รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ Level 3 คันแรกในไทย ผสานความก้าวหน้ารถอีวี-ระบบ 5G

รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ ขณะวิ่งเพื่อไปยังจุดจอดรับนักท่องเที่ยว

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นยานยนต์ที่กำลังมาแรง โดยมีการคาดการว่าจะมาแทนรถยนต์สันดาปภายในในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า และอีกความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก็คือการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคของยานยนต์เชื่อมต่อและขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle :CAV) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ยานยนต์อัตโนมัติ” ที่ตัวยานยนต์จะมีระบบอัตโนมัติในการขับขี่และสามารถสื่อสารกับยานยนต์คันอื่นได้

สำหรับยานยนต์อัตโนมัติ มีการกำหนดระดับขั้นของการพัฒนาระบบอัตโนมัติของยานยนต์ไว้ 5 Level ได้แก่  Level 0: ไม่มีระบบอัตโนมัติ Level 1: Foot off   ระบบสามารถควบคุมเครื่องยนต์ให้ทำงานในความเร็วที่กำหนด Level 2: Hand off  ระบบสามารถควบคุมความเร็ว การเบรก และควบคุมรถให้อยู่ในเลน โดยผู้ขับขี่สามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ชั่วขณะ Level 3: Eye off  ระบบทำหน้าที่ควบคุมยานยนต์ตลอดเวลา  ผู้ขับขี่ที่นั่งอยู่ไม่ต้องทำหน้าที่ควบคุมบังคับรถ (ยกเว้นบางสถานการณ์) Level 4:  Mind off  ระบบทำหน้าที่ควบคุมยานยนต์ตลอดเวลา   โดยผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องนั่งควบคุมตลอดเวลา (หากเกิดเหตุฉุกเฉิน รถจะหยุดได้ด้วยตัวเอง)  Level 5: Body off  ระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับขี่

ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนารถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G ร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (TKC) ภายใต้โครงการ “โครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวในเขตโบราณสถาน” จำนวน 1 คัน ซึ่งอยู่ในระดับเป็น Level 3 นำร่องในพื้นที่รอบบึงพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565-กรกฎาคม พ.ศ.2567

รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ Level 3 นำล่องวิ่งรอบบึงพระราม

ทั้งนี้จะมีการทดลองวิ่งให้บริการรถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ในเส้นทางรอบบึงพระราม ตั้งแต่วันศุกร์ – วันอังคาร เวลา 09.00 – 17.00 น. โดยสามารถเรียกรับบริการผ่านแอปพลิเคชัน “5G Auto Bus” ได้ ณ ป้ายจอดรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ 4 แห่ง รอบบึงพระราม ได้แก่ 1. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา 2. วัดมหาธาตุ 3. วัดธรรมิกราช 4. วัดพระราม ระยะการทดลองวิ่งเริ่มตั้งแต่ 31 มกราคม – 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ  กล่าวว่า  ในส่วนของการพัฒนารถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G ต้นแบบคันนี้ ประกอบด้วยการวิจัยพัฒนาในหลายส่วน ทั้งการพัฒนาและติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้าไปในรถบัสไฟฟ้าซึ่งถูกผลิตในประเทศไทย การพัฒนาระบบควบคุมรถจากข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากเซนเซอร์ ได้แก่ ไลดาร์( LIDAR)จำนวน 6 ตัว และ เรดาห์ (RADAR)จำนวน 1 ตัว การทำแผนที่ความละเอียดสูงในเส้นทางวิ่งที่กำหนด และการเขียนโปรแกรมในการควบคุมและสั่งการรถบัส โดยรถบัสมีความสามารถการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ซึ่งจะขับเคลื่อนได้เองตามเส้นทางวิ่งที่กำหนดไว้แต่ยังมีความจำเป็นต้องมีพนักงานขับขี่นั่งอยู่หลังพ่วงมาลัยเพื่อความปลอดภัยและการตัดสินใจในบางสถานการณ์

สำหรับการออกแบบรถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G   รศ.ดร.ยศพงษ์ อธิบายว่า  ในการออกแบบระบบ Drive by wire ประกอบด้วย 1.ระบบบังคับพวงมาลัยด้วยสัญญาณไฟฟ้าผ่านมอเตอร์ที่ติดตั้งบริเวณก้านพวงมาลัยเพื่อควบคุมการหมุนของพวงมาลัย 2. ระบบเบรกด้วยสัญญาณทางไฟฟ้าผ่านมอเตอร์ที่ติดตั้งบริเวณแป้นเบรก และ 3. ระบบสั่งการคันเร่งด้วยสัญญาณทางไฟฟ้าที่จะควบคุมการเปลี่ยนความเร็วของรถ ที่สำคัญคือระบบย่อยทั้ง 3 ระบบข้างต้น จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณที่เก็บสัมภาระหลังคนขับ ที่จะมีฟังก์ชันสั่งการในการทำงาน 7 อย่าง คือ การเร่ง การเบรก การหมุนของพวงมาลัย การสตาร์ทรถ การเปลี่ยนเกียร์ การเปิดปิดไฟเลี้ยว และการทำงานของแตร ระบบอัตโนมัติจะทำหน้าที่ควบคุมรถแทนคนขับทั้งหมด

ไลดาร์ ตรวจจับวัตถุที่ระยะไกล ติดตั้งอยู่บนหลังคารถบัส

 ในส่วนระบบเซนเซอร์บนรถจะมีเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุและวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ หรือไลดาร์   ที่สามารถตรวจจับวัตถุในระยะไกล้สุด 100 เมตร จำนวน 4 ตัว และตรวจจับวัตถุที่ระยะไกลสุด 200 เมตรอีก 2 ตัว ทำงานร่วมกับเซนเซอร์เรดาห์ 1 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้ารถเพื่อเพิ่มเติมการตรวจจับวัตถุในระยะไกล โดยทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูล ณ เวลาและตำแหน่งปัจจุบัน ที่จะถูกนำไปประมวลผลร่วมกับแผนที่ความละเอียดสูงที่อยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งในเส้นทางทดลองรอบบึงพระรามก็ได้มีการทำแผนที่รอบบึงพระราม ระยะทางราวๆ 2 กิโลเมตร   ซึ่งตัวรสบัสสามารถวิ่งด้วยความเร็วอยู่ที่ 90 กม./ชม. แต่เนื่องจากวิ่งในพื้นที่โบราณสถานจึงต้องกำหนดความเร็วในการวิ่งที่ 25 กม./ชม. และเป็นความท้าทายอย่างมากเพราะสภาพแวดล้อมบนถนน 2 เลนไปกลับ หรือ ถนน 4 เลน ไม่แซงในเส้นทึบ หากมีการจราจรของรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ที่ต้องใช้การตัดสินใจขณะนั้น คนขับก็มีส่วนในการตัดสินใจควบคุมรถด้วย   แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการตัดสินใจและสั่งการบังคับรถผ่านระบบ Drive by wire ในแต่ละฟังก์ชัน

การชาร์จรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันนี้ ทางโครงการยังได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาในการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรงขนาดกำลังไฟ 40 kW 1 เครื่อง ซึ่งรถสามารถวิ่งได้นานถึง 8-9 ชั่วโมง   รวมทั้งเป็นพื้นที่จอดรถระหว่างการทดลองวิ่งให้บริการด้วย

“ซึ่งในประเทศจีนก็มีการนำล่องใช้รถไฟฟ้ารถบัสไฟฟ้าไร้คนขับในหลายๆ เมือง หรือในต่างประเทศก็มีการพัฒนาไปถึง Level 5 แล้ว ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในระดับการพัฒนาที่ Level 3 นับว่าเป็นอีกความก้าวหน้าในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะส่วนใหญ่รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายอยู่ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาอยู่ที่ระดับ Level 2-3 และมีแนวโน้มว่าจะไปสู่ Level 4 ในอีกไม่นาน ส่วน ในต่างประเทศก็ได้มีการพัฒนาสู่  Level 5 เป็น  Robot Taxi หรือ  Robot Bus  ดังนั้นจึงต้องการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นทางด้านทุน หรือในทางกฎหมาย ที่ต้องถูกพิจารณาเพื่อให้มีกฎหมายรองรับเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ถ้ารถยนต์ไร้คนขับเกิดอุบัติเหตุ ในทางกฎหมายแล้วคนที่ต้องรับผิดชอบต้องเป็นเจ้าของรถหรือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เป็นต้น ” รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าว

 ดร.ภาณุภัทร์ ภู่เจริญ

ด้าน ดร.ภาณุภัทร์ ภู่เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายโทรคมนาคม จาก บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ในการนำระบบ 5G มาผสานกับเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับโครงการนี้จะเป็นการสื่อสารแบบ C-V2N คือ Cellular Vehicle-to-Network คือทำให้รถสามารถรับส่งข้อมูลผ่านระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ กับศูนย์ข้อมูล (Data center) ได้  ซึ่งในเบื้องต้นได้ทำเป็นแอปพลิเคชัน 5G Auto Bus เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียกให้รถมารับที่จุดจอดที่กำหนด ระบบที่พัฒนาขึ้นมานี้สามารถต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อยานยนต์กับการใช้งานด้านอื่นอีกมากมายในอนาคต ได้แก่ การเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้โดยสารหรือผู้ให้บริการ การเชื่อมต่อกับคนเดินเท้าหรือยานยนต์คันอื่น รวมถึงป้ายสัญญาณไฟจราจร ตลอดจนการรายงานอุบัติเหตุบนเส้นทาง ที่ทำให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

พิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ทรวคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม งานเลขานุการ กสทช. กล่าวว่า ในการเลือกพื้นที่นำร่องที่รอบบึงพระราม ในการทดลองวิ่งรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับซึ่งใช้เทคโนโลยี 5G  เพราะเป็นพื้นที่โบราณสถานซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีบริการเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุม อีกทั้งยังมีขนาดพื้นที่ที่ไม่ใหญ่จนเกินไปเพื่อให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว หลังจากสิ้นสุกระยะโครงการฯ ก็ต้องมีการร่วมหารือกับทางผู้พัฒนาในการพัฒนาต่อยอด เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนและเติบโตในอุตสากรรมรถไฟฟ้าต่อไป .

รถขับเคลื้อนโดยระบบอัตโนมัติ แต่ยังมีคนขับนั่ง เพื่อสังเกตุสถานการณ์การจราจร

ว่าที่ร้อยตรี สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า รู้สึกมีความยินดีที่มีการนำรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับมาวิ่งให้บริการในเส้นทางท่องเที่ยวโบราณสถาน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก เพราะมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมโบราณสถานมากกว่า 1,000 คนต่อวัน อีกทั้งรถบริการท่องเที่ยวที่เป็นรถรางที่ใช้น้ำมัน ซึ่งรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับก็เป็นอีกนวัตกรรมในการลดใช้พลังงาน และคาดว่าจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ในการท่องเที่ยวที่ช่วยลดพลังงาน ซึ่งทางมจธ. ก็จะมีการเข้ามาอบรมการดูแล รักษารถบัสให้กับบุคลากรท้องถิ่นเพื่อใช้งานได้อย่างถูกต้อง

เพิ่มเพื่อน