่วทั้งบริเวณนอกลำเรือป้องกันเพรียงกินไม้ที่จะทำให้เรือผุเร็ว  โดยมี นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้รับมอบ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน

พนมบุตร จันทรโชติ  กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ตามโบราณราชประเพณีมีการใช้เรือพระที่นั่งเพื่อประกอบขบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งได้มีการซ่อมเรือพระราชพิธีให้มีความสวยงาม สมพระเกียรติ โดยดำเนินการแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน กองทัพเรือซ่อมบำรุงโครงสร้าง ขณะที่ ศก. ดูแลงานศิลปกรรมประดับตกแต่งเรือ  เป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์  นอกจากนี้มีเรือรูปสัตว์ และเรือพิฆาต  ในขั้นตอนการซ่อมบำรุงกองทัพเรือและกรมศิลปากรได้หล่อหลอมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน

“ ขณะนี้ขั้นตอนซ่อมบำรุงโครงสร้างกองทัพเรือได้ดำเนินการเสร็จแล้ว จึงทำการส่งมอบให้กรมศิลปากรเพื่อดำเนินการประดับตกแต่งตัวเรือ ซึ่งเรือพระราชพิธีแต่ละลำมีความวิจิตรบรรจงจากการลงรักปิดทอง ประดับกระจกเกรียบกระจกสี การดำเนินงานจะใช้ 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักช่างสิบหมู่ จะนำช่างแกะ ช่างเขียน ช่างประณีตศิลป์  เข้าทำงาน ส่วนสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะนำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์มาดูการเตรียมผิวรองรับการประดับตกแต่งและสภาพของเรือ  การดำเนินการเริ่มตั้งแต่เมษายน 2567  คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 30 มิถุนายน 2567  เพื่อเตรียมใช้ในงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเตรียมรองรับพระราชพิธีใหญ่ เสด็จฯ พยุหยาตราทางชลมารคถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม การซ่อมเน้นรูปแบบศิลปะที่คงความเป็นของแท้ดั้งเดิมและความงดงาม ซึ่งเป็นงานที่อาศัยทักษะชั้นสูงและวิทยาศาสตร์ผสมผสานกัน เชื่อว่าจะความงามของกระบวนเรือพระราชพิธีจะตราตรึงชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ระหว่างการดำเนินการซ่อมเรือพระราชพิธี สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติจะบันทึกขั้นตอนการดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์นี้   “ นายพนมบุตร กล่าว

โอกาสนี้ อธิบดี ศก.  เชิญชวนชมเรือพระราชพิธี พร้อมระบุว่า เรือพระราชพิธีที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าและเป็นพิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธีหนึ่งเดียวในโลก ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีขบวนเรือพระราชพิธี ไม่มีประเทศไหนในโลกที่อนุรักษ์ สืบทอดเรือพระราชพิธีให้คงความงามผ่านวันเวลามากว่า 100 ปี ขอเชิญชวนประชาชนเข้าชมเรือพระราชพิธี ซึ่งระหว่างการดำเนินงานซ่อมเรือของช่างสิบหมู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี จะเปิดบริการเข้าชมตามปกติ 

สำหรับการดำเนินการประดับตกแต่งตัวเรือ อัจฉริยา บุญสุข ผู้อำนวยการกลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า  หลังการรับมอบเรือพระราชพิธีจะดำเนินการสำรวจเพื่อเตรียมตกแต่งเรือ โดยจะมีผู้ปฏิบัติหน้าที่กว่า  60 คน ทั้งการปิดทอง วาดลวดลายศิลปกรรม ส่วนที่แตกหักจะนำไม้มาเสริมและปิดทองประดับกระจกเกรียบ กระจกสี ส่วนพื้นท้องเรือที่ซ่อมแล้วจะเขียนลายรดน้ำตามลวดลายดั้งเดิมที่ดำเนินการคัดลอกไว้แล้ว ในการประดับตกแต่งจะประกอบด้วยช่างแกะ ทำหน้าที่แกะลวดลายศิลปกรรมบนโขนเรือและลำเรือ จากนั้นช่างลงรักปิดทองประดับกระจกจะเข้าดำเนินงานต่อ  หลังทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ช่างเขียนจะเข้าเก็บงานให้สมบูรณ์  ส่วนหลังคาเรือพระราชพิธีจะเป็นผ้าลายทองแผ่ลวดหนึ่งในงานประณีตศิลป์ ลวดลายคงเดิม แต่ปรับโครงสร้างใหม่ ทุกงานมีความยาก ต้องใช้ความประณีตและแข่งกับเวลา ส่วนเรือรูปสัตว์จะเน้นงานเขียนมากกว่างานแกะ

“  เรือพระราชพิธีหลายลำกระจกเสื่อมสภาพด้วยสภาพอากาศ รวมถึงตัวเรือที่เป็นไม้จะยืดหดตามสภาพ ทำให้ลวดลายชำรุดเสียหาย อย่างพู่ห้อยประดับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์จะต้องมีการประดับกระจกแก้วใหม่ ส่วนพวงแก้วคริสตัลต้องสำรวจ หากแตกหักจะต้องเปลี่ยน นอกจากนี้ หลังจากซ้อมขบวนเรือจะเกิดความชำรุด เพราะกลางแม่น้ำลมแรง แก้วกระทบกันแตกหัก ต้องสำรวจเป็นระยะ ก่อนจะมีพระราชพิธีจริง  ช่างสิบหมู่จะรวมพลังประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีให้สวยงามเพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมของประเทศ และสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   “ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ กล่าว

ตามแผนการซ่อมบำรุงเรือพระราชพิธี 16 ลำ แยกเป็นเรือพระที่นั่ง  4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ เรือรูปสัตว์  10 ลำประกอบด้วย เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีล้างทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี และเรือพิฆาต  2 ลำ คือเรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์

สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ใช้เรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวม 2,200 นาย และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 จะเป็นอีกบันทึกประวัติศาสตร์ล้ำค่า ประชาชนสามารถชมริ้วขบวนเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทร. เตรียมจัดเสวนาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ปม MOU 44 หวังสื่อสารให้สังคมเข้าใจ

พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี เมื่อถามว่า อดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงกรณี MOU 44

บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก

วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย

'ภูมิธรรม' ไม่ขีดเส้นตาย 'ทัพเรือ' ชี้แจงเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำเป็นของจีน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเรือดำน้ำ หลังสั่งการให้กองทัพเรือไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ CHD620 ของจีน และการขยายสัญญา 1,217 วัน

'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี

กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย 

ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ

ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา  ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์