สปสช. ให้สิทธิ์ตรวจโรคหยุดหายใจขณะหลับ และรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก 

31มีนาคม 2567- นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบข้อเสนอการตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) และการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท

 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีที่มาจากข้อเสนอในโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบบัตรทอง 30 บาท หรือ ยูซีบีพี (UCBP) ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งได้มีการศึกษาเพิ่มเติมจนกระทั่งมาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2566 โดยพบว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย ไม่ว่าจะเพศชายหรือเพศหญิง ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นอาการปกติของร่างกายจนอาจละเลยไป ทั้งที่แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการที่กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนและยุบตัวขณะหลับ ส่งผลให้ลมหายใจผ่านได้น้อย หรือผ่านไม่ได้เลย ทำให้เลือดมีออกซิเจนน้อย และมีคาร์บอนไดออกไซต์เกินกว่าปกติ โดยเมื่อเข้าสู่สภาวะดังกล่าวสมองจะเกิดการตื่นตัวโดยอัตโนมัติเพราะต้องปรับการหายใจ จนไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ

“พอตื่นนอนก็จะมีอาการคล้ายคนอดนอน หรือนอนไม่เต็มอิ่ม แม้จะได้นอนอย่างเต็มที่ สมาธิความจำ และสมรรถภาพการทำงานก็จะลดลง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง ที่สำคัญคืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือโรคอื่นๆ ที่มีความร้ายแรงได้ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในวันนี้บอร์ด สปสช. จึงมีมติเห็นชอบให้มีการตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Sleep test) และการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกนี้” ประธานบอร์ด สปสช. ระบุ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อบ่งชี้ในการรับบริการคือ 1. มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และ 2. มีข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจการนอนหลับอย่างชัดเจน ดังนี้ มีปัญหาการนอน มีคะแนนประเมินความเสี่ยง OSA สูง หรือแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยผู้ที่จะได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอาการแรงดันบวก จะต้องมีภาวะความรุนแรงของโรคในระดับมากหรือปานกลาง และเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย พร้อมทั้งผ่านการทดลองการยอมรับการใช้เครื่อง CPAP ตามที่กำหนด

ในส่วนของงบประมาณ คาดว่าในแต่ละปีจะใช้งบประมาณ 84 ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ 2567 หากสามารถเริ่มให้บริการได้จะใช้งบประมาณราว 42 ล้านบาท โดยหลังจากที่บอร์ด สปสช. มีมตินี้แล้ว ทาง สปสช. ก็จะดำเนินการต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการก่อน เช่น จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายสำหรับหน่วยบริการ การประสานหน่วยบริการ รวมทั้งระบบรองรับการดำเนินการ ตามมติบอร์ด สปสช. ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยังต้องใช้เวลาดำเนินการ

“ทั้งนี้หากทุกอย่างมีความพร้อมในการให้บริการแล้ว ทาง สปสช. จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอีกครั้ง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'

ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย

รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย