เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 นายเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรมาเยือนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ให้การต้อนรับนายเดวิด คาเมรอน เข้าเยี่ยมชมงานวิจัยและนวัตกรรมของจุฬาฯ โดยทางจุฬาฯได้นำเสนอนวัตกรรม ได้แก่
Vaccine security and self-reliance in south east Asia นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลงานวิจัยโดย Tuck Seng Wong และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสนองความจำเป็นในการส่งเสริมการมีวัคซีนที่เพียงพอและสามารถผลิตเองได้ และเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของโรคในอนาคต แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเป็นผู้นำระดับโลกด้านการผลิตวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยการผลิตวัคซีน UK-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีน HXP-GPOVac ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองคลินิก วัคซีน ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีนและพัฒนาการแพทย์ (Chula VRC) นอกจากนี้ยังมีวัคซีนจุฬาฯ -ใบยา โดยใบยาไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตที่สกัดจากใบพืช ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการวิจัยวัคซีน
นวัตกรรมแอปพลิเคชัน ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด EarTest by Eartone เป็นแอปพลิเคชันตรวจการได้ยินด้วยคำพูดภาษาไทย นวัตกรรมที่บ่งชี้ความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม โดย อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก โครงการ Transforming Systems through Partnership ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ผ่านRoyal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ และ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
ผลงานนี้เป็นการปฏิวัติวิธีการตรวจการได้ยินด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ถึงระดับการแปลผลสมอง ช่วยให้มีการวินิจฉัยและป้องกันโรคได้เร็วขึ้น โดยให้ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งบน iOS และ Android แอปพลิเคชันนี้จึงเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นวัตกรรมกะโหลก ใบหน้าและขากรรไกรเทียม ผลิตด้วยเทคโนโลยี 3D Printing จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท Meticuly นำโดย ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร จากภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนานวัตกรรมกระดูกเทียม 3D Printing สำหรับกะโหลก ใบหน้า และขากรรไกร มีกระบวนการผลิตที่เน้นความแม่นยำสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของคนไข้ ซึ่งได้รับการยอมรับใช้งานจริงกว่า 100 ราย และผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
นวัตกรรมหน้ากาก CUre Air Sure ตอบโจทย์ป้องกันทุกมลพิษ โดย ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ และทีมนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นวัตกรรมนี้เป็นความร่วมมือกับ SCG Packaging และอุตสาหกรรมชั้นนำ เพื่อตอบสนองวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัยในไทย ด้วยการกรองอนุภาค 0.1 micron ได้ถึง 99% เทียบเท่าหน้ากาก N95 นอกจากคุณสมบัติพิเศษในการกรองแล้ว หน้ากากยังออกแบบให้ใส่สบาย ลดการระคายเคือง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม CUre Air Sure ยังได้รับรางวัล Good Design Award 2021 จากประเทศญี่ปุ่น สร้างความภาคภูมิใจในการนำนวัตกรรมไทยสู่เวทีโลก
นวัตกรรมเส้นก๋วยเตี๋ยวจากไข่ขาว 100% พัฒนาโดย ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ผ่านการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub ในช่วงแรก หลังจากนั้นได้ทุนจากบพข.เพื่อเข้าสู่ตลาดต่อไป โดยเส้นก๋วยเตี๋ยวจากไข่ขาวให้พลังงานต่ำ ไร้แป้ง ไร้กลูเตน และไม่ใส่สารกันเสีย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต เบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก รสชาติอร่อย ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ
นวัตกรรม Garden Fresh ถุงยืดอายุผักผลไม้สด พัฒนาโดย ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สามารถยืดอายุผักผลไม้ได้ 2 – 7 เท่า รักษาความสด คุณภาพของผักผลไม้ได้นานกว่า ผักผลไม้มีกลิ่น รส และคุณค่าทางอาหารเหมือนเดิม โดยพลาสติกสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้
นวัตกรรมเอนไซม์ล้างผักผลไม้ M-Green จาก Biom design นับเป็นผลิตภัณฑ์เจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยที่สามารถย่อยสลายยาฆ่าแมลงได้ถึง 80% ด้วยความปลอดภัยสูงสุด โดย ศ.ดร.อลิสา วังใน ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้นำในการคิดค้นเอนไซม์ธรรมชาติภายใต้แนวคิด Sustainability farm to save food
GISTDA Faraday Dragon project สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและอวกาศ (GISTDA) ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับโครงการ Faraday Dragon ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง In-Space Missions และหน่วยงานอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อการปล่อยดาวเทียมแบบร่วม (Rideshare) ที่มีกำหนดการปล่อยในเดือนตุลาคม ปี 2026 การร่วมมือในระดับภูมิภาคนี้จะช่วยเสริมสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาโครงการดาวเทียมร่วมกันในอนาคต และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในด้านเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจอวกาศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand
จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ
จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ