ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงทุกปี จากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของกรมป่าไม้ มีข้อมูลว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2562-2566 พื้นที่ป่าหายไปเฉลี่ยประมาณปีละ 1 แสนกว่าไร่ เฉพาะปี 2566 เพียงปีเดียวป่าหายไปถึง 317,819.20 ไร่ สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง อันดับต้นๆ จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน รองลงมาเกิดจากปัญหาไฟป่า
พื้นที่ป่าไม้ของไทยที่ยังเหลืออยู่ หากดูจากระบบบัญชีข้อมูลกรมป่าไม้ ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้รวมทั้งหมด 101,818,155.7 ไร่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 31.47 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด โดยสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เป็นป่าปฐมภูมิคิดเป็นร้อยละ 82 และที่เหลือเป็นป่าปลูกคิดเป็นร้อยละ 18 ในจำนวนนี้พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สะท้อนปัญหาวิกฤตป่าไม้ไทยและตั้งคำถามถึงโครงการพัฒนาของรัฐที่ปักธงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และผืนป่ามรดกโลกผ่านงาน “ปกป้องคลองมะเดื่อ” หยุดสร้างเขื่อนในป่ามรดกโลก เขาใหญ่ ที่วัดบ้านดง จ.นครนายก เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคมของทุกปี โอกาสเดียวกันนี้ เครือข่ายนักอนุรักษ์ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติโครงการเขื่อนคลองมะเดื่อและเขื่อนรอบๆ ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และปกป้องพื้นที่มรดกโลก หยุดการละเมิดสิทธิชุมชนด้วยการผลักดันโครงการเขื่อน และนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้จัดการทรัพยากรธรมชาติ
อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ป่าไม้ไทยลดลงทุกปี ปี 63 พบว่าป่าลดลงจากปี 62 ประมาณ 1.3 แสนไร่ ปี 63 เทียบปี 64 ป่าหายไป 1.4 แสนไร่ ปี 65 พบป่าลดลงจากปี 64 ประมาณ 7.3 หมื่นไร่ แต่ปี 66 เทียบปี 65 ป่าหายไปถึง 3.1 แสนไร่ ถ้ารวมตัวเลขที่เสียพื้นที่ป่าไม้ไทยไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราว 665,900 ไร่ ปัจจัยสำคัญกิจกรรมที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง จากการศึกษาของคณะวนศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 1 การชลประทานหรือสร้างเขื่อน รองลงมาการสร้างถนน เหมืองแร่ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ขุดดินขุดทราย ระเบิดย่อยหิน ปิโตรเลียม ล่าสุด มีผลการศึกษาใหม่ของนักวนศาสตร์ มก. มีตัวเลขการใช้พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งกิจกรรม คือ การจัดสรรที่ดินทำกิน อีกทั้งระบุปี 66 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเป็นการเกิดไฟป่าลุกลามในหลายพื้นที่
“ ทุกกิจกรรมล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ กรณีไฟ เราพยายามพูดอยู่ตลอดว่าเป็นไฟที่คนจุด ส่วนโครงการชลประทานทำให้เราเห็นภาพตัวเลขชัดเจนป่าหายไปเท่าไหร่ อย่างโครงการสร้างเขื่อน 7 แห่ง ในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถ้าสร้างเขื่อนทั้งหมดนี้ พื้นที่ป่าไทยจะหายไปอย่างน้อยเกือบ 20,000 ไร่ ปกติโครงการเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจะต้องมีการปลูกป่าทดแทนสองเท่าในพื้นที่ แต่มีข้อมูลวิชาการปลูกไม้สักเส้นรอบวง 100 เซนติเมตร ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 60 ปี ไม้ตะแบกเปลือกบางไม่ต่ำกว่า 80 ปี พูดง่าย แต่การปลูกทดแทนให้ได้โครงสร้างใกล้เคียงสภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่องง่าย “ อรยุพา กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า นโยบายป่าไม้แห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับปัจจุบันตั้งเป้าหมายประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บอกจะต้องมีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศด้วยซ้ำ นั่นคือ หมุดหมายที่รัฐวางไว้ แต่กลับมีโครงการชลประทาน ตัดถนนในป่า มันคือ การลดทอนพื้นที่ป่า เป็นความย้อนแย้งในการทำนโยบาย รัฐไปให้ปฏิญญาระดับโลก จะเพิ่มพื้นที่ป่า ยุติตัดไม้ทำลายป่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล้วนทำให้ผืนป่าไทยลดลงทั้งนั้น ถ้าประเทศไทยจะทำให้ได้ตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เราจะต้องมีพื้นที่ป่าทั้งประเทศให้ได้ 129 ล้านไร่ นับจากจำนวนป่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบันแล้ว ไทยจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อีก 27 ล้านไร่ เป็นตัวเลขที่ท้าทายของรัฐบาลที่มีโครงการจะทำลายป่าอยู่มาก
สำหรับผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่มีโครงการเขื่อนคลองมะเดื่อจ่ออยู่ มีพื้นที่รวม 3,846,875 ไร่ ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อช.ทับลาน อช.ปางสีดา อช.ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ผืนป่าแห่งนี้มีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นป่าต้นน้ำลำธาร เป็นถิ่นอาศัยสัตว์ป่านานาชนิด นี่คือ เหตุผลสำคัญที่นักอนุรักษ์และภาคประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องป่า
อรยุพาเผยหากสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ น้ำจะท่วมพื้นที่ของชุมชน 600 ไร่ และพื้นที่ป่าจะหายไป 1,800 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นผืนป่าของเขาใหญ่ประมาณ 1,100 ไร่ อีกพื้นที่น่ากังวลที่สุด คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว ในอุทยานแห่งชาติตาพระยา พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่รวม 4,753 ไร่ หากสร้างเขื่อนน้ำจะท่วมผืนป่า 4,579 ไร่ พื้นที่สร้างอ่างค่อนข้างเป็นเขตเงาฝน และด้านทิศใต้มีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อยู่แล้ว จากการลงพื้นที่เกิดคำถามว่าหากสร้างอ่างเก็บน้ำจะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ขณะนี้ขั้นตอนสร้างอยู่ระหว่างเตรียมขอเพิกถอนพื้นที่ ต้องช่วยกันติดตามสถานการณ์
“ อุทยานฯ ตาพระยา เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะเสือโคร่ง พื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนมีข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งเดินบริเวณนี้ เหมือนเป็นพื้นที่แห่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง รองลงมาจากผืนป่าตะวันตก นักอนุรักษ์ และกรมอุทยานฯ มีโครงการทางเชื่อมผืนป่า หวังให้เสือโคร่งข้ามมาป่าเขาใหญ่ซึ่งปัจจุบันเขาใหญ่ไม่พบเสือโคร่ง แต่กลับมีสารพัดเขื่อนจะผุดขึ้นมากลางป่าที่เสือโคร่งใช้หากินอยู่ บริเวณนั้นยังมีทุ่งกระทิง เป็นพื้นที่ราบ มีกระทิง วัวแดง น่าเสียดายถ้าป่ามรดกโลกอันอุดมสมบูรณ์จะถูกทำลายไป อีกสิ่งที่กังวลสัตว์ป่ามีพื้นที่หากินลดลง จะสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากขึ้น ทุกวันนี้ช้างมีพื้นที่เหมาะสมให้อยู่อาศัยเพียง 8 % ทั้งประเทศ อย่างแผนสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ในพื้นที่มีช้างอาศัย 60 ตัว แต่ก็เป็นพื้นที่เป้าหมาย “ อรยุพาย้ำคุณค่าป่ามรดกโลก
จากสถานการณ์ป่าไม้ไทยในวินาทีนี้ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ แสดงทัศนะว่า ทุกวันนี้เราเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม ผจญฝุ่น PM2.5 เจอสถานการณ์ไฟป่า แพลงตอนบูมกระจายในหลายพื้นที่ ทุกปีไทยทำลายสถิติคลื่นความร้อน ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ปี 67 ร้อนทุบสถิติแตะ 45 องศาเซลเซียส ตนมองว่า การลดลงของพื้นป่า ไม่ใช่แต่สูญเสียป่าไม้ แต่ส่งผลกระทบใกล้ตัว เรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพถึงขั้นวิกฤต เราก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกมาแล้ว 6 ด้าน จากทั้งหมด 9 ด้าน ระดับโลก รวมถึงประเทศไทย วิกฤตมาก เราจะเดินลงเหวไปเรื่อยๆ ใช่มั้ย จะไม่ช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ
“ ส่วนนโยบายการใช้พื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ อยากให้รัฐทบทวนกลับมาดูโครงการแหล่งน้ำที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วว่า สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ อ่างเก็บน้ำไม่พอหรือระบบจัดการน้ำอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมไม่พอกันแน่ ข้อมูลสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมแล้วกว่า 13,400 กว่าโครงการ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย อยากให้ใช้อย่างเต็มศักยภาพ ส่วนแผนโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้กลับไปทบทวนคำมั่นสัญญาและเป้าหมายพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าที่วางไว้ “ อรยุพา กล่าว
พลังชุมชนปกป้องผืนป่า ไพบูลย์ จิตเสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.สาริกา นครนายก กล่าวว่า พวกเรากังวลมากเกี่ยวกับเขื่อนคลองมะเดื่อนี้ ถ้ามีการสร้างขึ้นมาจริง ๆ ช้างก็จะเสียพื้นที่ราบกว้างใหญ่ รวมถึงแนวชายป่าที่ใช้หากิน แล้วก็จะพากันลงมาที่หมู่บ้านและสวนผลไม้ของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะออกไปไกลถึงตัวเมืองเลย ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างก็จะยิ่งเลวร้ายลง ส่วนเรื่องค่าชดเชย ความเสียหายและระบบนิเวศที่จะฟื้นฟู ที่ทางหน่วยงานมักล่าวอ้างก่อนการสร้างเขื่อน ตนเห็นมาหลายเขื่อนแล้ว บางเขื่อนสร้างเสร็จมา 6 ปียังไม่ได้มีการฟื้นฟูป่าเลย สักตารางนิ้วเดียว
อย่างไรก็ดี โครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำมีจำนวนมาก ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไม่สามารถเข้าไปจับตาอย่างใกล้ชิดได้ทุกโครงการ แต่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ 7 อ่างเก็บน้ำในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ , อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด, อ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง และโครงการอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลงถนน!? I ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567
แสดง'โขน-โนรา'สานสัมพันธ์ที่เขมร
25 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมาส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนและเวทีนานาชาติ
ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum
กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
เปิดตัว CryBunny กับ CryTeddy ใจกลางกรุง
เหล่านักสะสมและสาวกอาร์ตทอยห้ามพลาด Molly Factory Studio ร่วมกับ สยามพารากอน และสยามเซ็นเตอร์ สร้างปรากฏการณ์เหนือความคาดหมาย ตอกย้ำการเป็นโกลบอลเดสติเนชั่นที่ครองใจลูกค้าเป็น #1 Top of Mind จับมือเนรมิตพื้นที่แห่งความสบายใจ