จากการสำรวจในปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองจำนวนกว่า 81,000 ไร่ ถั่วเขียวจำนวนกว่า 713,000 ไร่ และถั่วลิสง จำนวนกว่า 71,000 ไร่ โดยปริมาณผลผลิตที่ได้ถั่วเหลือง 22,252 ตัน ถั่วเขียว 108,467 ตัน และถั่วลิสง 25,652 ตัน และปริมาณการนำเข้าถั่วเหลือง 2,684 ตัน ถั่วเขียว 33,472 ตัน และและถั่วลิสง 9,943 ตัน แต่ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ถั่วเขียวถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งวุ้นเส้น ไส้ขนม ขนมหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร Plant-Based ที่ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น เพราะถั่วเขียวมีโปรตีนสูง จึงเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของอาหารแห่งอนาคต นอกจากนี้ถั่วเชียวเกษตรกรยังนิยมนำไปปลูกเป็นพืชหลังนาเพื่อบำรุงดินและสร้างรายได้อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้สำรวจและพบปัญหา ตลอดจนความต้องการข้างต้น ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สท. สวทช. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) จ.นครปฐม วิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวจนได้สายพันธุ์ KUML แบ่งเป็นเบอร์ 1-5 และ 8 มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดขนาดใหญ่ สุกแก่เร็ว ให้ผลผลิตได้สูงถึง 300 กิโลกรัม (กก.) /ไร่ ที่สำคัญต้านทานโรคราแป้งและใบจุดได้ดี
นำไปสู่การขยายผลภายใต้โครงการการ “ขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต” เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ปีงบประมาณ 2566 นำร่องในพื้นที่ต้นแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็น 2 พื้นที่หลักในโครงการฯ ที่ประสบความสำเร็จในการนำถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML มาปลูกเป็นพืชหลังนา และนำส่งออกให้แก่บริษัทเอกชนที่แปรรูปถั่วเขียวในประเทศเพื่อลดการนำเข้า สร้างรายได้ให้เกษตรกร และเป็นต้นแบบเกษตรกร แปลงเรียนรู้ และพื้นที่ต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวในระดับชุมชน
วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เพื่อพัฒนากลุ่มผู้ผลิตถั่วเขียวให้มีผลผลิตสูงและมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดถั่วเขียวทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กลไกตลาดนำการผลิต (Inclusive Innovation) เพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย และการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี อีกทั้ง การขาดความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และปัญหาเรื่องตลาดรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งหลังจาก มีการพัฒนาถั่วเขียว KUML ปรากฎว่าได้รับความนิยมจากเกษตรกร ที่นำไปปลูกเป็นพืชหลังนาเพื่อปรับปรุงดิน อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
ณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สท. สวทช. ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากประเทศไทยประสบภาวะสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทางรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ลดการทำนาปรัง โดยให้ปลูกพืชทนแล้งหรือพืชที่ใช้น้ำน้อยทนแทนการทำนาปรัง พืชตระกูลถั่วนับเป็นพืชที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ช่วยตัดวงจนชีวิตโรคแมลงในพื้นที่นาข้าว และช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน นอกจากนี้พืชตระกูลถั่วยังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งใช้ในการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ แต่ผลผลิตพืชตระกูลถั่วในประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท พื้นที่การเพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดีทำให้เกิดการตัดราคาทางตลาด ขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาพันธุ์ และเกษตรกรไม่รู้ช่องทางการป้อนถั่วเขียวสู่ตลาด
สวทช.ได้ขยายผลถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และใช้กลไกตลาดนำการผลิต และดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน บริษัท กิตติทัต จำกัด ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและยกระดับกลุ่มเกษตรกรในการบริหารจัดการ กำหนดมาตรฐานและราคาถั่วเขียว KUML รับซื้อผลผลิตถั่วเขียวปลอดภัย ในจ.สุพรรณบุรี สุรินทร์ และศรีสะเกษ โดยปริมาณความต้องการผลผลิตถั่วเขียวเพื่อแปรรูปเป็นถั่วกะเทาะซีก ปีละ 4,000 ตัน และบริษัท ข้าวดินดี จำกัด รับซื้อผลผลิตถั่วเขียวอินทรีย์ ในจ.อำนาจเจริญ โดยปริมาณความต้องการผลผลิตถั่วเขียวเพื่อแปรรูปเป็นพาสต้าถั่วเขียวอินทรีย์ปีละ 20 ตัน หลังจากได้ลงพื้นที่นำร่องในกลุ่มจ.อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ พบว่าส่วนใหญ่เกษตรกรและตลาดนิยมจะเป็น ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML เบอร์ 4 และ 8 เพราะมีเมล็ดใหญ่ เหมาะกับในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจะมีการอบรมเกษตรกรในการปลูกที่มีทั้งปลูกแบบเคมีปลอดภัยและแบบอินทรี การดูแล และการเพาะผลิตพันธุ์ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดเป็นต้นแบบเกษตรกร แปลงเรียนรู้ และพื้นที่ต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวอินทรีในระดับชุมชน
ไพศาล แก้วบุตรดี เกษตร จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ทางจังหวัดมีเป้าหมายในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ภายในปีพ.ศ.2570 ประมาณ 300,000 ไร่ ขณะนี้พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้การรับรองมีประมาณ 170,000 ไร่ ดังนั้นการส่งเสริมถั่วเขียว ถือเป็นอีกพืชที่สำคัญ เพราะมีการนำมาปลูกหลังหมดฤดูทำนา ซึ่งโครงการฯ นี้นับว่าจะเป็นสารตั้งต้นที่จะขยายต่อยอดในการพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวอินทรีชุมชน และขยายต่อไปยังแปลงข้าวอินทรีในจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเพิ่มผลผลิตถั่วเขียวให้มากขึ้นด้วย
ประมวล ขันธ์เพชร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.หัวตะพาน มีสมาชิกกลุ่มประมาณ 40 คน มีพื้นที่ทำนารวมราวๆ 200 ไร่ แต่ละปีก็จะมีการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวอินทรีย์ และการปลูกถั่วเขียวอินทรีย์ ซึ่งสายพันธุ์ KUML ที่มีการทดลองปลูกทั้งเบอร์ 4 และเบอร์ 8 ส่วนใหญ่ในพื้นที่จะเลือกปลูกเบอร์ 4 เป็นหลัก เพราะเมล็ดโต ต้านทานโรค มีความสุกแก่พร้อมกัน หากเก็บด้วยมือจะสามารถเก็บผลผลิตได้ 2 ชุด สามารถใช้รถเก็บเกี่ยวได้ โดยการปลูกถั่วเขียวดูแลง่ายเพราะจะใช้ความชุ่มชื้นจากดิน ไม่ต้องใช้น้ำ แต่ต้องปลูกหลังนาทันทีไม่เกินภายใน 1 สัปดาห์ เนื่องจากความชุ่มชื้นของดินจะหายไป นอกจากการส่งขาย เป้าหมายสำคัญคือช่วยบำรุงดินได้ดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้นต่อเนื่อง และลดการใส่ปุ๋ยในนาข้าวได้เกินครึ่ง
ประมวล กล่าวต่อว่า ถั่วเขียวนับเป็นพืชหลังนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว จากเดิมปลูกถั่วเขียวพันธุ์ทั่วไป เหลือขายเล็กน้อยมีรายได้เฉลี่ยต่อไร่เพียง 1,500 บาท แต่ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ทำแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นมีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาทต่อไร่ ซึ่งถือว่ามีรายได้เพิ่มจากการเก็บเกี่ยวข้าวพักแปลงนา โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่เกษตรกรปลูกถั่วเขียวเป็นพืชหลังนา ตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ถั่วเขียวที่ได้ส่งจำหน่ายให้กับบริษัท ข้าว ดิน ดี จำกัด ที่รับซื้อผลผลิตถั่วเขียว KUML ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ไปผลิตและแปรรูปเป็นพาสต้าออร์แกนิกส์ ส่งขายทั้งในและต่างประเทศและกลุ่มยังสามารถขายเมล็ดถั่วเขียว (grain) ให้กับผู้บริโภคภายใต้บริษัท บ้านต้นข้าว จำกัด ของกลุ่มในราคากิโลกรัมละ 80 บาท และที่สำคัญกลุ่มสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวไว้ใช้เอง เพื่อนำต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ในการปลูกฤดูกาลถัดไป และเกิดความยั่งยืน
ด้านวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตร จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดนี้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ทั้งสิ้น 3,000,799 ไร่ เกษตรกรผู้ผลิตข้าวจำนวน 235,558 ครัวเรือน ผลผลิตเฉลี่ย 405.23 กิโลกรัม/ไร่ ปัจจุบันในศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวกว่า 1,400 ไร่ ผลผลิตที่ได้มีจำนวนไม่มาก อาจเป็นเพราะมีการปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ดั้งเดิมเฉลี่ย 70 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 100 ตันต่อปี แต่เนื่องด้วยความต้องการของประเทศกว่า 1 แสนตัน จึงได้ร่วมส่งเสริมการปลูกถั่วเขียวให้กับเกษตรกร โดยตั้งแต่ปี 2564 จังหวัดได้ส่งเสริมปลูกพืชหลังนา โโดยเฉพาะถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ซึ่งมีศักยภาพเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น
ไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม กล่าวว่า ในต.ผักไหม มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก 101 ครัวเรือน มีพื้นที่นาประมาณ 1,600 ไร่ ซึ่งปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นหลัก ซึ่งเดิมพืชหลักนาที่ปลูกจะเป็นถั่วพร้า ปอเทือง เพื่อบำรุงดิน แต่กินไม่ได้ จึงได้หันมาปลูกถั่วเขียวพันธุ์ทั่วไปได้ 5 ปี หาได้ง่าย ได้ผลผลิตประมาณ 75 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันหันมาลองปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML เบอร์ 8 ได้ 3 ปี พื้นที่ประมาณ 60 ไร่ ทำให้เห็นข้อแตกต่างเพราะพันธุ์ KUML จะอายุสั้น ให้ผลผลิตดี ออกผลพร้อมกัน ซึ่งในพื้นที่ที่เคยปลูกถั่วมาต่อเนื่อง 3 ปี พอหันมาปลูกสายพันธุ์นี้ก็จะได้ผลผลิตเพิ่มถึงประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ลดแรงงานคนในการเก็บ และราคาขายถั่วเขียวทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในพื้นที่ต.ผักไหมเป็นถั่วเขียวอินทรีย์จะสามารถส่งขายได้ 45 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้งเรายังเพาะพันธุ์ถั่วเขียวไว้ปลูกในชุมชนได้เองด้วย
วีรศักดิ์ บุญเชิญ ผอ.สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมว่า ในปี 2567 ได้วางแผนยายผลถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML แบบครบวงจร ส่วนการใช้กลไกตลาดนำการผลิต จะดำเนินงานใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ พะเยา และร้อยเอ็ด และจะขยายผลให้ครอบคลุมใน 5 จังหวัดพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นด้านการเกษตร แผนแม่บทย่อย เกษตรปลอดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นาโนเทค สวทช.-สภาเภสัชกรรม-สปสช. ร่วมนำร่องผลักดันชุดตรวจคัดกรองโรคไตในร้านยา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม
ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'
เป็นคำถามที่ค้างคาและสงสัยอยู่ในสังคมมาตลอด ที่จอดรถ ทางลาด ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อน ลิฟต์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ