5 พื้นที่จมฝุ่นเดินหน้า'เขตมลพิษต่ำ'

สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี หลายเขตค่าฝุ่นถึงระดับวิกฤตทะลุ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมทุกเขตใน กทม. อ่วมจากฝุ่นปกคลุม  แม้ตอนนี้ชาว กทม. พอหายใจหายคอให้สะดวกขึ้น ไม่แสบคอ คันตา เพราะศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์พื้นที่ กทม.และปริมณฑล จะมีคุณภาพอากาศดีไปถึงสัปดาห์หน้า ประชาชนสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้ง และออกกำลังกายในช่วงนี้ได้อย่างเต็มที่  เพราะค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาฝุ่นพิษได้รับการแก้ไขแล้ว ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดที่เป็นต้นตอฝุ่นจิ๋วภัยเงียบ ต้องเร่งลดการปล่อยมลพิษอากาศอย่างจริงจัง ลดการใช้รถยนต์ งดการเผาทุกชนิดเพื่อให้มีอากาศสะอาดหายใจต่อเนื่อง

ปทุมวันเป็นพื้นที่แรกในกรุงเทพฯ ที่พัฒนาโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) สร้างกลไกความมือจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในพื้นที่ วัด มหาวิทยาลัย และชาวกรุงเทพฯ ร่วมลดการระบายมลพิษฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว  ปีนี้โครงการเขตมลพิษต่ำ ซึ่งขับเคลื่อนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และภาคีเครือข่าย ขยับเข้าสู่ระยะที่ 2 มีการขยายผลเพิ่มอีก 4 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด หรือระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ  ได้แก่ คลองสาน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย,คลองเตย และบางรัก เป้าหมายลดมลพิษอากาศในพื้นที่ โดยจัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ภาคีเครือข่ายทั้งหมดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันก่อน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศ คือ ต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากทั้งหมดของประเทศ สสส. มุ่งขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาสู่การพัฒนาโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) จากแนวคิดที่มีต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เน้นสร้างความร่วมมือหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ วัด และประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ต้นทาง

สำหรับโครงการในระยะที่ 1 นำร่องในพื้นที่เขตปทุมวัน นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า พื้นที่ปทุมวันพัฒนานวัตกรรม 3 เรื่อง ประกอบด้วยระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) รายงานผลการตรวจสอบสภาพรถและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน 1,000 คัน จัดบริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการในพื้นที่ ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM 2.5 ที่แสดงผลทันที ถือเป็นการสร้างมาตรการกลไกการมีส่วนร่วมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งไฟฟ้าสาธารณะ พลังงานสะอาด ร่วมกับศูนย์การค้าจัดกิจกรรมบำรุงรักษาตรวจสอบสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด เขตปทุมวันกลายเป็นถนนอากาศสะอาด ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลงถึง 10%

 “ เฟส 2 เร่งขยายผลเพิ่ม 4 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด  ได้แก่ คลองสาน ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย บางรัก ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการต้นแบบลดมลพิษทางอากาศเพิ่ม 100 องค์กร ภายในปี 2567 ถือเป็นมาตรการสานพลังทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะของประชาชนที่ดีขึ้น “ นพ.พงษ์เทพ กล่าว

ด้าน ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการ ศวอ. กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ LEZ เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการภาคเอกชนในพื้นที่เขตปทุมวัน บริเวณตั้งแต่แยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ เกิดระยะทางถนนอากาศสะอาดกว่า 1 กม. โดยมีแนวทางลดมลพิษอากาศ 5 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบายองค์กร 2.การลดมลพิษอากาศขององค์กรและบุคลากรในองค์กร 3.การลดมลพิษจากไอเสียรถของซัพพลายเออร์ 4.การลดมลพิษจากไอเสียรถของลูกค้า 5.การติดตามประเมินและเผยแพร่ข้อมูล มีผู้ประกอบการต้นแบบในการลดมลพิษทางอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ 8 องค์กร

เขตมลพิษต่ำเป็นอีกกลไกหนุนแผนลดฝุ่นปี 2567 ของ กทม.ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี อยู่ที่ 47.0-105.0 มคก.ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐาน 37.5 มคก.ลบ.ม. มลพิษอากาศในกทม. เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ การจราจรขนส่งในเขตพื้นที่เมือง และการเผาไหม้ในที่โล่ง  โครงการ LEZ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นการพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เกิดพื้นที่นำร่องเขตปทุมวันที่สร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมลดมลพิษอากาศที่เกิดจากการใช้รถและการเผาจากการจุดธูป เทียนในบริเวณวัด ศาลเจ้า นำไปสู่การประยุกต์ใช้แนวทางควบคุมพื้นที่มลพิษต่ำในพื้นที่อื่นๆ ที่สอดคล้องตามแผนการลดฝุ่น 365 วัน ปี 67 ของ กทม.ได้  นอกจากลดฝุ่นที่แหล่งกำเนิด ยังมีแนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียว อย่างสำนักงานเขตคลองเตยพัฒนาพื้นที่เล็กๆ รกๆ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนหย่อมให้คนพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากเพิ่มพื้นที่สีเขียว ได้สร้างกำแพงกรองฝุ่นพิษด้วย

ว่าที่ ร.ต.วิรัช กล่าวด้วยว่า ช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กทม.ได้ประกาศให้หน่วยงานในสังกัด Work from Home ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.  และขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน 151 แห่ง รวม 60,279 คน  ร่วม WFH  ช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ต่อชั่วโมงลดลงประมาณ 8% การไม่เดินทางออกไปทำงานช่วงที่ฝุ่น PM2.5 สูง นอกจากช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นระหว่างการเดินทางแล้ว ยังลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน สาเหตุหนึ่งของมลพิษอากาศ สอดคล้องกับงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พบว่า ที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดจากรถยนต์ดีเซลสูงถึง 57% ฝุ่นทุติยภูมิ 16% การเผาในที่โล่ง 15% รถยนต์เบนซิน 8% และอื่นๆ 4%  อย่างไรก็ตาม  ผู้ว่าฯ กทม. วางวิสัยทัศน์ระยะยาวภายในปี 2593 “กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ มุ่งพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีนวัตกรรมที่ยั่งยืน พร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ”

ทั้งนี้ มีกิจกรรมรณรงค์รู้ทันฝุ่นพิษที่เปิดพื้นที่สื่อสารกับคนกรุง สร้างการมีส่วนร่วมลดปล่อยมลพิษ โดย ศวอ. ร่วมกับ สสส. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลด์ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ กทม. จัดงาน “The Air We Share”  เปิดวงเสวนาทางวิชาการ นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะ พร้อมเวิร์คช็อปบอร์ดเกมสร้างความตระหนักรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-3 เม.ย. 2567 ณ บริเวณทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมได้และสามารถติดตามข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพจ “รู้ทันฝุ่น” นอกจากนี้ สามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่นผ่านเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอป  Air4Thai และ Life Dee ซึ่งแจ้งเตือนค่าฝุ่นเรียลไทม์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร

สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567

“ThaiHealth Watch 2025” เปิด 7 เทรนด์สุขภาพ ปี 2568 ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ/เทคโนโลยี กระทบสุขภาพกาย-ใจคนทุกกลุ่ม

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568

ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์

ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต