พุทธศาสนิกชนไทยนิยมบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยความศรัทธาและความเชื่อพระธาตุมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เมื่ออยากได้บุญต้องการความสำเร็จจะไปกราบไหว้บูชา ขอศีลขอพร เป็นวิถีวัฒนธรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม2567 รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับรัฐบาลอินเดีย กระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ดำเนินงานโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 ก.พ.- 19 มี.ค. 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบวงสรวงจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เข้าร่วมพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เวลา 7.00 น. วันที่ 7 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ นำประกอบพิธีบวงสรวง
ตามประวัติพระบรมสารีริกธาตุนี้เป็นมรดกล้ำค่าแห่งพระพุทธศาสนา อัญเชิญมาจากพิพิธภัณฑ์กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2441 หรือ 126 ปีที่แล้ว จากสถูปโบราณ เมืองปิปราห์วา ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นที่ตั้งของเมืองกรุงกบิลพัสดุ์ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานเป็นจารึกอักษรพราหมีบนผอบ แปลว่า “ ที่บรรจุพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของสากยราชสุกิติ กับพระภาตา พร้อมทั้งพระภิคินี พระโอรสและพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวาย”
ส่วนพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พบเมื่อปี 2394 อัญเชิญมาจากสถูปเมืองสาญจี บรรจุในผอบซึ่งมีจารึกอักษรพราหมีว่า “สาริปุตส” แปลว่า พระธาตุของพระสารีบุตร และ “มหาโมคลานส” แปลว่า พระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะ
นายเสริมศักดิ์ พฃษ์พานิช กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุมาประดิษฐานให้ศาสนิกชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างสูงสุดในชีวิต โดยกำหนดอัญเชิญประดิษฐานในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 ก.พ.- 19 มี.ค. 67 มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร จากนั้นจะเคลื่อนไป จ.เชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี และ จ.กระบี่ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศได้สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงคุณค่าในพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ
สำหรับแนวความคิดในการออกแบบมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงนั้น นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า มณฑป ออกแบบโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร รูปแบบสถาปัตยกรรมเลือกใช้รูปแบบอาคารแบบมณฑป ซึ่งเป็นอาคารเครื่องยอดที่มีฐานานุศักดิ์ อาคารสูงสุดในงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ภายในอาคารติดตั้งระบบปรับอากาศและระบบควบคุมความชื้น เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในอาคาร นอกจากนี้ ได้จัดทำผอบทรงเจดีย์ลวดลายแบบไทยประเพณีสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุล้ำค่าอีกด้วย
“ การดำเนินงานหลังจากที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุถึงประเทศไทยวันที่ 22 ก.พ. 2567 แล้ว ในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 16.00 น. รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา เป็นขบวนอัญเชิญธงชาติไทย อินเดีย ธงธรรมจักร และธงฉัพพรรณรังสี ขบวนโคมประทีปและโคมดอกบัว รถบุปพชาติ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ขบวนเฉลิมพระเกียรติ ขบวนชุดประจำชาติไทยและอินเดีย เคลื่อนจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง จากนั้นเวลา 17.00 น. จะมีพิธีเปิดงานและพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และในวันที่ 24 ก.พ. – 3 มี.ค.จะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ระหว่าง เวลา 09.00 – 20.00 น.” นายเสริมศักดิ์ กล่าว
ในส่วนภูมิภาคนั้นความศรัทธาในพุทธศาสนาแรงกล้าไม่แพ้กัน พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุในประวัติศาสตร์จะอัญเชิญไปประดิษฐานใน 3 จังหวัด ให้ประชาชนได้เข้าสักการะบูชา ได้แก่ ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5 – 8 มี.ค. ที่ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 10 – 13 มี.ค. ที่วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15 – 18 มี.ค.ที่ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยจะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นอย่างยิ่งใหญ่ และจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับชาวพุทธที่เข้ากราบสักการะด้วย ถือเป็นความพิเศษที่ไม่ต้องไปนมัสการถึงดินแดนพุทธภูมิ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม
โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List
วธ.จัดกิจกรรมถวายพระราชกุศล ร.9
28 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์การทางศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์และกลุ่มภาคีเครือข่ายจัด “กิจ