'CaregiverThai.com 'เว็บไซต์รับมือ'ความเครียด'      ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

นับตั้งแต่การเปิดตัวเว็บไซต์ CaregiverThai.com ในปี2565 โดยสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญและเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเคียงข้างผู้ดูแลให้ความรู้และพลังใจในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม พัฒนาตัวผู้ดูแลในครอบครัวเป็นระดับมืออาชีพด้วยความรู้และพลังใจจากเครือข่ายผู้ดูแลของผู้ดูแล เพราะผู้ดูแลที่มีคุณภาพเป็นหัวใจที่ช่วยชะลออาการสมองเสื่อม และทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทีมงานคัดเนื้อหาที่รวบรวมไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแล โดยจะเพิ่มเนื้อหาใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง และเป็นสื่อกลางสร้างชุมชนที่เคียงข้างผู้ดูแลช่วยแบ่งปันและสนับสนุนกันและกัน

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ CaregiverThai.com กว่า 85,000 วิวในปีที่ผ่านมา และจากการศึกษาพบสถิติการเข้าใช้งาน ผู้ดูแลติดตามเนื้อหามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ผลข้างเคียงการใช้ยารักษาสมองเสื่อม สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการ และแบบประเมินความเครียดของผู้ดูแล โดยเว็บไซต์ CaregiverThai.com พร้อมรับฟังความต้องการจากผู้ดูแล ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ https://forms.gle/8vnWBvHpLs5p2hvUA  เพื่อให้ทีมงานพัฒนาเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และตรงความต้องการของผู้ดูแลมากที่สุด อยู่เคียงข้างผู้ดูแลให้ความรู้และพลังใจในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมต่อไป

ผศ. พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2565 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย ปี 2565 สูงถึง 7.7 แสนคน เป็น ชาย 2.5 แสนคน และหญิง 5.1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มี 6.8 แสนคน ทั้งนี้ ยังไม่รวมจำนวนผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่อายุไม่ถึง 60 ปี เมื่อเห็นแนวโน้มว่าประเทศไทยอาจจะมีการเพิ่มจำนวนของผู้มีภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสมบูรณ์ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจและองค์ความรู้ในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้กับญาติและคนที่ใกล้ชิด เพื่อการดูแลอย่างถูกสุขลักษณะ และสร้างความสุขกาย สบายใจของทั้งผู้ดูแลและผู้มีภาวะสมองเสื่อมจึงมีความจำเป็น ในขณะเดียวกัน การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจจะช่วยสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia Friendly Community) ได้

“หลังจากที่เว็บไซต์ CaregiverThai.com เริ่มเปิดใช้งานในช่วงปลายปี 2565 มีผู้ใช้งานเข้ามามากกว่า 85,000 วิวในปีที่ผ่านมา เราพบว่ามีสถิติที่น่าสนใจ คือ เนื้อหาที่คนเข้าอ่านมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลข้างเคียงการใช้ยารักษาสมองเสื่อม สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการ และแบบประเมินความเครียดของผู้ดูแล ทำให้เรารู้ว่าผู้ดูแลส่วนใหญ่ยังเป็นมือใหม่ ต้องการข้อมูลเพื่อดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม และการปรับตัวปรับใจในการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล”ผศ.พญ.สิรินทรกล่าว

ในส่วนของแบบประเมินทดสอบความเครียด ผศ.พญ สิรินทร กล่าวว่าในปี 2566 พบว่า ระดับของความเครียดผู้ดูแลสูงกว่าปกติมากถึง 48% จากจำนวนของผู้ดูแลที่เข้ามาทำแบบประเมิน โดยปัญหาที่เจอเป็นประจำ ได้แก่ รู้สึกไม่มีความสุขและเศร้าหมอง รู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ ซึ่งเกิดได้จากการที่ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นระยะเวลานาน ๆ  โดยไม่มีความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และ ความรู้ในการจัดการการดูแล ก่อให้เกิดความกังวล เพราะต้องจัดการการดูแลไปตามความคิดของตนเอง ซึ่งไม่ทราบว่าเหมาะสมหรือไม่ หลายครอบครัวไม่มีคนช่วย และ ไม่มีเครือข่าย หรือเพื่อนฝูงที่มีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันที่จะช่วยคิด ช่วยทำ ทำให้เกิดความเครียดและไม่รู้ว่าจะรับมือกับความเครียดเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม  

“ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เหล่านี้สามารถบรรเทาได้ หากผู้ดูแลเข้าถึงแหล่งข้อมูล และเครือข่ายของผู้ดูแลที่เข้มแข็ง ช่วยให้ความรู้ คำแนะนำ และเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ ๆ ที่ต้องเรียนรู้กันตลอดเวลา  ตัวอย่างเช่น เว็บไซด์ caregiverthai.com ที่มีปณิธานในการจัดทำเวปไซด์ เพื่อผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะ เมื่อผู้ดูแลมีความสุข สามารถจัดการปัญหาที่ผ่านเข้ามาอย่างมืออาชีพ  จะทำให้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมได้ดี  มีคุณภาพชีวิตทั้งสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”ผศ.พญ.สิรินทร กล่าว

ทีมงานได้พัฒนา ปรับปรุง เพิ่มเติม ทั้งส่วนเนื้อหา และ วิธีการนำเสนอที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้ผู้ดูแลเข้าถึงข้อมูล และนำไปใช้เว็บไซด์ caregiverthai.comได้โดยง่าย อาทิ  
1. เพิ่มคลิปวิดีโอใน YouTube CaregiverThai Channel เป็นการถ่ายทำวิดีโอภาคปฏิบัติ ทีละขั้นตอน ให้ผู้ดูแลติดตามได้ในแต่ละหมวด ดังนี้      เข้าใจภาวะสมองเสื่อม เช่น ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมและการป้องกัน แนวทางการรักษาภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น,     รอบรู้เรื่องการดูแล  เช่น การทำแผลท่อเจาะคอ การดูแลผู้ป่วยคาสายสวนปัสสาวะที่บ้าน เป็นต้นและ วันวาน ณ ปัจจุบัน รวมเรื่องเล่าแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ดูแลจากหลากหลายครอบครัว

2. เพิ่มหมวดเนื้อหา “เตรียมตัวสู่สูงวัย” สำหรับผู้ดูแลที่ดูแลผู้ป่วยมานาน เริ่มจะเข้าสู่วัยสูงอายุให้รู้เท่า รู้ทัน รายการ และ วิธีการที่ต้องเตรียมดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจแกร่งพร้อมรับทุกสถาณการณ์

3. ติดตั้ง “ปุ่มอ่านให้ฟัง” เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ดูแลที่ไม่มีเวลาอ่านจากหน้าเว็บไซต์ สามารถเปิดฟังในขณะที่ทำอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ เริ่มจากเนื้อหาใน “วันวาน ณ ปัจจุบัน” ก่อน

” เรายังคงพัฒนาเว็บไซต์ CaregiverThai.com ให้เป็นช่องทางเข้าถึงความรู้ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมสูงวัย และแชร์ประสบการณ์ เพื่อแบ่งเบาความทุกข์ร้อนในใจ ความกลัดกลุ้ม การเสียดุล ในระหว่างการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม  ในเดือนมีนาคมนี้ เราจัดทำแบบสอบถาม เพื่อสำรวจและเปิดรับฟังความเห็นและความต้องการของผู้ดูแลทั่วประเทศ ขอเชิญชวนผู้ดูแลทุกท่านร่วมกันทำแบบสอบถามนี้ เพื่อบอกอาจารย์ว่า ยังขาดเหลืออะไรอีกบ้างไหม อยากได้อะไรอีก ตรงไหนที่ยังสามารถพัฒนาได้อีก บอกข้อมูลแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือของพื้นที่ที่คุณมีอยู่เพื่อแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ เพื่อให้เว็บไซต์ตรงความต้องการมากที่สุด เป็นประโยชน์มากที่สุด”ผศ.พญ.สิรินทรกล่าว

ขอเชิญชวนผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม โปรดสละเวลาสักนิด ร่วมกันทำแบบสอบถามเพื่อบอกความต้องการได้ที่ https://forms.gle/8vnWBvHpLs5p2hvUA หมดเขตสิ้นเดือนมีนาคมนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง