"เด็กที่เป็นLD จะโดนล้อ โดนบูลลี่ เด็กบางคนแม้เรียนอยู่ป.5 แต่ความสามารถการอ่าน ยังอยู่แค่ระดับป.2 เด็กที่บกพร่องการอ่าน จะกลัวการอ่านมาก พออ่านไม่ได้ ไม่ได้ทำการบ้าน ครูถ้าไม่เข้าใจว่าเด็กมีปัญหา ก็จะลงโทษ หาว่าขี้เกียจเรียน หาว่าโง่ เด็กจึงผูกการอ่านกับการลงโทษ กลัวการอ่านมาก และจะมีความบอบช้ำรุนแรงทางจิตใจ..."
LD ย่อมาจากคำว่า learning disorder หรือในภาษาไทยใช้ชื่อว่า โรคการเรียนรู้บกพร่อง เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง ทั้งที่เด็กรายนั้นมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นๆปกติดี
รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล Bangkok Mental Health หรือ BMHH โรงพยาบาลรักษาด้านสุขภาพจิตเอกชน กล่าวว่า จากสถิติทั่วโลกพบว่ามีเด็กระดับชั้นประถมศึกษาที่เป็น LD หรือ Learning disorders หรือ Learning disabilities ประมาณ 5% ถือว่าไม่น้อย ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์นี้ด้วยเช่นกัน โดยจะพบแบบรุนแรง 1-2% ส่วนที่เหลือ 3% เป็นแบบไม่รุนแรงสามารถช่วยตัวเองได้ ทั้งนี้ พบว่าเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเป็น LD มีตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่เด็กผู้ชายมักถูกส่งมาพบแพทย์มากกว่า เนื่องจากมีพฤติกรรมดื้อและซน ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะเรียบร้อย ไม่ค่อยแสดงออก ส่วนโรคร่วมอย่างสมาธิสั้นจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงอย่างชัดเจน
แม้ในปัจจุบันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก LD หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในประเทศไทยจะขยายวงกว้างมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ยังมีผู้ปกครองและคุณครูจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิด คิดว่าเด็ก LD ที่มีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การคำนวณ หรืออาจมีพฤติกรรมไม่สนใจและไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้าและไม่เสร็จ เป็นเด็กดื้อ เกเร
"เด็กที่เป็น LD หากไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะเรียนรู้ที่ดีพอ อาจอาจนำไปสู่การสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคตได้ง่าย ทั้งที่เด็ก LD หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม"รศ.นพ.มนัทกล่าว
โรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ แอลดี แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความบกพร่องด้านการอ่าน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดของเด็ก LD โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
2. ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออก ผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
3. ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ เด็กขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการคิดคำนวณ ต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
ส่วนสาเหตุของโรค LD รศ.นพ.มนัทกล่าวว่า หลักๆมาจากการทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา แต่จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า 50%ของเด็กที่เป็น LD ยังเกิดจากพันธุกรรม มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็น นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม
"เด็กที่เป็นLD จะโดนล้อ โดนบูลลี่ เด็กบางคนแม้เรียนอยู่ป.5 แต่ความสามารถการอ่าน ยังอยู่แค่ระดับป.2 เด็กที่บกพร่องการอ่าน จะกลัวการอ่านมาก พออ่านไม่ได้ ไม่ได้ทำการบ้าน ครูถ้าไม่เข้าใจว่าเด็กมีปัญหา ก็จะลงโทษ หาว่าขี้เกียจเรียน หาว่าโง่ เด็กจึงผูกการอ่านกับการลงโทษ กลัวการอ่านมาก และจะมีความบอบช้ำรุนแรงทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป๋นห่วงมาก จากสถิติเด็กที่ทำผิดทางอาขญากรรมยังพบว่าเป็นเด็กที่เป็น LD จำนวนมาก เพราะเขาใช้ชีวิตลำบาก เข้าสังคมลำบาก คิดว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น ปัญหานี้จะติดตัวเขาไปจนโต ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข"
รศ.นพ.มนัท กล่าวว่า จะวินิจฉัยได้อย่างไรว่าเด็กคนไหนเป็น LD ซึ่งการรวบรวมประวัติการเรียนและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กแต่ละด้านเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งรายงานจากครูประจำชั้น การทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน เด็ก LD จะมีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าเพื่อนนักเรียนในชั้นอย่างชัดเจนและเป็นปัญหาที่กระทบต่อการเรียนอย่างต่อเนื่อง เด็ก LD มีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ที่พบร่วมกันได้ถึงร้อยละ 40 – 50 เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร ปัญหาการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตา
"สิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยคือ พบว่ามีเด็ก LD เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองบางคนต้องทำงาน ไม่มีเวลา หรือบางคนมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ทั้งที่เด็กหลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม โดยการช่วยเหลือหากเริ่มตั้งแต่ยิ่งเล็กยิ่งดี "
การแกัปัญหา แน่นอนว่าอันดับแรกคือ พ่อแม่ต้องเปิดใจ เพราะลูกต้องการความช่วยเหลือ ไม่ได้เกเรหรือขี้เกียจ การหลบเลี่ยงเป็นผลที่ปลายเหตุ โดยกระบวนการรักษาจะแนะนำทั้งผู้ปกครอง ลูก และโรงเรียน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน
"ผมเคยทำโครงการร่วมกับโรงเรียนที่ใกล้กับรพ.รามาฯ เพื่อหาเด็กที่เป็น LD สมมุติว่าคุณครูคัดเด็กป.1-ป.6 มาได้ 100 คน ที่สงสัยว่าเป็น LD และส่งจดหมายไปให้ผู้ปกครองมาทำ Test ซึ่งผู้ปกครองมาแค่ 60คน แต่จากจำนวนนี้ มาฟังผลทดสอบเพียงแค่ 30% และอีกกรณีที่เด็กที่มารักษากับผม พอคุณครูให้ความร่วมมือ จัดเวลาสอนพิเศษการอ่าน สะกดคำ การเขียน แบบตัวต่อตัว ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน พบว่าทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นกว่าการพบหมออย่างเดียว "
รศ.นพ.มนัท กล่าวอีกว่า เด็กที่เป็น LD หากได้รับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ในที่สุดโตขึ้นก็สามารถจัดการตัวเองได้ โดยมีนายแพทย์ท่านหนึ่งที่เป็นLD ทุกวันนี้ ก็ยังมีปัญหาการอ่าน อ่านได้ช้า แต่ท่านก็สามารถมีวิธีการที่จะจัดการตนเองได้ หรือแม้แต่เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก ก็เคย เป็นเด็กLD มาก่อน แต่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่เด็ก จนประสบความสำเร็จอยู่ในสังคมได้
" เด็ก LD ต้องการความช่วยเหลือตั้งแต่วัยเล็ก ๆ เพื่อช่วยให้เชื่อว่าเขาทำได้ ไม่ได้เป็นคนล้มเหลว รวมถึงหาความสามารถพิเศษร่วมไปด้วยและต้องมีการฝึกฝน ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีทีมช่วยเหลือที่เข้มแข็ง คุณครูต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี เพื่อคัดกรองและประเมินเด็ก โดยรวมคือทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม” รศ.นพ.มนัท กล่าว.
---------------------
โค้ดคำพูด
"เด็กที่เป็นLD จะโดนล้อ โดนบูลลี่ เด็กบางคนแม้เรียนอยู่ป.5 แต่ความสามารถการอ่าน ยังอยู่แค่ระดับป.2 เด็กที่บกพร่องการอ่าน จะกลัวการอ่านมาก พออ่านไม่ได้ ไม่ได้ทำการบ้าน ครูถ้าไม่เข้าใจว่าเด็กมีปัญหา ก็จะลงโทษ หาว่าขี้เกียจเรียน หาว่าโง่ เด็กจึงผูกการอ่านกับการลงโทษ กลัวการอ่านมาก และจะมีความบอบช้ำรุนแรงทางจิตใจ..."
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ARTSTORY' ออทิสติกกับชีวิตที่มีคุณค่า
ในงาน ARTSTORY EVENT AND “ALEX & THE GANG” เราได้พบความอัจฉริยะผ่านผลิตภัณฑ์น่ารัก สดใส ที่ออกแบบโดยศิลปินเด็กพิเศษ นำโดยอเล็ก - ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ และเพื่อนๆ ทั้ง 5 คน น้องทิว น้องมิกว์ น้องเอ น้องออกัส และน้องบิ๊ก จาก ARTSTORY วิสาหกิจเพื่อสังคมภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิออทิสติกไทย
BMHH รพ.เฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ทางเลือกใหม่ชูกลยุทธ์สร้างความต่าง"การรักษาแบบเฉพาะบุคคล"
คนไทยจำนวนหนึ่งยังขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง นำไปสู่การละเลย เพิกเฉย และปฏิเสธการเข้ารับบริการสุขภาพจิต อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆ ที่