ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)
ร่างกฎหมายระหว่างประเทศนี้ เตรียมจะนำมาเจรจาในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 4 (INC-4) ที่เมืองออตตาว่า ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นการเจรจาก่อนเจรจารอบสุดท้าย และเป็นที่คาดหวังว่า เอกสารร่างสนธิสัญญาจะต้องแล้วเสร็จ และกลายเป็นมาตรการทางกฎหมายฉบับแรกของโลกที่จะลดภัยคุกคามพลาสติก ตลอดจนไมโครพลาสติกที่พบแล้วในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงลดภาวะโลกเดือด เพราะการผลิตพลาสติกเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มีความเคลื่อนไหวในบ้านเรา มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) จัดงาน “สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และประกาศจุดยืนให้มาตราการทางกฎหมายฉบับนี้คำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมลพิษพลาสติกเพื่อโลกที่ยั่งยืน
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในระดับโลกมีการผลักดันการแก้ไขภาคสมัครใจมาก่อนแล้ว คือ Ellen MacArthur Foundation ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมหสประชาชาติทำโครงการ Global Commitment ผลักดันให้แบรนด์ ห้างค้าปลีกรายใหญ่ รัฐบาลประเทศต่างมาตั้งเป้าร่วมกันว่าภายในปี 2025 จะลดการใช้พลาสติกใหม่ เพิ่มพลาสติกรีไซเคิล ปรับบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำได้ ซึ่งเริ่มมาตั้งปี 2018 จนถึงปี 2023 มีความคืบหน้า แต่สุดท้ายทั่วโลกยังผลิตพลาสติกใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งที่มาให้คำมั่นร่วมพันองค์กร ในรายงาน 5 ปีระบุว่า ยังเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้อย่างแท้จริง ข้อสรุปรายงานบอกว่าต้องมาช่วยกันผลักดันให้สินธิสัญญานี้เกิดขึ้น และมีการออกกฎระเบียบในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
“ อุปสรรคสำคัญ สิ่งท้าทายหลัก คือ การส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ ถ้าภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ส่งเสิมการ reuse refill แม้ภาคธุรกิจอยากจะทำ ก็ทำไม่ค่อยได้ ส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ช่วยรักษาคุณภาพอาหารหรือเครื่องสำอางค์ยังไม่มีทางออกที่จะปรับวัสดุให้คุ้มค่าต่อต้นทุน และระบบจัดเก็บมารีไซเคิลมีปัญหามาก “ ดร.สุจิตรา กล่าว
สำหรับประเทศไทย นักวิจัยเชี่ยวชาญจุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกเริ่มเป็นประเด็นของโลกในปี 2015 จากบทตีพิมพ์ที่จัดอันดับประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มเต้นขึ้นมา มีมาตรการ โรดแมป และแผนปฏิบัติการขึ้นมา แต่การห้ามใช้พลาสติก 7 ชนิด ของไทย ไม่ได้มีกฏหมายรองรับ เป็นการเลิกใช้แบบสมัครใจ ขอร้องให้เลิกการใช้ เลิกการผลิต ซึ่งทางธุรกิจทำไม่ได้ต้องอาศัยกฎหมาย ยกเว้นการห้ามใช้ไมโครบีด ซึ่งสำนักคณะกรรมการงานอาหารและยา (อย.) มี พ.ร.บ.เครื่องสำอางอยู่แล้ว แต่ไม่มีระบบติดตามตรวจสอบว่า เครื่องสำอางในท้องตลาดมีส่วนผสมของไมโครบีดหรือไม่ โควิดทำให้การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น ระดับโลกยังแก้ไขไม่ได้ แผนปฏิบัติการของไทยที่ไม่มีกฎหมายรองรับจะแก้ไขอะไรได้ ส่วนกฎหมายขยะของไทยยังไม่พร้อม เน้นแค่ปลายทาง ผู้บริโภคที่สร้างขยะ แต่ไม่ไปถึงต้นทางการผลิต กฎหมายบ้านเราทิ้งภาระขยะทุกประเภทที่ไม่ใช่ขยะจากโรงงาน ทิ้งไว้ให้กับท้องถิ่น และไม่มีกฎหมายให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนเงินจ่ายค่าเก็บขนขยะต่ำมาก คนไม่อยากจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม
ใประเทศที่จัดการขยะได้ดี ดร.สุจิตรา ระบุจะมีกลไกกฎหมายระบบความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR) ,ระบบมัดจำคืนเงิน (DRS), ภาษีเตาเผา ภาษี Landfill และเก็บค่าขยะตามปริมาณที่ทิ้ง ซึ่งประเทศไทยไม่มี 4 เครื่องมือเชิงนโยบายนี้ ต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงานร่างกฎหมาย CE/EPR บรรจุภัณฑ์ ตั้งเป้าประกาศใช้ปี 2569 และร่างกฏหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2570 แต่ยังไม่ได้นำสนธิสัญญาพลาสติกโลกมาปรับหรือบรรจุหลักการที่เข้มข้นในกฎหมาย อาจต้องทบทวนใหม่
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า วงจรพลาสติกที่ก่อปัญหามลพิษ ประเทศไทยมีมลพิษพลาสติกครบทุกอย่างและสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมาไป โดยเฉพาะ จ.ระยอง ในปี 2561 สหประชาติเปิดแคมเปญระดับโลกขยะในทะเล ทั่วโลกต้องลดปริมาณขยะพลาสติก เพื่อรักษาสิ่งมีชีวิตในทะเล แต่ก็ไม่สามารถทำให้ทั่วโลกลดขยะพลาสติกลงได้และไม่ลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเล นี่เป็นต้นทางจะชักชวนด้วยระบบสมัครใจไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีกฎหมายระดับโลกเข้ามาคุม เป็นที่มาผลักดันสนธิสัญญาพลาสติก
“ ประเทศอุตสาหกรรม อเมริกา ยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มีระบบคัดแยกขยะที่ดีมาก ประเทศของเขาสะอาด และส่งออกขยะไปประเทศอื่น เมื่อจีนห้าม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ปี 2561 เกิดเหตุการณ์จับกุมโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่มีการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก ปีนั้นปีเดียวไทยนำเข้าขยะพลาสติกที่เป็นขยะสกปรกด้วยสูงถึง 500,000 ตัน จากก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 50,000-60,000 ตัน อีกทั้งโรงงานรีไซเคิลของจีนขยายในไทยเยอะมาก จากการวิจัยการนำเข้า-ส่งออกพลาสติก ตั้งแต่ปี 2560-2564 มี 80 ประเทศส่งขยะพลาสติกมาที่ไทย “ เพ็ญโฉมเผยมลพิษพลาสติก
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่อว่า การรีไซเคิลอันตรายมาก เพราะมีกระบวนการปล่อยมลพิษสู่ดิน น้ำ อากาศ สูงมาก ขอท้าทายรัฐบาลไทยจะแก้ปัญหา PM2.5 ให้สำเร็จ ต้องจัดการโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทที่เป็นแหล่งกำเนิด ณ วันนี้เราพูดถึงแต่เผาในที่โล่ง หมอกควันข้ามพรมแดน โรงงานรีไซเคิลเป็นแหล่งหนึ่งที่มีการปล่อย PM 2.5 สูงที่สุด รองจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงปูน แต่รัฐบาลไม่อยากพูดถึง มลพิษอากาศที่เกิดจากอุตสาหกรรมอันตรายกว่า PM2.5 จากภาคเกษตรและไฟป่ามาก เพราะมีสารเคมีหลายชนิด ส่วนหนึ่งมาจากการเผาขยะพลาสติกหลายชนิดระดับพันชนิด ปล่อยสู่อากาศในรูปฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยังไม่รวมถึงเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการรีไซเคิล ยิ่งขยายโรงงานรีไซเคิลไม่ว่าโรงงานรีไซเคิลพลาสติก โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันมีมากขึ้นในไทย จะได้รับมลพิษหลากหลายมาก โดยเฉพาะขี้เถ้าจากโรงงานรีไซเคิล
ไทยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกผิดทาง เพ็ญโฉมวิพากษ์การเอาขยะพลาสติกไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เป็นความผิดพลาดมหันต์ เพราะเป็นแหล่งปล่อยไดออกซินโดยตรง ตอนนี้มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอีก 70 แห่ง และมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มด้วย อนาคตที่น่ากลัวมาก คือ มลพิษอากาศ ไม่ใช่แค่ PM2.5 รัฐบาลเข้าใจว่าเป็นวิธีกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพที่สุด หรือรื้อขยะในหลุมฝังกลบมาทำ RDF ทางหนึ่งรัฐบอกส่งเสริมการรีไซเคิล สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่อีกด้านรัฐบาลเร่งสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งมันสวนทางกัน ทำให้สิ่งแวดล้อมไทยก้าวลงสู่เหว
“ สารเคมีที่ใช้ในพลาสติกจากการสัมผัสตรง เป็นชีวิตบนความเสี่ยง อันตรายมาก หลายชนิดเป็นสารก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาทของเด็ก ทั้งหมดนี้คือรูปแบบมลพิษจากพลาสติกที่สังคมไทยไม่ตระหนัก เราพูดแต่ขยะๆ ยังมีอีกหลายมุม ต้องพลิกขึ้นมาดูให้แจ่มแจ้ง แล้วมาดูกันว่าสนธิสัญญาพลาติกจะตอบโจทย์ปัญหาที่เรากำลังเผชิญหรือไม่ รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลไทย และอิทธิพลของกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมีผลต่อการเกิดขึ้นของสนธิสัญญาพลาสติก ” เพ็ญโฉมกล่าว
ในวงเสวนา พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เข้มแข็ง และมุ่งไปที่การลดการผลิตพลาสติกอย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 เพื่อให้เรายังคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อกรกับปัญหามลพิษพลาสติกในเวทีเจรจาที่กำลังจะมีขึ้น โดยการให้คำมั่นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเปราะบาง โดยยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งยังสามารถเริ่มกำหนดนโยบายช่วยลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในประเทศได้ โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ( PPP) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตพลาสติกตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้า การรับคืน การสร้างระบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
หลังเสวนาองค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กรอ่านแถลงการณ์ต่อการเจรจาจัดตั้ง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” พร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยร่วมมือกับประเทศที่เข้าร่วมการเจรจาเพื่อร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ทะเยอทะยาน มีการตั้งกรอบเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน มีกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน โปร่งใส และเป็นธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาท และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย 10 ประการอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก
ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน
กฎหมาย PRTR เตรียมเข้าสภาฯ เปิดข้อมูลมลพิษ
ร่าง พรบ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. … หรือ ที่เรียกว่า “กฎหมาย PRTR” จ่อคิวเข้าสภาผู้แทนราษฎรเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนหน้านี้ หลากหลายองค์กรทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาชนต่างพยายามขับเคลื่อนกฎหมาย PRTR ในแบบฉบับของแต่ละส่วนมาอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การเปิดเวทีเสวนา “สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี