ทุกปีประเทศไทยสูญเสียงบประมาณพันล้านบาทเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งกำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่น เติมทรายชายหาด หรือรอดักทราย แต่มาตรการโครงสร้างเชิงวิศวกรรมไม่สามารถหยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล ปัจจุบันปัญหารุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเล ความสูงคลื่น พายุรุนแรงตลอดจนกิจกรรมการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
มีการคาดการณ์อนาคตของพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยเมื่อต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกเดือด แม้ในสถานการณ์ที่ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มน้อยที่สุด หาดทรายจะหายไป 45 % และถ้าเลวร้ายที่สุดจะหายไปถึง 71% ภายในปี 2643 หรือ 67 ปีจากนี้
สำรวจมาตรการป้องกัดกัดเซาะชายฝั่งเกาะลันตา จ.กระบี่
จังหวัดกระบี่ที่มีแนวชายฝั่งรวมกว่า 200 กิโลเมตร เป็นพื้นที่มีแนวโน้มต่อภัยคุกคามสูง มีความจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถและบทบาทของชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเลเพื่อติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของชายหาด นำมาสู่การขับเคลื่อนโครงการ”วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง” โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และภาคปฏิบัติตรวจวัดชายหาดด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดรูปตัดชายหาดและบันทึกผลลงระบบติดตามด้วยเทคโนโลยี BEACH MONITORING (BMON) ที่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ มี ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี ทช. ผู้แทน สสส. ผู้แทนชุมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะลันตา ผู้แทน อปท. เกาะลันตา เจ้าหน้าที่มูลนิธิอันดามัน เข้าร่วม
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี-ดร. ชาติวุฒิ วังวล ติดตามปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี กล่าวว่า ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,151 กิโลเมตร ใน 23 จังหวัด ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งถึง 1 ใน 4 ส่งผลกระทบ ทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นอีกพื้นที่ได้รับผลกระทบกัดเซาะชายฝั่ง จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลชายหาดที่มีความถูกต้อง มีความรู้ ความเข้าใจกระบวนการทางธรรมชาติของชายหาด ความสมดุลชายฝั่งทะเล และวิธีป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดังนั้น ชาวลันตาผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต้องได้รับความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ติดตามข้อมูลชายหาดด้วยตนเอง เพื่อนำใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่ถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่
“ เกาะลันตาเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มาสัมผัสทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ชายหาดที่สวยงาม การถ่ายทอดองค์ความรู้ในโครงการนี้เติมเต็มความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ชายหาดหน้าบ้าน จากที่มีความรู้เรื่องคลื่นลมมรสุมจากวิถีชุมชนชายฝั่ง สร้างการมีส่วนร่วมให้คนลันตากำหนดทิศทางในการดูแลรักษาชายหาดอย่างยั่งยืน สร้างภูมิต้านทานเลือกมาตรการหยุดกัดเซาะ จากเดิมส่วนกลางคิดและทำโครงการลงมา ซึ่ง ทช. ร่วมกับ สสส. เครือข่ายชุมชนชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัด และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั่วประเทศกว่า 880 คน พัฒนากลไกบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเล เราให้ความสำคัญกับการปรับตัว ทุกวันนี้โลกเดือดส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ภาคประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลตั้งแต่ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน และทะเล รวมถึงการทำลายปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น การทำประมงผิดกฎหมาย บุกรุกตัดไม้ป่าชายเลน และการจัดการขยะทะเล” อธิบดี ทช. กล่าว
ลงภาคสนามตรวจวัดชายหาดด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดรูปตัดชายหาด-บันทึกผลลงระบบ BMON
ด้าน ดร.ชาติวุฒิวังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง สานพลังภาคีเครือข่ายพัฒนานวัตกรรม “เครื่องวัดความลึกน้ำทะเลชายฝั่ง” อย่างง่าย ที่ใช้วัสดุท่อ PVC ให้คนในพื้นที่สามารถใช้งานด้วยตนเอง และเรียนรู้ระบบตรวจวัดรูปตัดชายหาดด้วยเทคโนโลยี BMON ที่เป็นฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายหาด ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามหลักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) ทำให้ชุมชนในพื้นที่เกิดความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตื่นตัวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง เรียนรู้ต่อการปรับตัวต่อภัยคุกคามได้อย่างถูกต้อง
“ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความซับซ้อน มีการคาดการณ์ในอนาคตอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น จะสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้น ต้องเตรียมความพร้อมระดับพื้นที่ หัวใจสำคัญ คือ สร้างนำซ่อม เพราะถ้าเสียหายแล้วซ่อมแซมยาก โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ชายหาดเป็นทรัพยากรสำคัญ หาดหายไป รายได้หายไป กระทบท่องเที่ยว กระทบอาชีพ ไม่รวมการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการนี้หาทางออกผ่านการอบรม ตอบโจทย์การสร้างสุขภาวะที่ดีที่บูรณาการความร่วมมือกับรัฐ อปท. ภาคประชาชน ภาคเอกชน สู่การรักษาทรัพยากรที่ดีให้รุ่นลูกหลาน “ ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
โครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันกัดเซาะที่ อ.เกาะลันตา
ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัด BMON กล่าวว่า การติดตามตรวจสอบชายหาดทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหน้าบ้านของตนเองมีความสำคัญและเกิดประโยชน์ต่อการวางแผนเพื่อจัดการพื้นที่ชายหาดในระดับชุมชนได้ ข้อมูลที่บันทึกอย่างเป็นระบบยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่กรณีที่ต้องการคัดค้านกิจกรรมที่ทำบนชายฝั่งทะเลอีกด้วย กระบี่ชายหาดยาว 200 กม. เม็ดทรายแต่ละหาด แต่ละพื้นที่ต่างกัน ทรายชายหาดเป็น DNA ชายหาก ไม่มีมาตรการเดียวจัดการทุกหาดได้ ตั้งแต่ปี 2558-2566 กระบี่สร้างกำแพงกันคลื่นป้องกันกัดเซาะแล้ว 1.2 กม. และมีโครงการขุดลอกปากร่องน้ำ ใช้งบไป 129 ล้านบาท ภาพรวมประเทศปี 2567 งบป้องกันกัดเซาะทะเลจาก 3 กรม เกือบ 800 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 60% เป็นงบกรมโยธาฯ ก่อนหน้านี้เราสูญเสียงบ1,000 ล้านบาททุกปี แต่ยังกัดเซาะไปเรื่อย ตราบใดที่คลื่นปะทะชายหาด เม็ดทรายเคลื่อนตัว ส่งผลให้ชายหาดเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ทั้งทับถม คงสภาพ และกัดเซาะ เพราะชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตรและการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
“ ชายฝั่งทะเลไทย 3,151 กม. รัฐสร้างกำแพงกันคลื่นไปแล้ว 190 กม. เขื่อนกันคลื่น 112 กม. เติมทรายชายหาด 2.8 กม. แล้วก็รอดักทรายอีก 29 กม. เวียนใช้ 4 มาตรนี้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง ที่เกาะลันตา จ.กระบี่ ก็ทำกำแพงกันคลื่นในหลายจุด ซึ่งมีอีกหลายพื้นที่เกิดปัญหากัดเซาะขึ้น หากตัดสินใจใช้มาตรการที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ จะอาจส่งผลให้ชายหาดหายไป เทคโนโลยีที่ถ่ายทอดให้ชุมชน จะทำให้รู้สุขภาพชายหาด เท่ากันต่อการเปลี่ยนแปลง เอื้อต่อการวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนา ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายหาดภาคสนามที่สำคัญ เช่น รูปตัดชายหาด ภาพถ่ายมุมเดิมๆ ความลาดชันชายหาดในแต่ละช่วงเวลา เป็นการต่อสู้ด้วยข้อมูลยับยั้งโครงสร้างทางวิศวกรรม อุปกรณ์ตรวจวัดต้นทุนต่ำ สามารถประดิษฐ์และซ่อมแซมได้เองในท้องถิ่น แต่มีความถูกต้องระดับที่ยอมรับได้ ทำงานร่วมกับแอป BMON เพื่อติดตามชายฝั่งผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งยังสร้างความตระหนักชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ ” ผศ.ดร.สมปรารถนา กล่าว
นักวิชาการ มก. ระบุภาวะโลกเดือด โลกรวน ทำให้ชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเดิม โดยเฉพาะภัยคุกคามการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อด้านขวานของไทย ถ้าไม่ทำอะไรเลย เผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นมากที่สุด เราจะสูญเสียพื้นที่ริมชายหาดถึง 80% มาพร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของกำแพงกันคลื่น ซึ่งไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการการจัดการพื้นที่ชายหาดในชุมชนอย่างยั่งยืน
ชุมชนชายฝั่งลันตาร่วมตรวจวัดชายหาดด้วยอุปกรณ์วัดรูปตัดชายหาด
หนึ่งในชุมชนชายฝั่งกระบี่ เรืองเดช คล่องดี ประธานกลุ่มชุมชนชายฝั่ง ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา พาชาวบ้านหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 9 ต.เกาะกลาง ร่วมฟังการบรรยายและสาธิตภาคสนาม กล่าวว่า ชุมชนชายฝั่งทะเล พบปัญหากัดเซาะรุนแรงตั้งแต่ปี 2549 นำมาสู่การวางกติกาดูแลระบบนิเวศป่าชายหาดระยะทาง 1 กม. อนุรักษ์หญ้าทะเลใต้น้ำ พัฒนาจนเป็นชายหาดที่คงความสมดุลร่วมกับรัฐ หากรัฐหรือผู้ประกอบการจะสร้างกำแพงกันคลื่น จะต้องผ่านการยอมรับชุมชน สำหรับเทคโนโลยี BMON ที่นำมาถ่ายทอดจะเติมเต็มการเก็บข้อมูลสภาพชายหาดของชุมชนให้สมบูรณ์มากขึ้น และจะแนะนำเทคโนโลยีนี้ให้กับเพื่อนบ้านในการจัดการชายหาดหน้าบ้าน ช่วยกันพัฒนาพื้นที่เกาะลันตาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว
"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น
“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.
วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั
สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ
สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ
"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ
เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน
สสส.ชวนคนรักสุขภาพ ร่วม'เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง' กระตุ้น'นักวิ่งหน้าใหม่'ลงสนาม8ธ.ค.นี้
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดงานแถลงข่าว Thai Health Day Run 2024 วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง” ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ ที่สะพานพระราม 8 โดย สสส. มุ่งจุดกระแสกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต ซึ่งจากผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info ระบุว่า ไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.56 ปี อายุยืนเป็นอันดับที่ 78 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561-2565 พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 164,720 ราย สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีชีวิต