เที่ยวเชียงใหม่ ไหว้พระธาตุ 12 นักษัตร

เดินสายไหว้พระขอพรเพื่อเสริมสิริมงคล เป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเราๆ  และประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ คือ การสักการะพระธาตุประจำปีเกิด  เพื่อให้ชีวิตมีความราบรื่น  มีโชคลาภ  รวมทั้งเป็นสิริมงคลต่อการเริ่มต้นใหม่ในทุกๆ ปี  ซึ่งสำหรับในประเทศไทยแล้ว มีพระธาตุประจำปีเกิดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ  แต่จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่มีพระธาตุประจำปีเกิดมากที่สุด

เหตุเพราะคติความเชื่อของชาวล้านนาที่ว่า ดวงจิตมนุษย์ก่อนกำเนิดจะสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไป โดยมี “ตั๋วเปิ้ง” หรือสัตว์ประจำปีนักษัตร พาไปพักหรือเพื่อรอการกำเนิดขึ้น ทำให้ชาวล้านนามีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตนและหาโอกาสไปนมัสการ นำมาซึ่งความสงบและความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต มีการสืบทอดความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นแบบไม่เสื่อมคลาย

กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมพระธาตุประจำวันเกิด 12 นักษัตร ใน จ.เชียงใหม่ ต่อยอดสู่กิจกรรม “ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิด” ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา ที่สามารถเดินทางตามได้ง่ายๆ ที่สำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีอีกด้วย  โดยมียุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วยนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เข้าร่วมกิจกรรมที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร  วัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ที่ประดิษฐานพระธาตุพระสิงห์ พระธาตุประจำคนเกิดปีมะโรง   

บรรยากาศยามเย็นคลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่จับจองพื้นที่เฝ้ารอชมพิธีเปิดโครงการ ซึ่งเต็มไปด้วยวิถีวัฒนธรรมล้านนา เริ่มจากขบวนแห่ผ้าห่มพระธาตุประจำปีมะโรงจากวัดชัยพระเกียรติมายังวัดพระสิงห์สะท้อนความศรัทธาพุทธศาสนาดินแดนล้านนา   เหล่าช่างฟ้อนกว่า 500 ชีวิต ฟ้อนเทียนถ่ายทอดวัฒนธรรมอ่อนช้อยทรงคุณค่าของชาวล้านนา สะกดสายตานักท่องเที่ยว ก่อนเข้าสู่การแสดงชุดเล่าขานตำนานพระพุทธสิหิงค์และตำนานพระธาตุหลวงวัดพระสิงห์ ตื่นตากับการแสดงกลองล้านนาชุดนันทเภรีแห่งศรัทธา  นาฏยลีลาศรีนครพิงค์ และสักการะบูชาพระมหาธาตุเจดีย์อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยปลัด วธ. นำจุดธูปเทียนบูชารับมงคลปีมะโรงงูใหญ่

ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร กล่าวว่า โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism)ช่วยส่งเสริมให้วัด ศาสนสถานเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ ประวัติศาสตร์ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในชุมชนบนฐานของมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมผ่านการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับ ททท.  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ตามแนวคิด Soft Power ชูเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างการรับรู้นำไปสู่การพัฒนา ส่งเสริมการสืบสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามของท้องถิ่น

จากนั้นพากันไปกราบพระธาตุพระสิงห์ พระธาตุประจำคนเกิดปีงูใหญ่  องค์พระธาตุเป็นรูปทรงศิลปะพม่าที่นิยมสร้าง มาตั้งแต่สมัยพุกาม ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้ายบรรจุรวมกับพระเกศาธาตุ ได้ทำบุญเสริมดวงตามความเชื่อชาวล้านนา  ที่วัดพระสิงห์นี้เราเข้าไปไหว้ขอพรพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญคู่นครเชียงใหม่ ทุกปีจะนำ”พระสิงห์”ออกแห่รอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่”  เชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์จะดลบันดาลให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข  ขจัดภัยพิบัติ ใครที่ชื่นชอบยลศิลปะสถาปัตยกรรมตามวัดวาอาราม ห้ามพลาดชมพระอุโบสถที่มีสถาปัตยกรรมงดงามเป็นพิเศษแตกต่างจากอุโบสถวัดอื่นๆ และขึ้นทะเบียนโบราณสถานจากความเก่าแก่สร้างสมัยกษัตริย์พญามังราย  แล้วยังมีหอธรรมวิจิตรงดงาม ชาวปีมะโรงต้องหาโอกาสไปกราบสักครั้งในชีวิต

เช้าวันใหม่วางแผนเดินทางไปสักการะอีก 3 พระธาตุจำปีนักษัตร เริ่มที่พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุประจำคนเกิดปีมะแมหรือปีแพะ  ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นแลนด์มาร์คคู่นครเชียงใหม่ เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูง ย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ปิดด้วยทองจังโกงดงามอร่ามตาประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนาและพุทธศาสนิกชนตราบจนปัจจุบัน เชื่อกันว่าหากบูชาพระธาตุครบทั้ง 4 ทิศ จะทำให้มีสติปัญญาดี ชีวิตดี   พระธาตุดอยสุเทพเป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนแถบภาคเหนือ ปัจจุบันองค์พระธาตุอยู่ระหว่างการบูรณะ  แต่เปิดให้นมัสการตามปกติ ด้วยโลเกชั่นอยู่บนดอยสุเทพ ยังสามารถชมวิวทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้สุดสายตา

ถ้าจะให้ถูกต้องตามความเชื่อชาวล้านนา ผู้ที่เกิดปีมะเส็งหรือปีงูเล็ก จะต้องจารึกไปยังประเทศอินเดียสักการะโพธิบัลลังก์ตรัสรู้ที่พุทธคยา ส่วนใครที่ไม่สะดวกสามารถมากราบ เจดีย์เจ็ดยอด หรือ เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา พระธาตุประจำคนเกิดปีมะเส็ง ที่วัดโพธาราม มหาวิหาร หรือ วัดเจ็ดยอด ที่เมืองเชียงใหม่ได้บุญไม่ต่างกัน พระเจดีย์เก่าแก่สร้างด้วยศิลาแลง ทรงยอดปรางมี 7 ยอด ประดับลวดลายปูนปั้นเทพพนม และลวดลายดอกไม้  สร้างเลียนแบบเจดีย์พุทธคยาแบบอินเดีย รอบฐานพระเจดีย์เต็มไปด้วยรูปปั้นงูที่มีผู้นำมาถวายแก้บนตามความเชื่อในฐานะพระธาตุประจำปีมะเส็ง ความสำคัญวัดโบราณนี้เป็นสถานที่สังคายนาพระโตรปีฎกครั้งที่ 8 ของโลก  สิ่งหนึ่งนิยมทำเมื่อมาวัดเจ็ดยอดการบูชาไม้ค้ำโพธิ์ตามความเชื่อล้านนา  ช่วยค้ำจุนชีวิตให้ยืวยาวดั่งต้นโพธิ์

อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ในเส้นทางสักการะประจำปีเกิด ไม่ต้องเดินทางไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือขึ้นเครื่องไปบูชาพระธาตุอินทร์แขวน ประเทศพม่าของคนเกิดปีจอ ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประดิษฐานพระทันตราตุพระพุทธเจ้า หมุดหมายอยู่ที่ พระธาตุจุฬามณี พระธาตุประจำคนเกิดปีจอ หรือปีหมา วัดเกตการาม เชียงใหม่นี่เอง   วัดเกตอายุเกือบ 600 ปี  ไหว้พระธาตุแล้ว เข้ากราบพระในวิหาร  แวะชมพระอุโบสถบานประตูสลักไม้รูปเทพพนมสีทอง ลวดลายปูนปั้นเป็นรูปกิเลน มังกร ปลา บันไดพญานาคเลื้อยออกมาจากโบสถ์สวยงามตราตรึง ที่วัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนรวบรวมสมบัติดั้งเดิมของวัดและของเก่าแก่ที่ชาวบ้านล้านนาบริจาค  อาทิ พระพุทธรูป ช่อฟ้า ใบระกา ข้าวของเครื่องใช้  อาวุธโบราณ เสื้อผ้าของชาวล้านนา และภาพถ่ายเมืองเชียงใหม่ในอดีต แต่ตอนนี้ปิดปรับปรุง ปีหน้าพร้อมเปิดให้ชมอีกครั้ง

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางล้านนา ยังมีพระธาตุประจำผู้ที่เกิดในปีชวด หรือปีหนูด้วย ได้แก่ พระธาตุศรีจอมทอง คนเหนือออกเสียงว่า “จ๋อมตอง” วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารเก่าแก่คู่เชียงใหม่มากว่า 500 ปี ตามประวัติหลังพุทธเจ้าปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จฯ มาดอยจอมทอง สร้างอุโมงค์แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน  ต่อมาสองผัวเมียศรัทธาในพุทธศาสนาสร้างพระเจดีย์ พระพุทธรูป ไว้บนดอย ผู้คนเรียกวัดจอมทอง ต่อมาเกิดเหตุอัศจรรย์ พระบรมสารีริกธาตุเคลื่อนจากอุโมงค์ไปประดิษฐานภายในพระโมลีพระพุทธรูป สมัยพระเจ้าเมืองแก้วกษัตริย์เชียงใหมาโปรดให้สร้างวิหารและโขงปราสาทประดิษฐานพระบรมธาตุจอมทอง พระธาตุประจำปีชวด คนปีหนูมากราบไหว้ได้อานิสงส์แรงกล้า

ใครวางแผนเที่ยวเชียงใหม่สามารถไปตามรอยพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร  นอกจากนี้ หยุดยาววันมาฆบูชา วันสำคัญทางศาสนา สายบุญชวนกันมาจาริกแสวงบุญไหว้พระธาตุได้อานิสงค์แรงกล้ายิ่งนัก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศรัทธาพุทธศาสนาในเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดีถวายพระกุศล

เจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติกรมพระศรีสวางควัฒนฯ ที่วัดป่าบ้านตาด

28 มิ.ย.2567 ที่ศาลาใหญ่ วัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเกสรศีลคุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็

'ตักบาตรหาบจังหัน' วิถีงดงามบ้านหาดสองแคว

ประเพณีตักบาตรหาบจังหัน เป็นวัฒนธรรมประเพณีชาวบ้านหาดสองแคว จ.อุตรดิตถ์ หรือชาวไทยเชื้อสายลาวเวียงที่อาศัยอยู่ในหาดสองแคว ที่พบเห็นได้ยามเช้าของทุกวันที่ชาวบ้านออกมารอใส่บาตรพระ ด้วยชุมชนแห่งนี้ผูกพันกับวัด คนในชุมชนยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น 

เที่ยว'บ้านฟ้าหยาด' ยลวัฒนธรรมครบรส

มนต์เสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านฟ้าหยาด ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย  จ.ยโสธร พร้อมใจกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยเฉพาะประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกมีอัตลักษณ์คู่เมืองยโสธร  ที่คนในชุมชนนำข้าวเปลือกมาคั่วใ

อันตราย! ทุนต่างชาติรุกเขมือบค้าไม้เถื่อน

หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ ติดตามไม้มีค่าจากแหล่งซุกซ่อน บุกรวบผู้ต้องหาค้าไม้เถื่อนคาโรงงาน ส่งดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ขยายผลเอาผิดทุนต่างชาติ

วันนี้ 'วันครีษมายัน' กลางวันยาวสุดของปี พระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเกือบ 13 ชม.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็น “วันครีษมายัน”