ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) พร้อมด้วย H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย และนายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 พร้อมนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดวธ.และนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา แถลงข่าวพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ที่หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นโอกาสอันดีที่จะได้อัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มาให้ประชาชนได้สักการะ ตามโครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่
“ การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครบรอบ 72 พรรษา และถือเป็นบุญครั้งใหญ่ โดยประเทศไทยเคยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาให้ประชาชนได้สักการะ เมื่อ 122 ปีที่แล้ว แต่ไม่มีพระสารีริกธาตุของพระสาวก คือพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสดี ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปในการถวายสักการะ พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น.” นายเสริมศักดิ์ กล่าว
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า ขอเชิญชวนศาสนิกชนร่วมรับขบวนการอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในส่วนกลาง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 น. วธ. ได้จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยจัดเป็นขบวนโคม ขบวนการแสดง 4 ภาค การแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ การแสดงจากอินเดีย ขบวนธงชาติไทย ธงชาติอินเดีย ธงธรรมจักร และธงฉัพพรรณรังสี ขบวนโคมประทีปและโคมดอกบัว ขบวนรถมาฆบูชาประดิษฐานพระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ รถบุปผชาติประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ขบวนเฉลิมพระเกียรติ และขบวนจิตอาสา เป็นต้น จากนั้น 17.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในมีพิธีเปิดงาน และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ก่อนเปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ในส่วนภูมิภาค อัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัด ให้ประชาชนได้เข้าสักการบูชา ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5 – 8 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 10 – 13 มีนาคม เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15 – 18 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ โดยในทุกวันตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จะจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ แต่ละพื้นที่จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ
“ การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดียมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม เพื่อหลอมรวมพลังศรัทธาของศาสนิกชนชาวไทยทั่วโลก ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง แบ่งเป็นส่วนการจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองปิปราห์วา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สังเวชนียสถาน 4 ตำบล การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต วัดสระเกศ และข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุที่นำมาจัดแสดงในประเทศไทย รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับพุทธประวัติจากประเทศอินเดีย และส่วนการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ รวมถึงมีการเปิดศูนย์สร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ชมสาธิตการบรรยายธรรม กิจกรรมธรรมะบันเทิง โดยพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี การสาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณธรรม ชมสินค้าของดี เขตกรุงเทพมหานคร สวดเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และการแสดงภาพยนตร์ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย
นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียยินดีที่ได้มีโอกาสเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุครั้งนี้แสดงถึงไมตรีจิตรร่วมถวายพระพรในโอกาสสำคัญ เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ดีที่มีนานนับพันปี นับเป็นครั้งแรกหลังพุทธกาลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาประทับร่วมกับองค์พระอัครสาวกเอกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาในรอบ 2567 ปี ในโอกาสวันมาฆบูชาเป็นการเฉลิมฉลองวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งประวัติศาสตร์
“ การมาเยือนขององค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนี้ ไม่บ่อยนักที่จะนำออกนอกประเทศ รัฐบาลอินเดียนำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ได้ตกลงที่จะส่งพระบรมสารีริกธาตุมายังประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสำคัญสูงสุดในการเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดดั่งญาติมิตรของระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในการมีส่วนร่วมในทางธุรกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรม ซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ทวิภาคีอินเดีย-ไทย” นายนาเคศ สิงห์ กล่าว
ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวว่า งานมหามงคลนี้เกิดขึ้นจากสามัคคีธรรมของทุกฝ่ายในการเชื่อมต่อพลังศรัทธาประชาชน 2 ภูมิภาคจากลุ่มแม่น้ำคงคา คือ สาธารณรัฐอินเดีย ถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา สู่ลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นดินแดนพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่อย่างมั่นคง โดยมีต้นทางคือสถาบันโพธิคยาฯ จัดโครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคา ลุ่มน้ำโขงขึ้น มีรัฐบาลไทยโดย วธ. กรมการศาสนา เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระอรหันตธาตุพระอัครสาวก พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ มีผู้แทนระดับสูงจากรัฐบาลอินเดียเป็นผู้อัญเชิญมา ด้วยการประสานงานจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จึงควรถือโอกาสนี้นำธรรมวิชัยจากแดนพุทธภูมิมาสร้างศาสนาธรรมให้ปักหลักมั่นคง ด้วยการนำคำสอนขององค์พระศาสดาซึ่งคือปริยัติธรรม นำมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดปฏิเวธธรรม มีความเข้าใจและเข้าถึงธรรมะได้จนสามารถยกระดับจิตใจให้ทุกคนในแผ่นดินลุ่มน้ำโขงได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตต่อไปโดย ไม่เบียดเบียนกัน รู้จักคำว่าอภัยและรับรู้ลมหายใจให้มากที่สุด เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธรรมะให้เกิดขึ้น เพื่อสืบทอดความรัก ความสามัคคี และสร้างสันติสุขโดยธรรมให้เกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมูเด้ง' ซุปตาร์ดันวัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก
“หมูเด้ง”ซุปเปอร์สตาร์ฮิปโปแคระที่โด่งดังเป็นไวรัลทั่วโลกจากความน่ารักขี้เล่น สื่อต่างประเทศนำไปลงข่าว นิตยสาร TIME พาดหัวข่าวเป็นไอคอนไลฟ์สไตล์ที่กิน นอน และแอคชั่นดราม่า สร้างปรากฎการณ์หมูเด้ง ช่วยให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เพิ่มทวีคูณ
ลอยกระทงวิถีไทย สืบสานประเพณีงดงาม
วันลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จัดเป็นเทศกาลประเพณีสำคัญของคนไทยที่จะได้ร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณีอันดีงาม โดยการทำกระทงสวยงามหลากหลายรูปแบบ นำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต อัตลักษณ์แห่งศรัทธาสืบทอดมา 199 ปี
จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567 โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
ศน.ชวนแจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน 9 พระอาราม
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชานุญาตให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคล และเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐิน เพื่อน้อมนำไ
'นวราตรี' พื้นที่ของทุกศาสนา
หนึ่งปีมีครั้งเดียวเทศกาล “นวราตรี” ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวีจากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา“ ปราบอสูรชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วได้สำเร็จ หลังสู้รบกันมา 9 วัน 9 คืน