'สวนป่าชุ่มน้ำบางกอก' ทวงคืนสมดุลธรรมชาติให้เมือง

เมืองใหญ่ที่เติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยน้ำมือมนุษย์ ทำให้พื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ในเมืองหายไป โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำของกรุงเทพฯ หลงเหลืออยู่น้อยมาก  ทั้งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญรักษาธรรมชาติให้สมดุล นอกจากประโยชน์ที่คนเมืองได้รับในด้านความสวยงาม การฟอกอากาศ  ลดฝุ่นพิษ PM2.5 และการเป็นแก้มลิงธรรมชาติช่วยรับน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนัก บรรเทาน้ำท่วมแล้ว  ยังมีสัตว์นานาชนิดได้อาศัยพื้นที่สีเขียวนี้เป็นแหล่งพักพิงหลีกหนีจากป่าคอนกรีต

ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนพยายามทวงคืนพื้นที่ชุ่มน้ำในกรุงเทพฯ กลับมา อย่างที่หลายประเทศเร่งรักษาพื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิมในเมือง พร้อมทั้งสื่อสารทำความเข้าใจความเป็นธรรมชาติกับคนเมืองและชุมชนต่างๆ  เพื่อให้เกิดความรักและหวงแหนพื้นที่ ไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติ เพราะกรุงเทพฯ ที่เดิมเรียกว่า “บางกอก” นั้น มีที่มาจากชื่อต้นมะกอกน้ำที่เคยมีในกรุงเทพฯ มากมาย  แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่หายากในมหานครแห่งนี้

ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อย่างเขตบึงกุ่ม มีโครงการฟื้นฟูและพัฒนา”สวนป่าชุ่มน้ำบางกอก”ผ่านการออกแบบพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม หวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลพื้นที่สีเขียวที่ครอบคลุมเหล่าผู้อาศัยทั้งประชากรมนุษย์และประชากรสัตว์ที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน รวมถึงคงความเป็นนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ได้ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและชุมชนในพื้นที่

สำหรับสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก พิกัดท้ายซอยเสรีไทย 29 เขตบึงกุ่ม มีพื้นที่ 86 ไร่ เป็นพื้นที่สวนหนึ่งภายในสวนเสรีไทย ลักษณะโดยรวมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ เดิมเรียกว่า “คลองลำบึงกุ่ม” เป็นโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กรุงเทพมหานคร ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สำหรับรองรับน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ด้านฝั่งกรุงเทพตะวันออก

สวนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้พื้นถิ่น สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ล้อมรอบด้วยชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อการดำรงชีวิต อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับสวนสาธารณะของ กทม.  จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สวนเสรีไทย และสวนนวมินทร์ภิรมย์ ต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะสำหรับให้คนเมืองเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนที่จะมีไอเดียจัดทำโครงการสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก โดยมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและการตั้งวางสิ่งของรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ บริเวณสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก เพื่อขอคืนพื้นที่และพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ  คนเมือง โดยเฉพาะชาวบึงกุ่มและคันนายาวได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

ความคืบหน้าล่าสุด จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่สำรวจติดตามการดำเนินงานโครงการสวนป่าชุ่มน้ำบางกอกและการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะบริเวณซอยเสรีไทย 29 เขตบึงกุ่ม  โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขตบึงกุ่ม ร่วมดำเนินการ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา

สวนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้มีบึงขนาดใหญ่ปัจจุบันกำลังทำทางเดินโดยรอบระยะทางประมาณ 3,850 เมตร รวมถึงการจัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกายที่เหมาะสมฝั่งหมู่บ้านทวีสุข-นาริสา ความยาว 450 เมตร ดำเนินการปูผิวทางแอสฟัลต์ ส่วนฝั่งหมู่บ้านศรีนครพัฒนา ความยาว 3,400 เมตร สร้างพื้นทางหินคลุก เตรียมปูผิวทางแอสฟัลต์ ก่อสร้างทางเดินริมน้ำพร้อมราวกันตก ความยาว 420 เมตร ความกว้าง 2.50 เมตร ตอกเสาเข็มไม้กันดินพัง ความยาว 2,697 เมตร

ภายในพื้นที่ยังจัดทำสวน 15 นาที บริเวณด้านหน้าทางเข้าสวนป่าชุ่มน้ำบางกอกฝั่งหมู่บ้านทวีสุข-นาริสา ปรับปรุงภูมิทัศน์ฝั่งหมู่บ้านทวีสุข-นาริสา ตัดแต่งไม้ยืนต้น ขุดตอไม้ที่แห้งตาย ปลูกไม้คลุมดินริมตลิ่ง เติมดินผสมปุ๋ยบำรุงต้นไม้ให้เติบโตงอกงาม  ปลูกไม้พุ่มเพิ่มเติมเพิ่มสีเขียว

ส่วนฝั่งหมู่บ้านศรีนครพัฒนา ตัดแต่งไม้ยืนต้น ขุดตอไม้ที่แห้งตาย ปรับปรุงรั้วและทำประตูทางเข้า-ออก ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยในการเข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะ มีเสาไฟฟ้า 90 ต้น แหล่งจ่ายไฟฟ้า 5 ตู้ ตู้จ่ายไฟเครื่องเติมอากาศ 6 ตู้ ติดตั้งเครื่องเติมอากาศในบึงน้ำ 14 เครื่อง เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำให้สะอาด   ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและประปา ที่ขาดไม่ได้เลยมีการติดตั้งสุขาสำเร็จรูป จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย 14 นาย ทำไม้กั้นปิดทางเข้า-ออก บริเวณอาคารของสำนักการระบายน้ำ ตั้งวางแบริเออร์บริเวณจุดที่ท้ายซอยเชื่อมกับพื้นที่สวนทั้ง 5 จุด

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ลงพื้นที่พูดคุยสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สวน ไม่ให้นำวัสดุอุปกรณ์ออกมาตั้งวางนอกบ้าน ไม่ให้นำรถเข้ามาในพื้นที่สวน จัดเก็บขยะใบไม้แห้งที่ลอยอยู่ในบึง รวมถึงเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้ในพื้นที่สวน สำนักการโยธาจัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกายรอบบึง สำนักการระบายน้ำปักเสาเข็มไม้ทำแนวป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่ง สำนักสิ่งแวดล้อมคัดเลือกพันธุ์ไม้ชนิดไม้ยืนต้นและไม้คลุมดิน เพื่อให้เป็นไปตามลักษณะทางกายภาพของสวนป่าชุ่มน้ำ และยังคงรักษาระบบนิเวศเดิมตามธรรมชาติ

สำหรับการทำทางเดินรอบบึงมีบางจุดที่เป็นพื้นที่เอกชน รองผู้ว่าฯ ระบุหากต้องเลี่ยงโดยการทำสะพานลัดข้ามผ่านบึงจะใช้งบประมาณจำนวนมาก ที่ผ่านมา ให้สำนักงานเขตบึงกุ่มประสานกับเจ้าของที่เพื่อขอใช้ทำเส้นทางเดินให้ต่อเนื่องบรรจบครบรอบบึง รวมถึงทางเข้าสวนที่สามารถเข้าได้จากหลายทิศหลายทางจะทำเส้นทางเข้าให้เรียบร้อย และจุดไหนที่เป็นของเอกชนก็เร่งประสานขอความร่วมมือ

“ ด้วยศักยภาพของพื้นที่คลองลำบึงกุ่ม ประกอบกับทำเลที่ตั้งสามารถเชื่อมโยงกับสวนสาธารณะที่มีอยู่เดิม ยกระดับให้กลายเป็นสวนสาธารณะระดับย่าน (District Park) ผ่านโครงการสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก Bangkok Wetland Forest (BWF) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศ รวมทั้งยังเกื้อหนุนการดำรงชีวิตของชุมชน เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ โดยจะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2567 นี้ “ จักกพันธุ์ให้ภาพสวนสาธารณะขนาดใหญ่นี้

ในทัศนะ พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสวนป่าชุ่มน้ำบางกอกไว้ว่า สวนป่าแห่งนี้มีความท้าทายหลายอย่างในการพัฒนา แต่ก็มีศักยภาพมากมายที่จะทำให้กลายเป็นสวนคุณภาพของชาวบึงกุ่ม คันนายาว และชาวกรุง สัมผัสได้เลยว่า เมื่อเดินเข้ามาอุณหภูมิลดลงจากภายนอกอย่างชัดเจน อีกทั้งสวนยังเชื่อมต่อยาวไปถึงสวนเสรีไทย อีกด้านติดกับสวนนวมินทร์ภิรมย์ ทั้งพื้นที่และทัศนียภาพงดงามไม่แพ้สวนใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร

สวนป่าชุ่มน้ำบางกอกเป็นอีกโมเดลฟื้นฟูเมืองต้องกลับมาฟื้นฟูธรรมชาติ ยังมีพื้นที่ธรรมชาติในเมืองที่รอการดูแลอีกมาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.รทสช. จี้ ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อน นอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอด

สส.เกรียงยศ จี้กทม.เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อนนอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอดใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแค่เอื้อม หวั่นชาวต่างชาตินำภาพไปเผยแพร่จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับเมืองท่องเที่ยว ดักคออย่าโยนให้แต่กระทรวงพม.

พยากรณ์อากาศ 24 ชม. ‘เหนือ’ สัมผัสหนาวต่ำสุด 18 องศาฯ ‘กทม.’ 23 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ซุ้มประตู'มังกร' แลนด์มาร์กใหม่ไชน่าทาวน์

ซุ้มประตูจีน ถือเป็นแลนด์มาร์กแสดงอาณาเขตของไชน่าทาวน์หรือพื้นที่ของชุมชนชาวจีนทั่วโลก แน่นอนว่า ในประเทศไทยมีชุมชนชาวจีนอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เกิดไชน่าทาวน์ขึ้นในหลายจังหวัด