DGA กระตุ้นรัฐเปิด Open Data มากขึ้น ถ้าต้องการเป็นรัฐบาลดิจิทัลแท้จริง

สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation and Governance Institute : DIGI) ภายใต้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เป็นองค์กรที่ภารกิจในการพัฒนาการดำเนินงานของภาครัฐในยุคดิจิทัล ซึ่งข้อมูลถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายโดยใช้ข้อมูลเป็นฐานสำคัญในการตัดสินใจ รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อยอดนวัตกรรม หรือแม้แต่การนำข้อมูลมาใช้เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ

แต่อย่างไรก็ดีการจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีตามกรอบธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการควบคุมคุณภาพข้อมูลให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับพ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 ที่ได้กำหนดให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐเป็นกรอบในการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานรัฐ ให้สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัลระหว่างกัน เพื่อให้บริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ ไปจนถึงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล

โดยทาง  DGA  ได้พัฒนาระบบระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน(Citizen Portal) ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่นเดียว ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ในการสนับสนุนการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล โดยระบบ Citizen Portal ถูกพัฒนาขึ้นในลักษณะที่เป็น Super App ที่ให้หน่วยงานผู้ร่วมให้บริการ สามารถนำบริการเฉพาะของตนบรรจุเข้าไปสู่แอปได้ เพื่อพัฒนาบริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลในอนาคตเป็นไปได้โดยง่าย และรวดเร็ว และยังสามารถเข้าดูมูลเปิดภาครัฐได้ผ่านเว็บไซต์ www.data.go.th

ไอรดา เหลืองวิไล

ล่าสุด วันข้อมูลเปิดนานาชาติ พ.ศ.2567 (International Open Data Day 2024) ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมที่กำหนดให้จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกโดยประเทศต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ในปีนี้จัดตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ในส่วนประเทศไทยมี DGA เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน International Open Data Day เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนี้ จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้หัวข้อ “Data-Driven for Sustainability” อันเป็นการแสดงถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ DGA   ได้มีการมอบรางวัลข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data Awards) ประจำปีพ.ศ.2566 พร้อมร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในโครงการวิเคราะห์และพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูล และข้อมูลเปิดภาครัฐ (Data Governance and Open Data) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการดำเนินงานของภาครัฐในยุคดิจิทัล ข้อมูลถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจในเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบ Data Driven Government  เพื่อให้ดำเนินการไปอยากลุล่วงและตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปประเมินในการลงทุน หรือการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้สิ่งสำคัญนอกจากข้อมูลเปิดภาครัฐแล้ว ยังได้มีการพัฒนาชุดข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  

ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ DGA เผยว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางเพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล โดยมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนให้หน่วยงานภาครัฐปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดการบริการออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในการติดต่อราชการ ซึ่งการผลักดันให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสามารถนำข้อมูลเปิดภาครัฐไปใช้ประโยชน์ พัฒนาต่อยอดนวัตกรรม การลงทุนในภาคธุรกิจ

รองผอ. DGA  กล่าวต่อว่า  ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่เปิดเผยข้อมูลแล้วกว่า 11,000 ชุดข้อมูล จากหน่วยงานราชการที่เผยแพร่ข้อมูลสะสม 1,386 หน่วยงาน มีการเข้าใช้บริการสะสมอยู่ที่ 19.31 ล้านครั้ง โดยมีผู้เข้าใช้บริการสะสม 5.35 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการทำให้ข้อมูลภาครัฐเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีค่า ทั้งนี้ได้มีการสำรวจความต้องการของประชาชนในการอยากทราบข้อมูลเปิดภาครัฐเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนให้ภาครัฐเปิดเผยชุดข้อมูลที่ตรงความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด ดังนั้นหากภาครัฐจะเป็นรัฐบาลยุคดิจิทัล จะต้องกล้าเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่อาจทำให้หน่วยงานภาครัฐยังไม่เปิดเผยข้อมูล เช่น ความพร้อม คุณภาพของข้อมูล และบางข้อมูลเป็นความลับหรือความมั่นคงก็ไม่อาจสามารถเปิดเผยได้

“อีกข้อมูลถ้าหากเปิดเผยจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสาธารณะ คือ การใช้บริการชิมช้อปใช้ หรือโครงการคนละครึ่ง ที่เป็นการใช้ข้อมูลพฤติกรรมของคนไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ทราบข้อมูลว่าคนไทยชอบซื้อสินค้าประเภทไหน ช่วงอายุเท่าไหร่ที่ซื้อ  สามารถขยายไปถึงต้นในการใช้วัตถุในการผลิต ที่มีผลต่อการผู้ประกอบการ รวมไปถึงบริการที่คนไทยนิยม ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้ามีกี่ประเภทและมีจำนวนกี่ร้าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้รัฐสามารถนำไปต่อยอดในการวางแผนพัฒนาที่จะสามารถสร้างมูลค่าได้มาก ”   ไอรดา กล่าว

รองผอ. DGA กล่าวต่อว่า ในปีนี้ยังได้ความร่วมมือที่สำคัญกับทาง สปสช. ในการร่วมเผยข้อมูลเปิดด้านสาธารณสุขที่สำคัญ 3 ชุด ได้แก่ ชุดข้อมูลการรับบริการยา สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชุดข้อมูลการใช้สิทธิรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน สิทธิหลักประกันสุขภาพ และชุดข้อมูลเครือข่ายหน่วยบริการ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการวิเคราะห์และพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศด้วยความมั่นใจ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.  กล่าวว่า หลังจากที่ได้ร่วมทดลองกับทาง DGA ในการทดลองเผยแพร่ข้อมูล เช่น ข้อมูลศักยภาพในการรักษาโรคที่ตรงกับความต้องการของประชาชน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับยา ซึ่งมีประโยชน์กับทั้งประชาชน และนักลงทุน เพราะสามารถทราบข้อมูลประชากรไทยส่วนใหญ่ใช้ยาประเภทไหนมากที่สุด ดังนั้นในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนาและกระจายข้อมูลเกี่ยวหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญ คือการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมประชากร 48 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในทุกด้าน ทั้งการรักษาพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ดังนั้นข้อมูลในระบบของ สปสช. จึงเป็นชุดข้อมูลสาธารณสุขระดับประเทศในการเชื่อมโยงนำสู่การจัดทำรวมถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายและพัฒนานโยบายสุขภาพของประเทศด้วยความมั่นใจ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานการดำเนินงานตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐได้  

ข้อมูลเปิดจาก สปสช. 

สำหรับรางวัลข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data Awards) ประจำปีพ.ศ.2566 แบ่งเป็น 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชุดข้อมูลที่ตรงกับความต้องการประชาชนอันดับ 1 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อันดับ 2 ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ อันดับ 3 ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, รางวัลชุดข้อมูลยอดนิยมอันดับ 1 ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ อันดับ 2 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อันดับ 3 ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และรางวัลชุดข้อมูลเปิดทรงคุณค่าให้กับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 39 หน่วยงาน

ณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามนโยบายของทางกรุงเทพฯ 9 ด้าน 9 ดี ที่มีส่วนที่เกี่ยวกับการให้บริการประชาชนที่สามารถสืบค้นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน หรือนำไปใช้อ้างอิง รวมถึงการเข้ามาใช้บริการในกรุงเทพฯได้ง่ายขึ้น ซึ่งข้อมูลยอดนิยมที่ประชาชนสนใจในการเข้าชมมาก อาทิ จำนวนประชากร ข้อบัญญัติงบประมาณ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา หรือนโยบายต่างๆ  เป็นต้น  โดยข้อมูลที่ทางกรุงทเพฯได้จัดทำขึ้นมีการประสานกับ DGA และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเปิดเผยข้อมูลจำนวน 1,500 ชุด ขณะนี้ทำไปแล้วทั้งสิ้น 1,105 ชุดข้อมูล และกำลังเร่งดำเนินการจัดทำอีกกว่า 3,000 ชุดข้อมูล เพื่อให้ปรชาชนนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

กฤษณา จิรวัฒน์สถิตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้และค้นหามากที่สุด คือ รายได้ รายจ่าย หนี้สิน เงินออมครัวเรือน ข้อมูลผู้ว่างงาน และจำนวนประชากรที่เก็บสถิติตามที่อยู่จริง แตกต่างจากทะเบียนราษฎร์ ที่จะเป็นข้อมูลตามทะเบียนบ้าน  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ นำไปวางแผนการพัฒนาในการคำนวนรายได้ต่อหัว หรือคาดการณ์เส้นความยากจนของประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  ส่วนประชาชนสามารถรับรู้ได้ว่ารายได้ที่รับอยู่ในระดับใดของเส้นความยากจน หรือภาคเอกชน สามารถใช้ในการประเมินในการทำธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ โดยมีหน่วยงานภาครัฐกว่า 280 หน่วยงาน ใน 77 จังหวัด ได้มาลงทะเบียนเพื่อเปิดเผยข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีการผลิตขึ้น สามารถเชื่อมต่อไปยังข้อมูลหน่วยงานงานรัฐต้นทางได้ด้วย ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเท่าเทียม

—————–

ใต้ภาพ

1ไอรดา เหลืองวิไล

6.  ข้อมูลเปิดจาก สปสช.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลยืนยันแอป ‘ทางรัฐ’ มีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูล

รัฐบาลยืนยันแอป‘ทางรัฐ’ มีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม ปลอดภัยสูง ระบบคลาวด์ภาครัฐมีระดับเสถียรภาพไม่น้อยกว่า 99.5% อย่ากังวลเรื่องถูกแฮกข้อมูล

ความก้าวหน้าของวงการข้อมูลเปิดสาธารณะ

ข้อมูลเปิดสาธารณะ (Open Data) คือ ข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาจากงานตามภารกิจหลักของหน่วยงาน (โดยมากมักเป็นองค์กรของรัฐ) แต่นำมาเผยแพร่ให้กับสาธารณะได้นำไปใช้งานต่อได้โดยไม่มีเงื่อนไขข้อจำกัด