Thai-UK World-class University Consortium เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร โดยบริติช เคานซิล ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สนับสนุนความต้องการของประเทศไทย”ในการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกและพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีความก้าวหน้าของระบบการเรียนการสอน การวิจัยและระบบบริหารมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ” ผ่านการพัฒนาบุคลากรร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสนับสนุนการปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยมุ่งเน้นที่ความท้าทายร่วมกันของแต่ละมหาวิทยาลัยด้านคุณภาพ ความเท่าเทียมและความเป็นสากล
ล่าสุดบริติช เคาซิลและอว. ได้เดินหน้าสานต่อโครงการ Thai-UK World-class University Consortium ในปีที่ 4 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมทางด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาผ่านการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติและปฏิรูปแนวทางการบริหารการเรียนการสอนเชิงวิชาการ และวิจัยขั้นสูง ตลอดจนพัฒนาสถาบันอย่างเต็มรูปแบบมุ่งสู่ Ranking 100 อันดับมหาวิทยาลัยโลกในอนาคต พร้อมยกระดับการศึกษานำไปสู่การผลิตบัณทิตคุณภาพสูงที่ถือเป็นกลไกลสําคัญในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคม
โดยในปี พ.ศ.2567 มี 7 สถาบันอุดมศึกษาของไทย ใน 15 สาขาวิชาที่เข้าร่วมโครงการที่มุ่งเน้นใน 7 เรื่องหลัก คือ เกษตรกรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรมเคมี สังคม ภูมิศาสตร์ ไลฟ์สไตล์ และแพทยศาสตร์ ประกอบด้วย 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ 2 โครงการ สาขาภูมิศาสตร์ สาขาพัฒนศาสตร์ 2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และป่าไม้ 3.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 1 สาขา ได้แก่ วิชาแพทยศาสตร์ 4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 5. มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ และสาขาพัฒนศาสตร์ 6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาพัฒนาศาสตร์ 7. มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ อว. กล่าวว่า ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ที่มีมหาวิยาลัยอยู่ในโครงการกว่า 100 แห่ง เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทย ดังนั้นกลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก จึงเกิดความร่วมในการดำเนินโครงการ Thai-UK เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างอาจารย์ นิสิต ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่มองว่า มหาวิทยาลัยไทยเปรียบเหมือนหัวรถจักรในการขับเคลื่อนประเทศ
“อย่างไรก็ตามในการดำเนินโครงการ Thai-UK ในปีที่ 4 จะต้องมีการประชุมเกี่ยวกับแนวทางนโยบายของรัฐที่มีความมุ่งมั่นในการผลักดันซอฟพาวเวอร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI หรือการพัฒนาด้านพลังงาน EV ร่วมถึงทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ สมรรถนะในเชิงการแข่งขันของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติ นำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อเป็นบุคลากรชั้นแนวหน้าที่พร้อมขับเคลื่อนและสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติในอนาคตต่อไป” ผอ.อว. กล่าว
ผอ.อว. กล่าวต่อว่า ความสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปีของโครงการ Thai-UK ได้สะท้อนผ่าน 23 โครงการความร่วมมือระหว่าง 7 มหาวิทยาลัยไทยและ 14 มหาวิทยาลัยสหราชอาณาจักร อาทิ โครงการระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ร่วมกับ University College London จัดการศึกษาระดับหลังปริญญาด้านการแพทย์เฉพาะทางด้านการได้ยิน และการทรงตัวได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ส่งผลให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมของภูมิภาค เป็นการดึงดูดแพทย์จากประเทศอื่น ๆ เข้ามาเรียนที่จุฬา ฯ นอกจากนั้นความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการรักษาผู้ป่วยขั้นสูงในด้านการได้ยินและการทรงตัว รวมทั้งการดูแลตรวจคัดกรองด้วยตนเองผ่าน Mobile Application โดยปัจจุบันได้เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีสำหรับทุกคน
ด้านรศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล กล่าวเสริมถึงโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยว่า ได้จัดแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยขั้นสูงสู่ระดับนานาชาติ อาทิ ม.จุฬาฯ ม.เกษตรฯ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ฯลฯ 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ อาทิ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ฯลฯ 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการเข้าถึงการร่วมมือ อาทิ ม.กาฬสินธุ์ ม.พะเยา ม.นครพนม ฯลฯ 4.กลุ่มพัฒนาด้านหลักศาสนาเพื่อเสริมสร้างจริยธรรมและปัญญา ม.มหาจุฬาลงกรณ์ฯ ม.มหามงกุฎฯ เป็นต้น และ 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาทักษะเฉพาะด้านเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะทาง อาทิ ม.ราชภัฎนครปฐม ม.ราชภัฎสวนสุนันทา ม.ราชภัฎเพชรบุรี ฯลฯ โดยทั้ง 5 กลุ่มจะมีความเชื่อมโยงกันในการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาที่เฉพาะด้านมากยิ่งขึ้นอย่างกลุ่มที่ 3 ก็จะเชื่อมโยงกับกลุ่มที่ 1 และ 2 ในการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาในพื้นที่ เป็นต้น
การผลักดันไทยไปสู่ระดับท็อปของโลก รศ.ดร.รัฐชาติ แสดงความเห็นว่า ในการวัดและประเมินผลสำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน่วยงานกลางที่จะวัดทุกมิติ แต่จะมีการวัดเฉพาะเจาะจงในแต่ละมิติ ดังนั้นในการจัดอันดับ เช่น Times Higher Education (THE) ก็จะวัดในมิติของมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยและนวัตกรรม หรือ Quacquarelli Symonds(QS) ก็จะวัดในมิติการเรียนการสอน สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์ เป็นการวัดคุณภาพของนักศึกษา ดังนั้นการปรับโครงสร้างของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยจะไปสู่ระดับโลกได้จำเป็นจะต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อแสดงถึงการยอมรับในศักยภาพทางการศึกษา อย่างในกลุ่มที่ 1 ที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญในงานวิจัย ซึ่งจะช่วยผลักดันอันใน THE โดยต้องมีงานวิจัย 1,000 ชิ้นต่อปีเพื่อให้ตรงกับเกณฑ์วัดผล แต่มหาวิทยาลัยในไทยไม่ใช่ไม่เก่ง หรือเด็กไม่มีศักยภาพ เพียงอาจจะไม่เร็วเท่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ในต่างประเทศเมื่อเทียบกับหลายๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ทุน ภาษา และความร่วมมือกับต่างประเทศ ที่ยังมีน้อย
“ในขณะที่มหาวิทยาลัยในเวียดนามกระโดดแซงหน้าไทยในการจัดอันดับของ THE มาอยู่อันดับประมาณ 200 กว่าๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงรั้งอยู่ที่ 800 ดังนั้นโครงการฯจะช่วยปรับโครงสร้างมหาวิทยาลัยในการผลักดันในการแข่งขันสู่นานาชาติ ซึ่งรัฐจะต้องดันให้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการจัดอันดับในอาเซียน อันดับที่ 1 ยังคงเป็นมหาวิยาลัยสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่ลงทุนมากกับคน รองลงมาคือประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย จากการพัฒนาของทั้ง 3 ประเทศทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศตื่นตัวและเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับรองมาเลเซีย ดังนั้นอาจจะหาความเก่งเฉพาะทางผลักดันให้ศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างในการดึงมหาวิทยาลัยอื่นๆในไทยเข้าสู่อันดับในอาเซียนด้วย” รศ.ดร.รัฐชาติ กล่าว
มร.แดนนี ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่าโครงการ Thai-UK ในปีที่ 4 จะดึงเอาสุดยอดความรู้และความเชี่ยวชาญของไทยและสหราชอาณาจักร ทั้งในมุมของนักวิทยาศาสตร์วิจัย นักการศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักรเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเกษตรแบบยั่งยืน สันติภาพและความปลอดภัย รวมไปถึงด้านสุขภาพและสาธารณสุข ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรฐกิจ รวมไปถึงสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจระหว่างกันของคนไทยและสหราชอาณาจักร
ส่วนในการพัฒนาการเรียนการสอนศาสตราจารย์ ดร.ศุภจิตรา ชัชวาลย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ดำเนินงานความร่วมมือร่วมกับ The University of Liverpool ได้กล่าวเสริมถึงประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการ ฯ ว่าได้ช่วยให้เกิดการพัฒนางานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยและคณาจารย์จากทั้งสองมหาวิทยาลัย โดยเป็นการใช้ความชำนาญของบุคลากรทั้งสองฝ่ายในการทำโจทย์วิจัยที่มีความสนใจร่วมกัน ทำให้ได้ผลงานวิจัยที่มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการพัฒนาด้านการวิจัยดังกล่าวมี นิสิตเข้าร่วมในโครงการผ่านหลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญา Dual PhD Programme ทำให้เกิดการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ร่วมด้วยในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นกำลังคนรุ่นใหม่ในด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยในหลักสูตรได้เริ่มมีการส่งผลงานตีพิมพ์ร่วมกันกับนักวิจัยของสหราชอาณาจักรด้วย .