บอร์ด สปสช. หนุนวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” นำร่อง 3 ปี “รักษาภาวะมีบุตรยาก” หญิงไทยอายุ30-40ปี ที่มีคู่สมรส และจดทะเบียนสมรส โดยใช้สิทธิ์บัตรทอง เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษา ให้ยากระตุ้นไข่ และทำด็กหลอด
20 มีนาคม 2567 – นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมบอร์ด สปสช. โดยมีวาระพิจารณาและเห็นชอบข้อเสนอ “การรักษาภาวะมีบุตรยาก” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นำเสนอโดย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และ นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน แต่ในปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอยู่ที่ 485,085 คน ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์เหลือเพียง 1.08 กลายเป็นวาระที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเร่งแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแผนดำเนินการระดับชาติ อาทิ แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว พ.ศ. 2565-2580 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ คือสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงบุตร, ร่างวาระแห่งชาติประเด็นส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ อยู่ระหว่างเสนอต่อ ครม. ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อการมีบุตร และผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลเอง โดยกระทรวงสาธารณสุข นโยบาย Quick win 100 วัน มีเรื่องการส่งเสริมการมีบุตรที่ขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562-2566 มีผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการด้วยวินิจฉัยภาวะการมีบุตรยากอยู่ประมาณ 3,000-3,500 ราย/ปี
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อย่างไรก็ดี บริการรักษาภาวะมีบุตรยากมี 3 ระดับด้วยกัน ตามแนวทางเวชปฏิบัติภาวะมีบุตรยากของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 ซึ่งผลการศึกษาเพื่อบรรจุการรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองนั้น เห็นควรส่งเสริมให้บริการในขั้นต้นก่อน เพราะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และควรให้บริการที่เป็นไปตามลำดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 ให้คำปรึกษาแนะนําปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และการรักษาโรคประจําตัวหรือส่งต้อเพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาสาเหตุที่ตรวจพบบริการระดับ 1 สามารถให้บริการโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งหากภายใน 6-12 เดือนไม่ได้ผลหรือเกิน 12 เดือน ตามแพทย์เห็นสมควรเว้นวรรคให้เข้าสู่บริการระดับถัดไป
ระดับที่ 2 (2.1) ให้ยากระตุ้นไข่และยาเหนี่ยวนําการตกไข่และ (2.2) การกระตุ้นไข่และการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ซึ่งสูตินรีแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไปจะเป็นผู้ให้บริการไม่เกิน 3 ครั้ง หากในระยะเวลา 6-12 เดือนไม่ได้ผล ให้เข้าสู่ระดับถัดไป โดยทั่วประเทศมีหน่วยบริการที่ให้การรักษาจำนวน 40 แห่ง ใน 38 จังหวัด และระดับที่ 3 ทำเด็กหลอดแก้ว โดยวิธีการย้ายตัวอ่อน 1-2 ครั้ง ให้บริการโดยสูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการรัฐที่ให้บริการ จำนวน 17 แห่ง ในจำนวนนี้เป็น รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง
สำหรับบริการนี้ให้บริการกลุ่มเป้าหมาย ผู้หญิงไทยสิทธิบัตรทอง อายุระหว่าง 30–40 ปี มีคู่สมรสและจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เป็นผู้มีภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่ามีจำนวน 4,150 คน
“วันนี้ บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยให้บริการตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ตามระดับการให้บริการ ซึ่งในกรณีของการทำเด็กหลอดแก้ว จะให้การดูแลเฉพาะผู้ที่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกโดยตรงในระดับที่ 2 อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าบริการนี้เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมการแก้ปัญหาประชากรเกิดใหม่ลดลง ซึ่งในขณะนี้ทาง สธ. ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่วมกันดำเนินการมาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยในขณะนี้” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาภาวะมีบุตรยาก เป็นข้อเสนอสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองฯ ครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัย แต่ในครั้งที่ 2 ปี 2563 ได้มีการปรับหัวข้อการนำเสนอที่ชัดเจนขึ้น ทำให้คัดเลือกเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัยฯ แต่ขณะนั้นไม่สามารถหานักวิจัยได้ แต่ในปี 2566 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยรับไปสนับสนุนทุนวิจัยและหานักวิจัยเพื่อทำการศึกษา และนําเสนอในเดือนธันวาคม 2566 โดย สปสช. ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการบรรจุสิทธิประโยชน์ โดยผ่านการพิจารณาทั้งคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดําเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน เป็นต้น และมอบให้ สปสช. นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้
“การรักษาภาวะมีบุตรยากที่บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย ซึ่งในอดีตสิทธิประโยชน์นี้อาจไม่จำเป็น แต่ด้วยปัจจุบันที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง สปสช. จึงร่วมสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากในกลุ่มที่มีความพร้อมและต้องการมีบุตร โดยให้นำร่อง 3 ปี และติดตามประเมินผลอย่างรอบด้านเพื่อตัดสินใจขยายผลต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้มอบสำนักงานฯ กำหนดมาตรการการคัดกรองผู้ที่จะได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยาก จัดระบบกำกับติดตามประเมินผลอย่างรอบด้าน และรายงานคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อพิจารณายากระตุ้นไข่และยาเหนี่ยวนำการตกไข่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการกำหนดให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและให้คำปรึกษาแก่ผู้มีบุตรยาก ในทุกโรงพยาบาลและทุกระดับ พัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเฉพาะการขยายบริการไปจนถึงโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถดำเนินการได้ถึงระดับที่ 2 รวมทั้งระบบการส่งต่อระหว่างเขตสุขภาพเพื่อให้ระบบบริการมีความเสมอภาคและประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนพัฒนาระบบการลงทะเบียนการรักษาภาวะมีบุตรยาก (infertile registry ตั้งแต่ระดับที่ 1–3) เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันระดับประเทศและใช้ในการวางแผนนโยบายในระยะยาว โดยหลังจากนี้ สปสช.จะเร่งดำเนินการตามรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถเริ่มใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ในเร็วๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อนิจจา! 2 นักการเมือง สู้อุตส่าห์ดูแลพรรค วันนี้กลับไม่มีเยื่อใยให้
นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อนิจจา 2 นักการเมือง คุณภาพดี สู้อุตส่าห์ดูแลพรรคมาให้ วันนี้ไม่มีเยื่อใยให้
'อุ๊งอิ๊ง' ตรวจน้ำท่วมวัดภูมินทร์ ดูภาพกระซิบรักบรรลือโลก น้ำลดลงสู่ภาวะปกติแล้ว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล
‘ธรรมนัส’ ยกปลาหมอคางดำเป็นสัตว์อันตรายวาระแห่งชาติ สั่งศึกษาโครโมโซม ผสมพันธุ์แล้วเป็นหมัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของปลาหมอคาง
รัฐบาลตีปี๊บ ปชช. ปลื้ม '30 บาท รักษาทุกที่' รับบริการร้านยาชุมชนอบอุ่น
ายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” บริการที่ “ร้านยาคุณภาพ”
ข่าวดี! บอร์ด สปสช. เพิ่มงบแพทย์แผนไทย ช่วยผู้ป่วยบัตรทอง
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบวาระพิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์