เทรนด์อาหารของคนรักสุขภาพในปัจจุบัน หันมาสนใจอาหารที่ทำจากพืช หรือ Plant Based หรือโปรตีนจากพืชกันมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในการการดูแลสุขภาพ การหาความรู้ทางด้านโภชนาการด้วยตนเอง การทำอาหารทานเองที่บ้าน และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์พุ่งสูงขึ้น และเล็งเห็นว่าแค่เพียงการกินผัก ผลไม้ หรือการลดทานอาหารที่มีไขมันสูง อาจยังตอบโจทย์สุขภาพไม่พอ
สำหรับ แพลนต์เบส กลุ่มอาหารที่มีในสังคมมานาน ซึ่งผลิตโปรตีนมาจากพืชเป็นหลัก นอกจากจะให้คุณประโยชน์ในแง่ของสุขภาพ ยังช่วยลดโลกร้อน ที่มาจากกระบวนการผลิตอาหารในกลุ่มปศุสัตว์ได้อีกด้วย ซึ่งกระแสในช่วงแรกของการกินแพลนต์เบสมาจากความนิยมในสหรัฐอเมริกา และขยายเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนรักสุขภาพหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีกลุ่มที่นิยมทานอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ หรือกลุ่มที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ ทำให้แพลนต์เบสได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกและส่งผลให้ธุรกิจอาหารสุขภาพแพลนส์เบสขยายมากขึ้นในไทย
หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ FTI ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ Latest Trends of Health Food Business เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านอาหารคุณภาพ และทิศทางของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ
เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาหารสุขภาพ มีจุดมุ่งหวังที่จะผลิตอาหารที่ต่อผู้บริโภคในประเทศไทยให้อายุยืนขึ้น อย่างอาหารที่จะผลิตขึ้นอาจจะค่อยๆลดเค็ม แต่ไม่อาจจะทำให้อาหารไม่มีรสเค็มเลย เพราะคนไทยยังติดการทานอาหารที่มีรสชาติ ดังนั้นในการผลิตอาหารจะมีฉลากโภชนาการติดไว้ สามารถที่จะดูได้ก่อนรับประทาน ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตขึ้น 5-10% โตมากกว่าอาหารทั่วไปที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-6% นอกจากนี้โซเชียลมีเดีย ก็มีผลทำให้ผู้บริโภคทานอาหารที่ตรงกับโภชนาการมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
เจริญ กล่าวต่อว่า ในปีพ.ศ.2566 อัตราการส่งออกกลุ่มอาหารเกษตรที่รับประทานได้มีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท อยู่อันดับที่ 12 ของโลก โดยตั้งเป้าที่จะติด 1 ใน 10 ให้ได้ภายใน 5 ปี เป็นตัวนำธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้อาหารเพื่อสุขภาพ นับว่าเป็นพระเอกที่กำลังมีความต้องการในขณะนี้ ประกอบทั่วโลกกำลังขาดแคลนอาหาร เกิดจากภาวะในการขนส่งบางพื้นที่ยากขึ้น ดังนั้นน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย ที่ส่งออกอาหารมากกว่านำเข้าเพียง 1 ใน 3 ของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ร่วมกับออสเตรเลียและอินเดีย ส่วนประเทศอื่นจะนำเข้ามากกว่าส่งออก
“ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับทางประเทศญี่ปุ่น นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาและเรียนรู้เทคโนโลยี วัตถุดิบที่ใช้ เพราะญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศผู้นำอาหารสุขภาพ ส่งผลให้ประชาชนของญี่ปุ่นมีอายุยืน จากปัจจัยสภาพแวดล้อม และรับประทานอาหารปลอดภัย ซึ่งทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นมีการค้าระหว่างประเทศที่ดีต่อกัน และอาหารญี่ปุ่นก็มีอัตราการเติบโตอย่างมากในไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด หรือผลไม้ และเนื่องจากมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ทำให้มีภาษีไม่ถึง 10% ซึ่งในประเทศที่ยังไม่ได้ทำ FTA อย่างประเทศเกาหลี ทำให้มีภาษีถึง 20-30% จึงอยากให้รัฐบาลมีการผลักดันเรื่อง FTA กับประเทศต่างๆมากขึ้น” เจริญ กล่าว
ด้านสุปราณี ชนะชัย ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า จากแนวโน้มที่สังคมไทยและทั่วโลกมีการบริโภคอาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทานของไทย ได้นำเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology มาพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านโภชนาการอาหารที่แตกต่างกัน นำไปสู่การผลิตอาหารที่จำเพาะเจาะจงกับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มมากขึ้นเรียกว่า Functional Food เพราะมนุษย์ไม่ได้มีความต้องการโภชนาการชนิดเดียวกัน อาทิ อาหารสำหรับคนวัยเด็ก ที่มีความต้องการโภชนาการในรูปแบบหนึ่ง คนที่ต้องใช้พลังงานมากในวัยทำงานต้องการโภชนาการในรูปแบบหนึ่ง คนสูงอายุต้องการโภชนาการในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะต้องพัฒนาไปยังจุดนั้นโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม
สุปราณี กล่าวต่อว่า ได้พัฒนากลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน Plant-Based Diet ภายใต้แบรนด์ VG for Love หรือ วีจีฟอร์เลิฟ และแบรนด์ครีเอเตอร์ อาหารพร้อมรับประทานสำหรับผู้สูงอายุที่เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ซึ่งอาหารพร้อมรับประทาน Plant-Based Diet ภายใต้แบรนด์วีจีฟอร์เลิฟ ถือว่าเป็นอาหารพร้อมรับประทานสำหรับผู้บริโภคที่มีการบริโภคพืชเป็นหลักPlant-Based Diet ครบ 5ประเภทรายแรกของไทย ซึ่งมีไลฟ์สไตล์สอดคล้องทั้ง 4 ความรัก คือ รักสุขภาพ รักชีวิตสัตว์ รักสิ่งแวดล้อม และรักโลก โดยแบ่งประเภทอาหารเป็น 5ประเภท ได้แก่ หมายเลข 1 อาหารเจ, หมายเลข 2อาหารวีแกน, หมายเลข 3 อาหารมังสวิรัติกับนม, หมายเลข 4 อาหารมังสวิรัติกับไข่ และหมายเลข 5อาหารมังสวิรัติกับนมและไข่ เช่น คะน้าหมูกรอบ ข้าวผัดเห็ดออรินจิ บะหมี่แห้งปลาเส้นทอด ข้าวลาบหมู ข้าวผัดแกงเขียวหวายไก่ และอื่นๆ โดยราคาเริ่มต้นที่ 45 บาท ซึ่งบรรจุในบรรจุภัณฑ์สีฟ้า ปิดผนึกเพื่อคงสภาพความสด ใหม่ สะอาด และความปลอดภัยทางอาหารสูงสุด และออกแบบจากแนวคิด The Blue Planet คือ โลกเราเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในสุริยจักรวาล ที่เป็นสีฟ้า เวลามองดูจากนอกโลก
ส่วนอาหารพร้อมรับประทานแบรนด์ ครีเอเตอร์ เป็นอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ โดยคำนึงถึงปริมาณและประเภทของสารอาหารที่จำเป็น รวมไปถึงคุณสมบัติของอาหารหรือวัตถุดิบให้เหมาะสมกับการเคี้ยว ระบบการย่อย และดูดซึมสารอาหารตามวัยของผู้สูงอายุ รวมถึงยังผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ปลอดภัย มั่นใจ ทุกขั้นตอน บรรจุใส่บรรจุภัณฑ์สีแดง ที่มีแนวคิด พลังสร้างสรรค์ดั่งดวงอาทิตย์ และตราสินค้ารูปผู้สูงอายุที่มีความสุขและสุขภาพดีอย่างชัดเจน
รศ.ดร.ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า อาหารเพื่อสุขภาพ คือ อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จะมีทั้งอาหารที่ส่วนผสมของเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมถึงอาหารในกลุ่มแพลนต์เบส คือ อาหารที่มีส่วนผสมหลักมาจากพืชเท่านั้น แบ่งเป็นกลุ่มแพลนต์เบสที่ผ่านกระบวนแปรรูปที่ไม่ซับซ้อน เช่น น้ำเต้มหู้ หรือเต้าหู้ และกลุ่มแพลนต์เบสที่ผ่านกระบวนแปรรูปให้รสชาติคล้ายกับเนื้อสัตว์ ที่มีความท้าทายในการทำรสชาติให้เหมือน และใช้ต้นทุนสูง โดยจุดเริ่มต้นของอาหารแพลนต์เบส มาจากประเทศในแถบยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการบริโภคอาหารเพื่อความยั่งยืนลดโลกร้อน โดยมีกลุ่มคนส่วนหนึ่งมีแนวคิดที่จะบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของพืชเป็นหลัก จะมีผลต่อการลดคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ น้อยกว่าการบริโภคหรือผลิตอาหารที่มาจากสัตว์ พอเป็นกระแสมาถึงโซนผู้บริโภคแถบตะวันออก อย่างในประเทศไทยก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างในการบริโภคแพลนต์เบสเพื่อสุขภาพ หรือในเชิงของศาสนา เพราะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
“ในการทานแพลนต์เบสความโดดเด่นที่มีผลต่อสุขภาพ คือไม่มี คอเลสเตอรอล และมีแนวโน้วที่จะมีไขมันต่ำกว่าอาหารที่มาจากสัตว์ แต่อีกมุมหนึ่งหากผู้บริโภคเน้นการทานอาหารจากพืชกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป เช่น เน้นการทานถั่ว เลี่ยงการทานอาหารที่มาจากธัญพืช คือผลิตภัณฑ์ที่มาจากข้าวสาลี เป็นต้น ความสมดุลของสารอาหารจะไม่ครบ เพราะโปรตีนที่มาจากถั่ว อาจจะไม่ใช่โปรตีนที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับโปรตีนที่มาจากสัตว์ ดังนั้นจะต้องทานโปรตีนจากแพลนต์เบสควบคู่กับโปรตีนที่มาจากธัญพืชด้วย หรือการรับประทานอาหารที่หลากหลาย พิจารณาการทานอาหารให้ครบถ้วนในแต่ละมื้อ เพื่อให้เกิดความสมดุลกับร่างกาย” รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พาณิชย์-DITP' ชี้เป้าส่งออกอาหารทางเลือกขายตลาดเกาหลีใต้
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยตลาดอาหารทางเลือก ทั้งอาหารจากพืชอาหารจากเซลล์เพาะเลี้ยงอาหารหมักจุลินทรีย์ และอาหารจากแมลงในตลาดเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ และรักษาสุขภาพสัตว์ชี้เป็นโอกาสอาหารทางเลือกของไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาด โดยเฉพาะอาหารที่ผลิตจากถั่ว สาหร่าย หรือแมลง รวมถึงเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง