ไหว้พระธาตุพันปี 'พระธาตุช่อแฮ' ยลวิถีชุมชนโบราณ

พระธาตุช่อแฮ เด่นตระหง่านคู่เมืองแพร่

วัดพระธาตุช่อแฮ  พระอารามหลวง ต.ช่อแฮ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่  วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ เมื่อยามใดที่ได้มีโอกาสมาเยือนถิ่นเมืองแพร่ หากไม่ได้มากราบสักการะพระธาตุช่อแฮก็เหมือนมาไม่ถึงแพร่ อย่างไรอย่างนั้น  นอกจากเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำให้อยากมาสักการะกราบไหว้แล้ว ที่นี่ยังมีเสน่ห์ความน่ารักของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์รอบพระธาตุ  ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่แสดงถึง การสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าดั้งเดิมชวนให้มาสัมผัสกันอีกด้วย

การเยือนแพร่ครั้งนี้ เป็นการเดินทางมากับทางกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยมียุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด”ชุมชนวัดพระธาตุช่อแฮ “ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถ้าเห็นรายละเอียดของชุมชน  ก็จะไม่แปลกใจที่ชุมชนแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นชุมชนเป็นต้นแบบของกระทรวงวัฒนธรรม   หัวใจหลักความโดดเด่นของชุมชนก็คือ  ความมุ่งมั่นตั้งใจและความสามัคคีรวมพลังกันของคณะสงฆ์ ชาวบ้าน นำโดยพระโกศัยเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ ที่ร่วมกันพัฒนาและสืบสานวิถีภูมิปัญญาในชุมชนได้อย่างเด่นชัด   ซึ่งถือว่าเป็นการส่งมอบประสบการณ์ ให้แก่นักท่องเที่ยวได้อย่างน่าประทับใจ

ขึ้นบันไดไปสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ

ปลัดยุพา กล่าวถึงชุมชนวัดพระธาตุช่อแฮ ว่าเป็นชุมชนที่มีศักยภาพและความเข็มแข็ง  อีกทั้งยังมีอัตลักษณ์ของชุมชน ที่โดดเด่น  มีการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายและดำเนินอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชน การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน มีการพัฒนาต่อยอดอาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมให้มีความหลากหลายและน่าสนใจ ทำให้เกิดการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในชุมชน

สำหรับพระธาตุช่อแฮ ในทางสายมูเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นองค์พระธาตุประจำปีขาล หรือ ปีเสือ ตามคติความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนา ซึ่งเรื่องราวความเป็นมาของพระธาตุองค์นี้ก็มีมุมที่น่าสนใจ อย่างชื่อ ช่อแฮ มีคำบอกเล่าต่อกันมาว่า มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนาที่ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือประมาณเดือนมีนาคมในปัจจุบัน

 เวียนเทียนรอบพระธาตุเสริมสิริมงคล

หรือเรื่องราวประวัติของพระธาตุช่อแฮ ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งมีตำนานหลากหลายแง่มุมกล่าวไว้ว่า ตำนานแรกพระธาตุช่อแฮในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) โดยพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อมให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ ส่วนอีกตำนาน คือ ตำนานพระธาตุช่อแฮในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ระบุว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองพล หรือ เมืองแพร่ในอดีต ทรงประทับที่ดอยโกสิยธชัคคะบรรพต หัวหน้าชาวลัวะคือ ขุนลัวะอ้ายก้อมได้มากราบสักการะ พระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ และได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) เป็นที่ระลึก เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ให้นำพระบรมสารีริกธาตุพระข้อศอกข้างซ้าย มาบรรจุไว้ ณ สถานที่แห่งนี้

พระอุโบสถ วัดพระธาตุช่อแฮ

ลักษณะภายนอกขององค์พระธาตุช่อแฮที่มีสีเหลืองทองอร่าม  เป็นเจดีย์ศิลปะล้านนา ทรงแปดเหลี่ยม บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก ยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม และนักท่องเที่ยวสามารถมาทำกิจกรรมเวียนเทียนรอบพระธาตุได้ด้วย

ส่วนด้านหน้าก่อนองค์พระเจดีย์ เป็นพระอุโบสถของวัด  ภายในมี “พระเจ้าช่อแฮ” เป็นพระประธานประดิษฐานภายในพระอุโบสถ  ซึ่งออกแบบตามศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย  สร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทองภายนอก  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว มีอายุหลายร้อย

พระเจ้าช่อแฮ พระประธานประจำวัดพระธาตุฯ

เดินออกมาทางด้านหลังจะเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์พระธาตุช่อแฮฯ ขนาดเล็กที่ได้รวบรวมเรื่องราวๆ ของพระธาตุช่อและวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่นี่ ซึ่งด้านในจะมีการจัดแสดงเรื่องราวประวัติของพระธาตุช่อแฮ การอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะโบราณและกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน เอกสารโบราณในการแสดงค่าใช้จ่ายซ่อมแซมพระธาตุในอดีต ยังมีรอยมือ รอยเท้า และดวงชะตาของครูบาศรีวิชัย จากวัดพระเจ้าตนหลวง จ.พะเยา รวมไปถึงเครื่องใช้และโกศบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย ที่ได้อัญเชิญจากเมืองลำพูน มาบรรจุสถูป ที่วัดพระธาตุช่อแฮ หรือพระพุทธรูปไม้โบราณ ซึ่งเป็นศิลปะจากช่างฝีมือเมืองแพร่  ถัดมาจะเป็นชุดแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุช่อแฮ

ส่วนโถงกลางห้องได้นำพระเจ้าไม้สักทอง ที่มีรูปแบบศิลปะล้านนาที่มีการแกะสลักจากไม้สักทองท่อนเดียว เป็นพุทธศิลป์เอกลักษณ์ของเมืองแพร่ อีกความเชื่อที่น่าสนใจของชาวล้านนาคือ วิหารน้อย ซึ่งเป็นโมเดลจำลองวิหาร เพื่อให้คณะผู้มีจิตศรัทธาได้เห็นภาพของวิหารก่อนสร้างจริง แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้มิได้มีขนาดใหญ่โออ่าอลังการ หรือเทคโนโลยีการจัดแสดงที่ทันสมัย แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวและความงดงามของศิลปะของชาวเมืองแพร่

โกศบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย

มาถึงไฮไลท์ที่สำคัญของการมาเยือนแพร่ในครั้งนี้ คือ วิถีของชุมชนวัดพระธาตุช่อแฮ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะโบราณและกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน จากตำนานผู้สร้างพระธาตุช่อแฮ คือ ขุนลัวะอ้ายก๊อม สันนิฐานว่าเป็นบรรพบุรุษของคนในชุมชนรอบวัดพระธาตุช่อแฮในปัจจุบัน คือ ชาวลัวะในอดีต ส่วนชาวไท-ยวน หรือ คนเมือง คือ กลุ่มที่มาอาศัยอยู่ภายหลัง จึงเกิดการหลอมรวมวัฒนธรรมระหว่างชุมชนร่วมกัน จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ อาทิ ประเพณีตานสลากข้าวหม้อ ประเพณีตานสลากก๋วย ซึ่งมีจุดที่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรม ได้ลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ กับปราชญ์ชาวบ้านโดยตรง

พระพุทธรูปไม้โบราณ

แม้ว่าจะไม่ได้เดินทางไปสัมผัสวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนโดยตรง แต่บริเวณลานวัดที่ปกติจะมีการเปิดแผงขายของอยู่แล้วนั้น ได้ถูกเนรมิตให้ได้เห็นภาพความเข้มแข็งและการต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญา คติ ความเชื่อ และทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่มาสร้างประสบการณ์ร่วมให้นักท่องเที่ยวของชุมชนแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน สิ่งที่พลาดไม่ได้ที่มาถึงแล้วต้องเปิดประสบการณ์รับรสก่อนเลย ก็คืออาหารถิ่น เมนูที่ต้องลองคือ แกงแค ลาบคั่ว แกงผักอะเยาะอะแยะ ข้าวพันสมุนไพร แกงฮังเล หรือตลาดผัก ผลไม้ท้องถิ่นก็มีมาขาย

พระเจ้าไม้สักทอง

 มาต่อกันโซนงานฝีมือ อาทิ การสาธิตทำตาแหลว หรือ ดวงตาของนกแหลว ภาษาไทย ก็คือ ดวงตานกเหยี่ยว โดยการนำตอกไม้ไผ่มาสานขัดกันเป็นมุมสามมุมขึ้นไป  ซึ่งคนล้านนาจะนำมาประกอบในพิธีสำคัญ เช่น สืบชะตาบ้านเมือง หรือนำไปแขวนไว้ที่บ้าน ในรถ เพราะเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย

แม่อุ๊ยสาธิตทำตาแหลว ภูมิปัญญาโบราณ

อีกหนึ่งงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะต้องมาชมการสาธิตทำจักสานก๋วยสลาก  คือการทำชะลอมขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่แล้วแต่ผู้ที่ทำ ซึ่งที่จะแพร่จะมีการจัดเป็นงานประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่ชาวล้านนาแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หรือสาธิตการทำสวยดอก  กรวยดอกไม้ที่บรรจุธูป เทียน ซึ่งใช้เป็นเครื่องสักการะของชาวล้านนา ชุมชนแห่งนี้มีการต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญา คติ ความเชื่อ และทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่มาสร้างประสบการณ์ร่วมให้นักท่องเที่ยว ในการทำตุง เทียนปูจา หรือ เทียนสืบชะตา ที่ใช้ในพิธีสืบชะตาอีกด้วย

สาธิตทำจักสานก๋วยสลาก

หากมีโอกาสก็สามารถขับรถเยี่ยมชมตลาดจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมชุมชน บริเวณด้านหน้าลานหอเจ้าพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม วัดพระธาตุช่อแฮ ศึกษาแหล่งเรียนรู้การแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน ครูกาญจนา ทองคำ ศึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าด้นมือ กลุ่มต้นแบบผ้าด้นมือคริสจักรสามัคคีธรรมที่ 5 ชมข่วงวัฒนธรรมในชุมชน นวัตวิถีบ้านพันเชิง ชมตลาดชุมชนบ้านใน ที่ท่าน้ำสบก๋อน สำหรับผู้สนใจท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ facebook : Watphrathatchohae และยูทูป พระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง

สวยดอก เครื่องสักการะของชาวล้านนาที่้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น หาชมได้ที่นี่

 พิธีสืบชะตา ที่จะจัดขึ้นในโอกาสพิเศษ
ใส่ชุดพื้นเมือง เที่ยวชุมชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เที่ยว'บ้านฟ้าหยาด' ยลวัฒนธรรมครบรส

มนต์เสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านฟ้าหยาด ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย  จ.ยโสธร พร้อมใจกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยเฉพาะประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกมีอัตลักษณ์คู่เมืองยโสธร  ที่คนในชุมชนนำข้าวเปลือกมาคั่วใ

วิถี'ปกาเกอะญอ' วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ชวนเดินทางไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เพื่อพบกับชุมชนชาวปกาเกอะญอ หรือที่เรียกว่า “กะเหรี่ยง”  ที่ยังคงใช้ชีวิตตามวิถีปกาเกอะญอ

ตั้งศูนย์สืบสานอุปรากรจีน สานต่องิ้วศิลปะล้ำค่า

เปิดการแสดงงิ้วถ่ายทอดศิลปะล้ำค่า เชื่อมไมตรีประเทศไทยและประเทศจีนอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสครบรอบ 42 ปี งิ้วไทย-จีน    การสืบสานงิ้วศิลปะโบราณครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มูลนิธิส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรม สมาคมอุปรากรศิลปะไทย-จีนแห่งประเทศไทย

วธ.ลุยตลาดเมืองคานส์ ชวนลงทุนถ่ายทำหนังในประเทศ

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ คานส์ ฟิล์ม เฟสติวัล 2024 ที่เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2567 มีนานาประเทศร่วมเทศกาลเพื่อแสดงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ สำหรับประเทศไทย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา สัมผัสอัตลักษณ์บ้านสบคำ

อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งลาว ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทยวน พม่า  เมี่ยน ม้ง ลั้วะ อาข่า ลาหู่ โดยเฉพาะในชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ต.เวียง อ.เชียงแสน  เป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย

'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (2)

มาจาริกแสวงบุญตามเส้นทางพุทธภูมิพาเดินทางข้ามด่านชายแดนเนปาล เพื่อไปบ้านเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองลุมพินี เรามีเวลาอยู่ที่อุทยานลุมพินีวันสถาน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าหลายชั่วโมง