นับเป็นอีกความท้าทายของประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์กลางทั้ง 8 ด้านตามวิสัยทัศน์ของภาครัฐสู่ที่ 1 ในระดับภูมิภาค ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พาไทยไปสู่เป้าหมายได้ คือ การพัฒนากำลังคนทักษะต่างๆให้พร้อม ซึ่งที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไทยจึงต้องเร่งเครื่องให้ทันและเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรต้องมีความรู้ด้าน STEM หรือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
อีกทั้งสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) ได้มีการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญ เน้นตำแหน่งงานระดับสูงที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2563-2567พบว่าใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมมีความต้องการกำลังคนรวมทั้งงสิ้น 177,606 ตำแหน่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทักษะด้านSTEM
ดังนั้นจุดสตาร์ทที่สำคํญควรจะเริ่มที่ระบบการศึกษา ซึ่งในภาพรวมของระบบการศึกษาไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นยังคงมีอยู่จำนวนไม่น้อย ในกลุ่มเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบาง เนื่องจากมีปัญหาความยากจนหรือด้อยโอกาสในด้านต่างๆ ซึ่งการผลักดันไปสู่การศึกษาด้าน STEM เป็นหนทางยาวไกล อีกทั้งบุคลากรครูและอาจารย์ยังถือว่าไม่จำนวนไม่เพียงต่อการสอนนักเรียนในทักษะที่เฉพาะเจาะจง
ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นอีกกำลังการขับเคลื่อน ทางมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บริษัท เอส.ซี.ยอห์นสัน ได้จัดทำโครงการ “STEM Modelling Schools with Smart Farming, Plastic Solutions and Dengue Control” ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการลงนามความร่วมบูรณาการความรู้จาก 4 สาขาได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ นำร่องในพื้นที่ 5 โรงเรียนต้นแบบ ได้แก่ โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก โรงเรียนท่าสองยางวิทยาคม จ.ตาก โรงเรียนบ้านช่อผกา จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านหนองเตียน จ.สระแก้ว และโรงเรียนชุมชนวัดบ้านระกาศ จ.สมุทรปราการ เพื่อให้เด็กและเยาวชน ชุมชน เกิดการจัดการบริหารจัดการด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเกษตรอย่างยั่งยืน
โดยกิจกรรมการเรียนรู้ภายในโครงการ STEM Modelling Schools จะจัดขึ้นในลักษณะสะเต็มศึกษา 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Smart Farming การทำฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการงานด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ 2. Plastic Solutions การบริหารจัดการขยะพลาสติก โรงเรียนสร้างแบบจําลอง STEM โซลูชั่นพลาสติก ตามแนวทาง STEM และการจัดการของเสียนี้เป็นแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องซึ่งเสริมซึ่งกันและกัน 3. The KEEPs model การดูแลสุขภาพด้านการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก การดูแลสุขภาพชุมชนเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เพื่อปกป้องและปรับปรุงสุขภาพของชุมชนผ่านกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ
ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ฯ กล่าวว่า กว่า 4 ปี ที่มุ่งมั่นพัฒนาเด็กและยกระดับชีวิตเยาวชนด้อยโอกาส ภายใต้โครงการ STEM Modelling Schools ที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ จุดประกายความสนใจของนักเรียน เยาวชน และคนในชุมชน นำหลักการ STEM เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ เป็นการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำการเกษตรในโรงเรียนและชุมชน หาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนให้กับโรงเรียนและชุมชน และสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ 5 โรงเรียน และกว่า 40,000 คน ในการสนับสนุนทุนการศึกษา ในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายองค์ความรู้เหล่านี้ส่งต่อไปยังโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง หรือ โรงเรียนในเครือข่ายของทางมูลนิธิที่มีจำนวน 45 โรงเรียน
ผอ.มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ฯ กล่าวต่อว่า โดยที่ผ่านมาได้เห็นความสำคัญของการศึกษาในรูปแบบ STEM ทักษะที่จำเป็นในอนาคต ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 แบบ ครูผู้สอนก็จะได้รับการอบรมทั้งจากกรมควบคุมโรค และ สสวท. อย่าง กิจกรรม Smart Farming ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ สะเต็มศึกษา ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้การใช้งานระบบ Handy Sense ซึ่งเป็นระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายทนทานต่อสภาพแวดล้อม หรือการจัดขยะพลาสติก โดยแบบจำลอง STEM โซลูชั่นพลาสติก และการจัดการของเสีย ผ่านการสืบค้นทางวิทยาศาสตร์ ลงมือปฏิบัติ และการเรียนรู้การแก้ปัญหาพลาสติกที่เหมาะสมในโรงเรียนและชุมชนอย่างสร้างสรรค์ และกระบวนการอบรมความรู้พื้นฐานการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกแก่นักเรียนและคนในชุมชน การสํารวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกเดือน การกําจัดแหล่งยุงทุกสองสัปดาห์ และมีการเปิดใช้ชมรมสุขภาพโรงเรียน นักสู้ไข้เลือดออกที่นําโดยแกนนำเยาวชน คู่มือนักสู้ไข้เลือดออกออนไลน์-ออฟไลน์ เป็นต้น
การต่อยอดองค์ความรู้ STEM Modelling Schools ทั้ง 5 โรงเรียนได้สร้างสรรค์ชิ้นงานที่ผสานทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ได้อย่างน่าสนใจ อย่าง Plastic Solutions โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก ได้พัฒนาการผลิตน้ำมันจากถุงพลาสติกใช้แล้ว ชิษณุพงศ์ เดชเสถียร นักเรียน ชั้นม.4 เล่าว่า เนื่องจากโรงเรียนเป็นโรงเรียนทั้งประจำ และไปกลับ มีนักเรียนกว่า 1,300 คน ทำให้นักเรียนในส่วนที่ต้องเดินทางไปกลับใช้ภาชนะพลาสติกหรือโฟมในการใส่อาหาร อีกทั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง รถขยะจึงไม่สามารถที่จะมาเก็บทุกวันได้ จึงทำให้ขยะในโรงเรียนมีปริมาณมาก ดังนั้นทางคุณครูที่ไปอบรมก็ได้นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดและร่วมกันพัฒนาเป็นเครื่องผลิตน้ำมัน โดยจะมีการทำความขยะพลาสติก ทั้งประเภท PET และ PT ให้เรียบร้อย จากนั้นก็นำเข้าสู่เครื่องกลั่นซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดย PET ปริมาณ 2 กิโลกรัม จะได้น้ำมันอยู่ที่ 2 ลิตร และ PE ปริมาณ 2 กิโลกรัม จะได้น้ำมันอยู๋ที่ 0.5 ลิตร แต่คุณภาพที่ผลิตได้ยังไม่เหมาะกับการใช้ในรถยนต์ หรือเครื่องจักร เนื่องจากพบว่ายังมีน้ำปะปนอยู่ คาดว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อไป
ในส่วน The KEEPs model การดูแลสุขภาพด้านการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก กวินตรา คอนโพธิ์ศรี นักเรียนชั้นป.4 โรงเรียนบ้านช่อผกา จ.บุรีรัมย์ ได้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากสมุนไพรในโรงเรียนและชุมชน เล่าว่า ในช่วงฤดูฝนที่โรงเรียนจะมียุงค่อนข้างเยอะและมีเพื่อนๆ ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกด้วย จึงสนใจที่ในการเรียนรู้ทำผลิตภัณฑ์ไล่ยุงกับคุณครู ซึ่งมีการทำทั้งเทียนหอมไล่ยุ่ง ปาล์มไล่ยุง และน้ำมันหอมระเหยไล่ยุง ที่สามารถใช้กับเครื่องพ่นไอน้ำไฟฟ้าได้ วัตถุดิบที่ใช้ก็มาจากตระไคร้ที่ปลูกในโรงเรียน และใบมะกรูดจากที่บ้าน คุณครูก็จะมีการสอนผสมสีต่างๆ เพื่อให้น่าสนใจ ตอนนี้ได้มีการนำไปแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนได้ทดลอง และคาดว่าจะพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายในอนาคต
โมเดล Smart Farming ยุทธนา จันทร์เรืองโรจน์ ครูที่ปรึกษาโครงการ โรงเรียนชุมชนวัดบ้านระกาศ จ.สมุทรปราการ ได้แนะแนวในการสร้างผลงานการประยุกต์ใช้คาร์บอนควอนตัมดอท(CQDs)จากเกล็ดปลาสลิด สำหรับเครื่องกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นการออกแบบและสร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นม.2-ม.3 โดยใช้เกล็ดปลาสลิด มาสังเคราะห์ให้ได้ CQDs ในอุณหภูมิ 200 องศา ซึ่งปลาสลิดในจ.สมุทรปราการเป็นสัตว์ยอดนิยมจึงทำให้มีเกล็ดปลาเยอะ ซึ่ง CQDs มีคุณสมบัติการวาวแสง โดยจะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วงที่ตามองเห็นได้ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช เบื้องต้นได้มีการทดลองกับผักกรีนโอ๊ค ตะไคร้ ผักบุ้ง โดยจะต้องเริ่มเร่งการเติบตั้งแต่เป็นต้นกล้าประมาณ 3 วัน/1-3 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้เพื่อเจริญเติบโตไวขึ้นจากอายุการเติบโตเดิม และจะมีการนำไปทดลองในแปลงผักของโรงเรียน และพัฒนาต่อไปในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลดล็อคกำแพงภาษี อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์ : วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2568
เราอยู่ใน 'อนาคต' ที่ 'อดีต' ทำนายไว้แล้วหรือ!? | จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์
เราอยู่ใน 'อนาคต' ที่ 'อดีต' ทำนายไว้แล้วหรือ!? จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์ : วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2568
ทักษิณ คืองูพิษตัวจริง | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์ : วันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568