เปิดยุทธศาสตร์'กุยบุรี' ลดขัดแย้งคน-ช้าง

เนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการรณรงค์สื่อสารให้คนไทยตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของช้างไทยจากปัญหาผืนป่าที่ถูกทำลายและลดลง ทั้งด้วยปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมจากน้ำมือมนุษย์รบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างสัตว์ประจำชาติ   ส่วนความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในหลายพื้นที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและเป็นปัญหาสะสมมานานรอการแก้ไข

งานอนุรักษ์ช้างไทยต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง นเรศณ์ เสือทุเรียน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF Thailand  กล่าวถึงปัญหาช้างป่าว่า ในอดีตช้างป่าในประเทศไทยมีจำนวนลดลงจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ การล่าช้างป่าเพื่อนำไปเลี้ยง  ,ล่าช้างเพื่อตัดเอางา และป่าซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของช้างลดลง แตกต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันช้างป่าเผชิญปัญหาใหญ่พื้นที่อาศัยลดลง เพราะประชากรเพิ่มขึ้นจากการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มข้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงมีความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตร องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO ช่วยกันอนุรักษ์ช้างป่า

เพราะเดิมทีปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ พบมากทางภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  ปัจจุบันเริ่มพบความขัดแย้งคนกับช้างในพื้นที่ทับลาน และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี   ถือว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ มีช้างป่าออกมารบกวนพื้นที่เกษตรมากขึ้นเกือบทั่วประเทศไทย  เราอนุรักษ์ดีเกินไป แต่ที่อยู่อาศัยของช้างเท่าเดิม ขณะที่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับช้างป่าน้อย

“ พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับช้างเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การเวนคืนไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะไม่กลับไปมองเรื่องอดีตว่าคนบุกรุกที่อยู่อาศัยของช้าง แต่จะมองเรื่องปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาช้างที่มาบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดความขัดแย้ง” นเรศณ์ ชวนคิด

ผจก.โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF Thailand   ได้ยกกรณีศึกษาประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างที่กุยบุรี ซึ่งอุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่มีประชากรช้างป่ากว่า 200 เชือก อาศัยอยู่ ทางอุทยานฯ  ดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับ WWF Thailand    เพื่อลดความขัดแย้งคนกับช้าง

นักอนุรักษ์ระบุว่า อุทยานฯ กุยบุรี มีพื้นที่ประมาณ 6 แสนไร่ ลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ราบที่เหมาะสมสำหรับเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามีน้อย ทำให้ชายขอบป่ากุยบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเหมาะกับการหากินของช้าง   ย้อนกลับไปการประกาศให้ผืนป่ากุยบุรีเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและรักษาป่าต้นน้ำ  สืบเนื่องจากมีช้างตาย เพราะมีการจัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกรและบางส่วนเป็นผู้มีอิทธิพล โดยมีการวางยาทำให้ช้างตาย นำมาสู่การเวนคืนพื้นที่ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ  รวมถึงมีโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องการอนุรักษ์ช้าง ซึ่ง WWF Thailand เข้าไปทำโครงการลดความขัดแย้งคนกับช้างและอนุรักษ์ช้างมากว่า 20 ปี  เรามีหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานระหว่างชาวบ้านและกรมอุทยานฯ เพื่อลดความขัดแย้ง อีกหน้าที่จะร่วมทำงานบริหารจัดการช้างป่าทั้งเชิงรุกและเชิงรับ

“ การจัดการเชิงรุกตามแนวพระราชดำรัส ร.9 สร้างแหล่งอาหารให้เพียงพอสำหรับช้างกระจายทั่วผืนป่า เช่น ปรับปรุงแปลงหญ้า ทำโป่งเทียม ปรับปรุงเรื่องบ่อน้ำ แหล่งน้ำ เพื่อให้มีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ช้างป่าในพื้นที่ป่ากุยบุรีมีประมาณ 200 เชือก แต่ที่ออกมารบกวนชุมชน ถือว่าเป็นส่วนน้อย ประมาณ 10 เชือก ส่วนช้างที่ออกมาเราต้องแก้ปัญหาเชิงรับ โดยทำงานร่วมกับกรมอุทยานฯ สนับสนุน จนท.ทีมเฝ้าระวัง เช่น เสบียง อุปกรณ์ในการลาดตระเวน การอบรมให้ความรู้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทีม จนท. รวมถึงเพิ่มเติมเทคโนโลยีทันสมัยด้วยระบบการเฝ้าระวังและการเตือนภัยสัตว์ป่าล่วงหน้า โดยติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ สำรวจจุดที่ช้างออก ซึ่งจะเป็นชายป่าเชื่อมมาพื้นที่เกษตร ภาพจะส่งมายังศูนย์ควบคุม ฝ่ายเฝ้าระวังจะรีบเข้าไปผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่าก่อนที่จะเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร อย่างสัปปะรด หรือมะม่วง รวมถึงแจ้งเตือนผ่านไลน์และวิทยุสื่อสารให้เครือข่ายเจ้าของไร่รู้ตัว ระบบนี้เพิ่มความปลอดภัยทั้งคนและช้าง “ นเรศณ์ กล่าว

ส่วนการผลักดันช้างกลับเข้าผืนป่า เขาบอกขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของช้างตัวนั้นๆ ถ้าช้างที่ไม่ดื้อมาก แค่ได้ยินเสียงรถจักรยายนต์ของเจ้าหน้าที่ก็จะกลับเข้าป่า ถ้าดื้อมากจะจุดประทัดขับไล่  โดยจนท.จะติดตามช้างจนเข้าป่าแน่นอน  เราเรียนรู้พฤติกรรมของช้าง ช้างเรียนรู้คน ซึ่งช้างป่ากุยบุรีไม่ออกมาเป็นฝูงช้างป่า ไม่มีการพังบ้านเรือนชาวบ้าน   บางครั้งออกมาตัวเดียว แต่บางคืนมาถึง 5-6 ครั้ง ทำให้พืชผลเสียหายมาก   อีกวิธีใช้โดรนผลักดันช้างป่า พบว่ามีประสิทธิผล ทำให้ช้างกลับเข้าป่าด้วยความรวดเร็ว สร้างความปลอดภัยให้ทีมเฝ้าระวังช้างป่าภาคพื้นดิน ช้างเองก็ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะกลาง

แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืนในพื้นที่กุยบุรี   นเรศณ์กล่าวว่าระยะยาวควรปรับปรุงแหล่งอาหารและเสริมประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน  ตลอดจนมีกองทุนเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนผู้เสียชีวิตจากเหตุช้างป่า ในการทำงานร่วมกับชาวบ้าน พบว่า ถ้าพืชผลทางการเกษตรกรไม่เสียหาย ชาวบ้านจะไม่โกรธแค้นช้าง ทุกคนเจอช้างก็รักช้าง ไม่อยากทำร้าย นอกจากนี้ ชาวบ้านควรมีรายได้เสริมจากการสูญเสียรายได้ที่เป็นผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ในอนาคตอาจมีการขยายผลสําเร็จโดยการแบ่งปันความรู้ให้กับพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาเดียวกัน

“ มองว่า การที่การทำงานลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างต้องทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ชาวบ้าน ทำตามศักยภาพและอำนาจหน้าที่ เพราะไม่สามารถที่จะหยุดช้างที่ออกมาจากป่ารอยต่อได้เพราะเดิมเป็นพื้นที่หากินของช้างป่า ถ้าทำได้จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและลดโอกาสเกิดความขัดแย้งได้มากที่สุด คนและช้างอยู่ร่วมกันได้ ” นเรศณ์ กล่าว

ทั้งนี้ การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างที่กุยบุรีเป็นหนึ่งในโมเดลลดความขัดแย้ง หยุดความสูญเสีย และช่วยอนุรักษ์ประชากรช้างไทยไม่ให้จำนวนลดลง  แต่การจัดการช้างป่าของแต่ละพื้นที่นั้นไม่มีสูตรสำเร็จ มาตรการแต่ละพื้นที่ต้องคิด วิเคราะห์ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คึกคัก! เปิดภูกระดึงรอบ 2 อบรมป้องกันช้างป่า ก่อนนักท่องเที่ยวเดินขึ้น

ตั้งแต่เวลาประมาณ 05:00 น. ได้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศทยอยเดินทางมายังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งเป็นวันแรกที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงกลับมาเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง

ภาพหาดูยาก! ภูกระดึงสุดเงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยว

บรรยากาศบนยอดภูกระดึงที่ทำการวังกวาง ในช่วงเช้าจนถึงปัจจุบัน หลังที่นักท่องเที่ยวจำนวน 889 คน ชุดสุดท้าย เดินทางลงจากเขาทำให้บรรยากาศโดยรวมบนยอดภูกระดึง

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำนักท่องเที่ยวทั้งหมด 889 คน ลงจาก 'ภูกระดึง'

นายอดิศร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เปิดเผยว่า  เช้าวันนี้ (13 ธ.ค.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงบนที่ทำการวังกวาง

สั่งปิดขึ้น 'ภูกระดึง' ไม่มีกำหนด หลังช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต

น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากกรณีช้างป่าบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ทำร้ายนักท่องเที่ยวหญิงเสียชีวิตขณะเดินเที่ยวในเส้นทางระหว่างทางเดินจากองค์พระพุทธเมตตาไปน้ำตกเพ็ญพบใหม่

สุดสลด! 'ช้างภูหลวง' โดนกับดักสปริงรัดงวงจนเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง พบซากช้างป่าเพศผู้โตเต็มวัยเสียชีวิต หลังถูกกับดักสปริงรัดบริเวณงวง ในพื้นที่ห้วยน้ำริน บ้านสองคอน ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ

สลด! ช้างป่าถูกไฟช็อตตาย ขณะกินต้นเต่าร้างบนยอดเขาเรดาร์ชุมพร

โขลงช้างป่า 6 ตัว จากอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ.ระนอง ย้ายถิ่นเข้ามาหากินเข้าจังหวัดชุมพร นาน 1 ปี ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ-นาสัก ตายสลดบนยอดเขาเรด้าสถานีทวนเสาสัญญาณโทรศัพท์ขณะใช้งวงดึงต้นเต่าร้างกิน