24 ก.พ.2567 – เวลา 17.59 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายฟาน จี๊ ทัญ (Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลลา ในโอกาสที่จะพ้นจากหน้าที่ ในโอกาสนี้ นางฟาน ถิ เหี่ยน อัญ (Mrs. Phan Thi Hien Anh) ภริยาเอกอัครราชทูต ฯ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
ต่อจากนั้น เวลา 18.20 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 และขอพรดุอาในนามของพสกนิกรชาวไทยมุสลิม ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
ในโอกาสนี้ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย จุฬาราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำศาสนาอิสลามที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมแต่งตั้ง มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีหน้าที่จัดระบบการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนจัดเก็บภาษีอากร รวมทั้งดูแลกิจการศาสนาอิสลามและผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองต่าง ๆ ต่อมา มีการบัญญัติกฎหมาย เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 ” และรวมถึง “พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม พุทธศักราช 2540 ” กำหนดให้มีตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นตำแหน่งผู้นำกิจการศาสนาอิสลาม ในประเทศไทย ที่มาจากการสรรหาและผ่านการเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อถึงแก่อนิจกรรม สืบเนื่องจาก นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พุทธศักราช 2540 มีหน้าที่สรรหาจุฬาราชมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างลง
กระทรวงมหาดไทยได้จัดประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั่วประเทศ 40 จังหวัด เพื่อสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 และที่ประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดลงคะแนนให้ความเห็นชอบให้ นายอรุณ บุญชม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายอรุณ บุญชม เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567
ต่อมา เวลา 18.29 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ และในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ดังนี้ – นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐฝรั่งเศส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำ สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เคยดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มาก่อน
– นายสุวัฒน์ แก้วสุข เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐเช็ก เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำ สาธารณรัฐเช็ก นายสุวัฒน์ แก้วสุข เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำ รัฐสุลต่านโอมาน มาก่อน
– นางอุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำ สาธารณรัฐสิงคโปร์ นางอุรีรัชต์ เจริญโต เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ มาก่อน
– นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำญี่ปุ่น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำญี่ปุ่น นายวิชชุ เวชชาชีวะ เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐเกาหลี มาก่อน
– นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอิตาลี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำ สาธารณรัฐอิตาลี นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ มาก่อน
– นายอสิ ม้ามณี เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ นายอสิ ม้ามณี เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมยุโรป มาก่อน – ร้อยโท พรหเมศ พหลพลพยุหเสนา เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำฮังการี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำฮังการี ร้อยโท พรหเมศ พหลพลพยุหเสนา เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง มาก่อน
– นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลใหญ่ไทย ประจำแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาก่อน
– นายสุวพงศ์ ศิริสรณ์ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำเนปาล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำเนปาล นายสุวพงศ์ ศิริสรณ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลใหญ่ไทยประจำนครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาก่อน
– นางสาวมรกต เจนมธุกร เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐเคนยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐเคนยา นางสาวมรกต เจนมธุกร เคยดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มาก่อน
– นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐ สังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดี กรมอาเซียน มาก่อน
– นางสาวอุศณา พีรานนท์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา นางสาวอุศณา พีรานนท์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอาเซียน มาก่อน ในโอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวง การต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเข้ารับหน้าที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดอาคาร 'จักรีทศมรามาธิบดินทร์' โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "จักรีทศมรามาธิบดินทร์" ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในหลวง พระราชินี ทอดพระเนตรโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน 'พระจักราวตาร'
ในหลวง พระราชินี ทอดพระเนตรโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
ในหลวงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เอกอัครราชทูตเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง-อักษรสาส์นตราตั้ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง และอักษรสาส์นตราตั้ง
ในหลวง พระราชินี ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9
ในหลวง พระราชินี ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9
ในหลวง พระราชินี ทรงเป็นประธานกาล่าดินเนอร์ เฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติ ในโครงการ “สสธวท รวมใจเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน”
ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง