ส่องสุขภาพ'มอเตอร์ไซด์รับจ้าง'ใน กทม.

“มอเตอร์ไซด์รับจ้าง” เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับชาวกรุงเทพฯ ทั้งรับส่งผู้โดยสารและเอกสาร ผลจากปัญหาจราจรและความเร่งรีบในการเดินทางของคนเมือง  แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนนกรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่บอกลางานอิสระนี้ เพราะประกอบอาชีพได้ง่าย สร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว จากข้อมูลปัจจุบันมีคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานครไม่ต่ำกว่า 8.9 หมื่นคน แต่ในความเป็นจริงผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างใน กทม. ไม่ต่ำกว่าสองแสนคน แนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เพราะถือเป็นระบบขนส่งรองเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนในมหานคร

ชีวิตบนเบาะมอเตอร์ไซต์ตลอดวัน นอกจากอุบัติเหตุจากการขับขี่ที่แลกด้วยชีวิตหรือบาดเจ็บแล้ว  ปัญหาที่มอเตอร์ไซด์รับจ้างเผชิญจากรายงาน “การศึกษาสุขภาวะความปลอดภัยในการทำงานและภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  จังหวัดกรุงเทพมหานคร “ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กรุงเทพมหานคร   มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิรักษ์ไทย โดยสุ่มตัวอย่างจากวินในกรุงเทพชั้นใน ชั้นกลางและชั้นนอก

พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ต้องรับมลพิษในอากาศเป็นประจำ ทำให้มีปัญหาสายตาพร่ามัว ปอดต้องทำงานหนัก เพราะวินส่วนใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 ขณะเดียวกันการวิ่งรถในชุมชนที่มีลูกระนาดมาก และเป็นหลุมบ่อทำให้มีอาการปวดหลังบ่อย และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย 

งานวิจัยนี้ชี้ว่า 75% ของวินไม่ทราบว่าตนเป็นโรคอะไร เพราะไม่ตรวจสุขภาพ อีก 25% ได้ตรวจสุขภาพและพบโรคที่เป็นมากที่สุด อันดับ1 ความดันโลหิตสูง รองลงมา เบาหวาน  กระเพาะอาหาร  ไขมันในเลือด หลอดเลือดหัวใจ/สมอง และโรคภูมิแพ้ แถมอัตราสูบบุหรี่และดื่มสุราสูงกว่าคนทั่วไป คือ สูบบุหรี่ร้อยละ 59  และดื่มเหล้า ร้อยละ 57

มานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.  กล่าวว่า วินมอเตอร์ไซต์รับจ้างเป็นกลุ่มแรงงานที่ใกล้ชิดกับความปลอดภัยของประชาชน ผลสำรวจด้านสารเสพติดจากกลุ่มตัวอย่างโครงการฯ พบว่า มีการใช้กระท่อมมากขึ้นเพื่อให้มีเรี่ยวแรงในการทำงาน โดยใช้การเคี้ยวใบและดื่มน้ำต้มใบกระท่อม รวมทั้งใช้กัญชาประปรายเพื่อให้นอนหลับ ส่วนเครื่องดื่มชูกำลังใช้กันทั่วไปเพื่อให้มีความสดชื่นในการทำงานเฉลี่ยคนละ 1-2 ขวดต่อวัน รวมทั้งความเสี่ยงจากการทำงานหรืออาศัยอยู่ในชุมชนที่ยาเสพติดแพร่ระบาด ทั้งยังมีความไม่มั่นคงในอาชีพจากการเป็นแรงงานนอกระบบที่ขาดสวัสดิการและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ทำให้มีหนี้นอกระบบ

“ เราตระหนักในปัญหาจึงสนับสนุนการป้องกันยาเสพติด  ด้านสุขภาพร่วมกับภาคีให้ความรู้เสริมสุขภาพป้องกันยาเสพติด เช่น ผลดีผลเสียการใช้พืชกระท่อม  การใช้กัญชาแบบไหนผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อสุขภาพ ด้านการเฝ้าระวังยาเสพติดเดินหน้าภายใต้โครงการ“วินสีขาว” ผลักดันให้สำนักงานเขตมีส่วนร่วมในการดูแล เฝ้าระวังปัญหา มีกิจกรรมตรวจปัสสาวะเพื่อแสดงเจตนารมณ์วินสีขาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ตลอดจนดูแลพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย “ รองเลขาฯ ป.ป.ส. ระบุ

ทวี น้อยจาด ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างมาหลายสิบปี  เป็นประธานวินพหลโยธิน 34 กล่าวว่า วินมักมีปัญหาสุขภาพ สูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำกระท่อม ไม่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยจากการขับขี่  ตนและเพื่อนร่วมวินอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวในการว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปราม  ตอนนี้ตนและสมาชิกวินได้ร่วมโครงการฯ กับ สสส. นำองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะ ความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดมาปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลด ละ เลิก เหล้า และบุหรี่ รวมถึงสารเสพติดอื่นๆ ได้ สมาชิกวินเกิดเป็นความภาคภูมิใจ และนำชุดข้อมูลสื่อสุขภาวะไปสื่อสารต่อให้ครอบครัว เพื่อน ชุมชนใกล้เคียงมากกว่า 140 หลังคาเรือน ทำให้เห็นอาชีพวินก็สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ จากนี้ไปกลุ่มสมาชิกวินมอเตอร์ไซค์ ตั้งใจจะร่วมรณรงค์ลดปัญหายาเสพติดให้เป็นศูนย์ ส่งเสริมให้เพื่อนวินมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความไว้วางใจและได้รับบริการที่มีความปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

นอกจากผลวิจัยจากวินในหลายพื้นที่แล้ว โปรเจ็กต์นี้ดำเนินงานพัฒนาสุขภาวะความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ นำร่อง 13 เขต จำนวน 2,426 คน ได้แก่ จตุจักร หลักสี่ บางกะปิ บางเขน บางกอกน้อย จอมทอง ทุ่งครุ ธนบุรี วังทองหลาง ลาดพร้าว มีนบุรี บางบอน และคันนายาว เน้นส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติด โดยจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาสุขภาวะให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องและมาตรฐานความปลอดภัยในอาชีพ สามารถพัฒนาเป็นแกนนำได้ 175 คน

ตอนนี้เกิดวินมอเตอร์ไซค์ต้นแบบ 3 พื้นที่ บอกลาอันตรายบนถนนและสารเสพติด เพื่อทำอาชีพนี้อย่างมีความสุข วินซอยพหลโยธิน 34 เป็นวินต้นแบบด้านการสร้างมาตรฐานอาชีพ เป็นวินไร้สารเสพติด ไม่ดื่มสุราขณะปฏิบัติงาน การแต่งกายสะอาด ถูกต้องตามระเบียบที่ขนส่งกำหนด แต่งกายรัดกุมเสื้อแขนยาวสีน้ำเงิน รองเท้าผ้าใบ รถ125 ซีซี  ไม่ขับรถเร็ว ตรวจสภาพรถตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ขับขี่สวมแมส ถ้าอยู่คนละฝั่งไม่ให้ผู้โดยสารข้ามถนนมาหาวิน แต่จะวิ่งไปหาผู้โดยสารเพื่อความปลอดภัย บริการสุภาพ การส่งผู้โดยสารในยามวิกาล ให้รอส่งให้ผู้โดยสารเข้าบ้านเรียบร้อยจึงออกรถมา  ไม่เรียกเงินเกินอัตราที่ตั้งไว้ ถ้ามีเรียกเกินจะต้องถูกหัวหน้าวินตักเตือน ทำเกิน 3 ครั้งสั่งพักงาน

วินนี้ให้โอกาสในการทำงาน ถ้าไม่เลิกเสพยาไม่ให้ขับต่อ หลายคนหักดิบเพราะต้องการมีเงินใช้ ถือเป็น “วินบำบัด” มีสวัสดิการกรณีวินเสียชีวิตได้รับ 50,000 บาท พ่อแม่ ลูก เมีย ได้ 30,000-40,000 บาท  จากการบริจาคของเพื่อนวินคนละ 100-200 บาท  ซึ่งไม่บังคับ เพื่อนวินยินดี และหัวหน้าสมทบ 20,000 บาท

วินวัดอัมพวาและเครือข่าย พื้นที่ต้นแบบด้านการทำงานเครือข่ายเข้มแข็ง โดยมีวินวัดอัมพวาเป็นแม่ข่ายและวินอิสรภาพคอนโด เขตธนบุรี) และชาวสวนสัมพันธ์ เขตจอมทอง เป็นลูกข่าย แม่ข่ายจะมีความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อให้ลูกข่ายมาเรียนรู้และเข้าร่วมงานต่างๆ  เครือข่ายทั้ง 3 พื้นที่มีประสบการณ์การทำงานด้านยาเสพติดมายาวนาน และเกาะติดสถานการณ์ยาเสพติด ทำงานชัดเจนป้องกันไม่ให้เกิดนักเสพหน้าใหม่ ส่วนหนึ่งของวินเคยเป็นผู้ค้าผู้เสพที่กลับใจและเปลี่ยนมาเป็นผู้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนโ ดยชุมชนหยิบยื่นโอกาสให้ขับวินรับจ้าง

ขณะที่ วินอนันต์สุขสันต์รุ่น 18-20 และเครือข่าย พื้นที่ต้นแบบด้านการสร้างกลยุทธ์เผยแพร่ข้อมูลใช้เครือข่าย อพปร. หัวหน้าชุมชน เลขาชุมชน หัวหน้าวิน ประธานชุมชน กรรมการชุมชน ไปขับเคลื่อนงาน มีการทำงานเชิงรุกโดยการลงพื้นที่สร้างการรับรู้ เปิดเวทีพูดคุยประเด็นสุขภาวะกับชุมชน เพื่อนร่วมอาชีพ และส่งต่อความรู้ในการขยายเครือข่ายด้วยความภาคภูมิใจในอาชีพที่มีศักดิ์ศรีของตน

เสียงสะท้อนจากอาชีพวินใน กทม. ต่อภาครัฐ ที่อยากส่งต่อจากโครงการฯ พวกเขายังต้องการความช่วยเหลือทั้งกองทุนกู้ยืมโดยรัฐที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่อนน้อย และดอกเบี้ยต่ำ ,ประกันชีวิตส่วนบุคคลที่เบี้ยประกันน้อย แต่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และมีเงินชดเชยรายได้กรณีที่ยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ,จัดรอบจดทะเบียนผู้ประกอบวินให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เหล่าพี่วินเสนอให้มีศูนย์บริการย่อยในแต่ละเขตแทนที่จะให้ไปดำเนินการที่ขนส่งเพียงแห่งเดียว อีกข้อเรียกร้องต้องการให้มีหน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่บริการฟรีหรือจ่ายน้อยให้กับวิน เพื่อจะได้ทราบว่าควรจะต้องดูแลตนเองอย่างไรท่ามกลางการทำงานบริการที่เสี่ยงตายผ่อนส่งอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว

"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น

“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.

วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว

สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม