12 ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 ร่วมงานวันศิลปินแห่งชาติ น้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และแสดงผลงานทรงคุณค่าในนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 โดย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธี พร้อมด้วย นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เข้าร่วม นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 ณ อาคารอเนกประสงค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ศิลปินแห่งชาติถือเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศในศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผลงานด้านศิลปะ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และสร้างขวัญกำลังใจแก่ศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ แล้ว 354 ท่าน โดยนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ 2565 ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดขึ้นในนี้เพื่อเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง อันจะเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป
นิทรรศการมีความน่าสนใจเป็นการเผยแพร่ประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ 2565 ทั้ง 12คน ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร (ภาพพิมพ์) นายเจตกำจร พรหมโยธี(สถาปัตยกรรมผังเมือง) นายดิเรก สิทธิการ (งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะ) นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์) สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ ศ.เกริกยุ้นพันธ์ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางนพรัตน์ศุภาการ หวังในธรรม (ละครรำ) นายสมชาย ทับพร (ดนตรีไทย – ขับร้อง) นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร (หมอลำประยุกต์) นายธงไชย แมคอินไตย์ (ดนตรีไทยสากล – ขับร้อง) นายสมเถา สุจริตกุล (ดนตรีสากล – ประพันธ์เพลงร่วมสมัย) และ นายประดิษฐ ประสาททอง (ละครร่วมสมัย)
นายธงไชย แมคอินไตย์ ร่วมงานวันศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า วันศิลปินแห่งชาติเป็นโอกาสน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ 2 ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เบิร์ดรู้สึกดีใจมาก สิ่งที่ทำไม่ได้สูญเปล่า ได้นำเสนอความเป็นไทย การมาร่วมงานวันศิลปินแห่งชาติครั้งนี้เหมือนได้กลับมาที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่เกิดของตน การได้มายืนรวมกับเหล่าศิลปินแห่งชาติ รู้สึกว่าเราตัวเล็กมาก เพราะศิลปินแห่งชาติแต่ละท่านเก่งในแต่ละด้าน ล้วนเป็นศิลปินที่มีความสามารถมากมาย เป็นหัวกะทิของแผ่นดิน การเป็นศิลปินแห่งชาติต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ และส่งต่อความรู้ ภาคภูมิใจมากที่ได้รับการยกย่อง ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการดูแล ไม่เคยเหนื่อยกับการทำงาน ไม่หยุดพัฒนาผลงาน อยากให้ทุกคนมีความสุข ตลอดปีนี้จะมีคอนเสิร์ต และจะส่งพลังให้กับศิลปินรุ่นใหม่
นายดิเรก สิทธิการ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะเป็นมรดกภูมิปัญญาล้านนา เดิมทำเครื่องเงินเพื่อใช้ในหมู่บ้านวัวลาย จ.เชียงใหม่ อย่างขันเงิน คนโท เป็นศิลปหัตถกรรมที่อยู่คู่ชุมชนมาตลอด ก่อนที่ตนจะพัฒนาเป็นงานสลักดุนที่ใช้ประดับตกแต่งบ้านและวัด โดยใช้โลหะ พัฒนาเป็นงานนูนต่ำ นูนสูง สร้างสรรค์จากเรื่องราวในวรรณคดี พุทธประวัติ วรรณกรรมรามเกียรติ์ มีต้นแบบจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว ตนเป็นศิลปินที่ร่วมสร้างโบสถ์เงินวัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนที่สนใจ ถ่ายทอดความรู้มาตลอด ตลอดชีวิตทุ่มเทสืบสานงานสลักดุน สมัยก่อนครูหวงวิชา แต่ตนพร้อมส่งต่อความรู้นี้ เพราะเป็นศิลปะที่มีคุณค่า
นายประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า ปลื้มใจที่ได้ร่วมงานวันศิลปินแห่งชาติ จะสร้างงานละครร่วมสมัยต่อไป เพราะเป็นศิลปะการละครสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ที่มีชีวิตร่วมกัน แม้ต้นเรื่องเป็นเรื่องโบราณมาพลิกมุมมอง เล่นใหม่ แต่ส่งสารที่มีประโยชน์ เปิดมุมมองสังคมที่แตกต่าง รับความคิดเห็นที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความเป็นปัจเจกและสังคม ตลอดชีวิตจากศิลปินศิลปาธรได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติทำงานอย่างสนุกและมีความสุข ผลงานไม่สมบูรณ์ถ้าไม่มีผู้ชม หลังละครจบคนนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือตั้งคำถาม สะกิดต่อมคิดก็สุขที่สุดแล้ว
“ อยากชวนชมนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ แสดงผลงานหลายสาขา รวมถึงศิลปะละครร่วมสมัย สื่อถึงการยอมรับสิ่งที่นอกกระแส กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดวัฒนธรรมด้วยการคิดนอกกรอบ ผมเตรียมสร้างผลงานและสร้างอาร์ตสเปซแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งนำเสนอ Soft Power เพราะนี่คือเสนห์ของไทย สร้างความรัก ประสานให้เกิดความร่วมมือ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน “ นายประดิษฐ กล่าว
เชิญชวนประชาชน ศิลปิน นักเรียนนักศึกษาข้าชมนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แต่งชุด 'เคบายา' ทั้งเมืองภูเก็ต ฉลองยูเนสโกขึ้นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดภูเก็ตจัดงานเฉลิมฉลองการได้รับประกาศ ต้มยำกุ้ง และ ชุดแต่งกาย เคบายา เป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทบัญชี รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
บอร์ด ICH ขึ้นบัญชี 10 มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ‘งานนมัสการพระธาตุพนม-เสื่อกกจันทบูร-ผ้าหม้อห้อม-ตำนานสุบินกุมาร‘
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครั้งที่ 3/2567 พิจารณาเห็นชอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
อาลัย ‘สันติ ลุนเผ่’ ศิลปินแห่งชาติ นักร้องเสียงทรงพลังอมตะ ผู้ขับร้องเพลงปลุกใจรักชาติ
10 ธ.ค.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า ได้รับการประสานงานจากผู้ดูแลของเรือตรี สันติ ลุนเผ่ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พ.ศ.2558 ว่า เรือตรี สันติ ลุนเผ่ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม
ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม
โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List