เปิดพื้นที่ทางสังคมให้'คนพิเศษ'

กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ผู้พิการตาบอด หูหนวก ผู้ใช้รถเข็นแทนขา หรือแม้แต่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กว่า 70 ชีวิต จากประเทศต่างๆ ทั้งไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย จีน และอินเดีย  ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปลุกศักยภาพของตัวเองในการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย  กิจกรรม เวิร์คช็อป และการเล่นกีฬาใช้พื้นที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นอกจากนี้ ได้ออกไปทัศนศึกษาสัมผัสกรุงเทพฯ ที่มิวเซียมสยามและวัดพระเชตุพนฯ  เปิดโลกใบใหม่ๆ เปิดประสาทสัมผัสรับรู้แก่คนพิเศษ

ประชุมปีนี้ชูแนวคิดหลัก”ฉันทำได้” หรือ “I am able ” เป้าหมายสร้างคุณภาพชีวิตและการงานอาชีพของคนพิเศษ รวมถึงเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับกลุ่มคนพิเศษได้แสดงออกทางความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ส่งเสียงออกมาให้สังคมรับรู้ความต้องการในฐานะคนที่มีสิทธิและความเท่าเทียมกัน โปรเจ็กต์นี้ขับเคลื่อนโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายก้าวไปด้วยกัน

โทมัส  เคราส์ นักสังคมบำบัดชาวเยอรมันและผู้ริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษ กล่าวว่า การประชุมสภาคนพิเศษเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2541  ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย  เพราะยุคนั้นไม่มีใครเชื่อว่า คนพิเศษจะสามารถเผชิญความวุ่นวายในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี มีคนพิเศษเข้าร่วม 500 คน  เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับคนพิเศษและทัศนคติสังคมต่อคนพิเศษ จากนั้นได้ขยายไปยังนานาประเทศ  ทั้งยุโรป อเมริกาใต้  และเอเชีย สำหรับประเทศไทยจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 และเติบโตขึ้น ปีนี้ได้ยกระดับเป็นการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชียครั้งแรก 

” 25 ปีของการจัดประชุมสภาคนพิเศษเห็นความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยของคนพิเศษ พวกเขายอมรับความพิการและความพิเศษของตัวเอง แต่ก็อยากให้สังคมยอมรับความสามารถของคนพิเศษด้วย  พวกเขามีความฝัน ความปรารถนา ความต้องการไม่แตกต่างจากเรา ” นักสังคมบำบัดเยอรมัน กล่าว

รศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ  คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า ทุก 2 ปี จัดประชุมสภาคนพิเศษในไทย แต่ละครั้งธีมต่างกันไป ครั้งแรกเมื่อปี 2555 ธีม”หนึ่งเสียงหนึ่งความหมาย” ขอให้สังคมฟังเสียงของคนพิเศษ สร้างความตระหนักให้สังคม สมัยนั้นภาพคนพิเศษเป็นคนน่ากลัว เชื่อมโยงสู่ครั้งที่ 2 ธีม”หนึ่งคนหนึ่งความหมาย” เน้นมิติความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ครั้งที่ 3 เข้าไปจัดพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ธีม”ความรัก”  ครั้งที่ 4 ธีม”วงกลมนี้มีเราทุกคน”  สื่อบนโลกใบนี้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน  ก่อนว่างเว้นไป เพราะสถานการณ์โควิด กลับมาใหม่ครั้งนี้เลือกธีม “ฉันทำได้” สื่อสารคนพิเศษมีการงานอาชีพได้ นอกจากการงานที่ได้เงิน รวมถึงการงานที่เติมเต็มจิตใจด้วย

“ คนพิเศษที่ร่วมประชุมไม่ใช่เด็กพิเศษ คุณสมบัติมีอายุ 15 ปีขึ้นไป เราสร้างพื้นที่ให้คนพิเศษได้เติบโตตามศักยภาพ ไม่ใช่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลแบบประคบประหงม รวมถึงปรับแนวคิดผู้ดูแล  แนะเส้นทางการเป็นพ่อแม่ที่ปลุกศักยภาพให้เขาทำได้ เราเชื่อว่า คนพิเศษมิติทางจิตวิญญาณสมบูรณ์ เพียงแต่เขามาอยู่ในร่างที่บกพร่อง ไม่สามารถพูดออกมา มองเห็น หรือได้ยิน การเปิดพื้นที่สังคมให้พวกเขาจะช่วยให้คนพิเศษแสดงออกทางความคิด ที่นี่ไม่ใช่ค่าย แต่ละกิจกรรมร้อยเรียงขึ้นมา ปลุกให้เขาตื่นขึ้น เติบโตมากขึ้น ได้ไอเดียใช้ชีวิต “ รศ.ดร.ศศิลักษณ์ กล่าว

ส่วนอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพแก่คนพิเศษและคนพิการในสังคมไทย รศ.ดร.ศศิลักษณ์ ระบุสังคมขาดความรู้ มีเพียงความสงสาร งานวิจัยหลายชิ้นชี้คนพิเศษต้องการความเข้าใจ คนในสังคมต้องรู้ว่าบุคคลที่มีความบกพร่องแต่ละด้าน สิ่งใดคือความจำเป็นและจะสนับสนุนพวกเขาอย่างไร  ความกลัวเป็นอีกปัจจัยทำให้ผลักคนพิเศษออกจากสังคมหรือถอยห่างไม่ยุ่งเกี่ยว การประชุมสภาคนพิเศษเป้าหมายการอยู่ร่วมกันในสังคม  ทุกคนมีพื้นที่ยืน พื้นที่ชีวิต สังคมอย่าคาดหวังทุกคนต้องเหมือนกัน

นอกจากนี้ บ้านเราส่งเสริมการออกแบบเพื่อทุกคน ( Universal Design)  ซึ่งมี 2 มิติ ด้านกายภาพไทยพยายามขับเคลื่อนแล้ว แต่มิติทางสังคมบ้านเรายังขาดการให้ความสำคัญพื้นที่กิจกรรมที่เหมาะกับคนพิเศษ ศูนย์การค้าไม่เหมาะ เพราะมีสิ่งเร้าเยอะ สวนสาธารณะมีเรื่องความปลอดภัย การจัดประชุมครั้งนี้ออกแบบให้คนพิเศษฝึกใช้ชีวิตในสถานการณ์จริงและเปิดเผยความสามารถ เป็นอีกรูปแบบการสร้างพื้นที่และโมเดลตัวอย่างขยายให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามแนวมนุษยปรัชญาในการดูแลพัฒนาคนพิเศษ นอกจากคนพิเศษเติบโต  มีผู้ปกครอง ผู้ดูแลนำแนวคิดการดูแลแนวนี้ไปขยายผลในชุมชนตัวเองแล้ว

สร้างคุณภาพชีวิตและการงานอาชีพของคนพิเศษและคนพิการเป็นหัวใจของงาน  ผศ.ดร.ชนิดา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิเศษ กล่าวว่า การส่งเสริมให้คนพิเศษมีงานทำ จำเป็นต้องมีความพร้อมที่ทำให้คนพิเศษเข้าสู่กระบวนการทำงานได้ สถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้นคนพิเศษไม่โดดเดี่ยวเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน เราพบคนพิเศษมีศักยภาพสูง และมีโอกาสทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ไม่เพียงเปิดรับ แต่เปิดกว้างและเปิดใจ   รวมถึงเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้น การขาย การเกษตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ คนพิเศษมีโอกาสตั้งแต่อยู่ในกระบวนการเรียนการสอน ได้เห็นภาพการทำงานในสถานประกอบการจริงๆ  หลายบริษัทระดับโลกมองที่ศักยภาพการทำงานให้กับองค์กร เราเตรียมคนพิเศษให้พร้อมทั้งกายและใจ พัฒนาศักยภาพตามความชอบ ความถนัด  คนพิเศษจะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการทำงานมากขึ้น

“ การมีงานทำของคนพิเศษและคนพิการมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จบสายอาชีพ ที่เหลือจบสายสามัญ มีการสมัครงานด้วยวุฒิการศึกษาหลายแบบ ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนปรับเปลี่ยนนโยบายจ้างงานคนพิการมากขึ้น ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา  อาจมีเพียงใบประกาศนียบัตร ทำอาหาร ทำผม แต่งหน้า ตัดเสื้อผ้า ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น รวมถึงงานอิสระ สร้างรายได้ดูแลตัวเอง ไม่จำเป็นต้องถูกจ้างงานโดยบริษัทใหญ่ๆ “ ผศ.ดร.ชนิดา กล่าว

รฐนนท์ ภูวจรูญกุล คนพิเศษวัย 31 ปี จบการศึกษาทางเลือก ผ่านศูนย์ฝึกอาชีพต่างๆ มามากมาย มีประสบการณ์เข้าร่วมประชุมสภาคนพิเศษที่ไทยทั้ง 5 ครั้ง เผยความรู้สึกว่า มีความสุขทุกครั้งได้ร่วมประชุมสภาคนพิเศษ และภูมิใจได้เป็นตัวแทนไทยไปประชุมสภาคนพิเศษระดับนานาชาติ ครั้งนี้เป็นทีมจิตอาสาดูแลเพื่อนๆ  โอกาสมาแล้วก็คว้าเอาไว้  สังคมเปิดโอกาสแล้วต้องทำให้ได้ ตนสั่งสมคำสอนและพัฒนาให้ตัวเองเป็นผู้ใหญ่ที่ดี อยากให้ทุกคนที่ร่วมประชุมแบ่งปันกัน  มีรอยยิ้ม มีความสุข กับกิจกรรม บอกให้โลกรู้การประชุมสภาพคนพิเศษ พิเศษจริงๆ   พวกเราได้พบเพื่อนๆ คนพิเศษจากจีน มาเลเซีย  ลาว ชวนเขารับรู้วัฒนธรรมไทย

“ ตอนนี้มีโอกาสการทำงานมากขึ้น เคยทำงานบรรจุเครื่องมือพยาบาล ก่อนจะมาทำงานฝ่ายธุรการ เดินส่งเอกสารในบริษัท  ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด   ปรับความคิด ปรับอารมณ์ความรู้สึก ไม่หงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงาน เรียนรู้งาน มีความเกื้อกูลกัน “ รฐนนท์ กล่าว

เสียงจาก จาย่า วัสสันต์ โกพินาธาน  คนพิเศษเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เผยประสบการณ์ร่วมประชุมสภาคนพิเศษ กล่าวว่า ปี 2561 เป็นครั้งแรกที่ตนพ้นออกจากประตูบ้าน ใช้วีลแชร์เดินทางไปประชุมสภาคนพิเศษ  คนที่บ้านกังวลจะไปได้เหรอ แต่ก็ทำได้ จากนั้นตนเดินทางโดยลำพังเสมอ  เจ้าหน้าที่สนามบินถามมาคนเดียวหรือ ตนตอบว่า ไม่จำเป็นต้องมีผู้ดูแล ฉันสามารถเดินทางคนเดียวได้ ทุกครั้งที่มามีความสุข ได้รับประสบการณ์มากมาย และได้เรียนรู้จากทุกคน แม้คนพิเศษที่เข้าร่วมประชุมมีปัญหามากมาย แต่ทุกคนกลับกระตือรือร้น พัฒนาศักยภาพตัวเอง  เชื่อว่า ทุกคนทำได้ ตรงกับแนวคิดปีนี้ I am able

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัคนาธนูกับเค้าโครงชีวิตปี 2568

ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุขภาพอนามัย-หนี้สิน-ลูกน้องบริวาร และเกือบตลอดปีผู้หลักผู้ใหญ่อวยสถานะ-ยศ-เงินทองให้ แต่มีช่วงซ้อมรับทุกข์และการได้ความผิดที่ไม่ได้ก่อ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร นครนายก'

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา” และงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวั