หน้าร้อนปีนี้ รับมืออย่างไร ไม่ให้อ่วม อุณหภูมิสูงกว่าปีก่อน 0.7-0.9 องศาฯ

ภาพจาก AFP

“ในเมื่อความชื้นไม่มี เพราะไม่มีฝน และท้องฟ้าโปร่ง ก็จะเกิดการสะสมความร้อนตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป ดังนั้น ช่วงเดือนเมษายน อากาศก็จะร้อนพีคที่สุดในปีนี้ แม้ว่าอาจจะมีอากาศเย็นเข้ามาบ้าง แต่ไม่มากพอ ก็จะทำให้อากาศโดยรวมยังร้อน …..”

ปี2566 เป็นปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนที่สุด จนทำให้องค์การสหประชาชาติ ประกาศว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งเป็นการสิ้นสุดยุคภาวะโลกร้อนแล้ว  ทำให้การเฝ้าติดตามเรื่องสภาพอากาศ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ  สำหรับประเทศไทย เรื่องสภาพาอากาศร้อน อุณหภูมิในหน้าร้อนที่สูงขึ้นกว่า 40 องศาฯ กลายเป็นเรื่องน่าวิตก จนเกือบน่ากลัวเลยก็ว่าได้   ทำให้ในปี2567 กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้ออกประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ในปี2567 แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ผู้คนเตรียมรับมือ

โดยกรมอุตุฯ คาดกว่าการวฤดูร้อนประเทศไทยในปี 2567 จะเริ่มตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์และไปสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือช้ากว่าปกติประมาณ 1-2สัปดาห์  โดยหน้าร้อนปีนี้ มีอุณหภูมิสูงที่สุดที่ 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเพิ่มมากกว่าหน้าร้อนปี2566  

 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ภาคเหนือ ประมาณ  36.0-37.0 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส จ่ากค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ช่วงหน้าร้อนปี 2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส ขณะที่ปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 30

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายถึงสภาพอากาศฤดูร้อนในปีนี้ว่า ถ้าดูจากปลายปีช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่ฝนน้อย อากาศไม่มีความชื้น ซึ่งจะทำให้มีผลต่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่เข้าหน้าร้อน ซึ่งจะเริ่มกลางเดือนกุมภาพันธ์อุณหภูมิ บวกลบแล้วค่าเฉลี่ยน่าจะสูงกว่าหน้าร้อนปีที่แล้ว 0.7-0.9 องศาเซลเซียส  และถ้าช่วงฤดูร้อนปีนี้ เดือนมีนาคม.-เมษายน ไม่มีพายุฤดูร้อน หรือไม่มีฝนตกเลย ก็จะทำให้ไม่มีความชื้นเลย ทำให้อากาศร้อนกว่าปกติ แต่ถ้าโชคดีมีมวลาอากาศเย็นไหลมาในช่วงนั้น มาเจอพอดีกับกระแสลมตะวันตก อาจจะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง มาช่วยคลายร้อนได้ แต่เหตุการณ์นี้แนวโน้มน่าจะยาก เพราะปรากฎการณ์เอลนิโญ ยังแรงอยู่มากในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่ละไปลดลงในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเอลนิโญกำลังอ่อน หรือเป็นกลาง

เมษาฯร้อนหนัก-กรุงเทพฯหนีไม่พ้น

“ในเมื่อความชื้นไม่มี เพราะไม่มีฝน และท้องฟ้าโปร่ง ก็จะเกิดการสะสมความร้อนตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป ดังนั้น ช่วงเดือนเมษายน อากาศก็จะร้อนพีคที่สุดในปีนี้ แม้ว่าอาจจะมีอากาศเย็นเข้ามาบ้าง แต่ไม่มากพอ ก็จะทำให้อากาศโดยรวมยังร้อน รวมทั้งการเข้าหน้าฝนอาจจะช้ากว่าปกติ 1-2อาทิตย์ เพราะการเข้าสู่ฤดูร้อนมันมาช้า แต่ฝนที่จะมาเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นฝนในช่วงปีของเอลนีโญ ฝนก็จะยังไม่เยอะ สภาพอากาศจึงร้อนต่อไป “

ภาคที่น่าเป็นห่วงในเรื่องอากาศที่ร้อนมาก  ยังคงเป็นภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง จะเป็นพื้นที่ร้อนจัดมากในปีนี้ ภาคอีสาน ก็จะมีชัยภูมิ โคราช สุรินทร์ บุรีรัมย์  เลย ที่จะร้อนมาก ส่วนภาคกลางก็ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา เช่น อุทัยธานี กรุงเทพฯ เพราะภาคกลางฝนน้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ไม่มีความชื้นมากนัก ปีนี้อาจจะร้อนกว่าเพื่อน  

สถานการณ์ร้อนแรงที่จะต้องเผชิญในอีก2-3 เดือนข้างหน้า  ทำให้เกษตรกรต้องวางแผนการใช้น้ำ เพราะมีบางจุดเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ถ้าฤดูร้อนสิ้นสุดเร็วซึ่งคาดว่าน่าจะเร็วกว่าปีที่แล้ว แต่ปริมาณฝนไม่เยอะมีมาบ้าง แต่ไม่ได้ตกหนัก มิถุนายนน่าจะมีข่าวดีกว่าปีที่แล้ว ที่ในเดือนมิถุนายนฝนยังไม่มาเลย

“และสำหรับคนทั่วไปต้องระวังเรื่องสุขภาพ การเกิดฮีทสโตรก เพราะ Heat Index หรืออุณภูมิร่างกายของคนในช่วงหน้าร้อนที่อาจจะสูงกว่าสภาพอากาศรอบตัว  ในปีนี้ ก็อาจจะไม่ต่างจากปีที่แล้วด้วยเช่นกัน เพราะความชื้นในอากาศจะยังต่ำ เนื่องจากไม่มีฝน แต่อุณหภูมิสูง ทำให้อุณหภูมิที่เรารู้สึกได้ จึงร้อนมาก   “

ต้องระวังอากาศสุดขั้ว พายุ ลมรุนแรง

ข้อน่ากังวลในปีนี้อีกประการก็คือ  ภาวะอากาศสุดขั้วหรือสุดโต่งรุนแรง   อาจเกิดขึ้นได้เดือนละครั้งสองครั้ง  เพราะเวลาร้อนก็ร้อนจัดมากๆ แต่พอมีอากาศเย็นลงมา ก็ทำให้อากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน  สิ่งที่ต้องระวังก็คือการเกิดพายุฤดูร้อน จะเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง  ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลูกเห็บ  ซึ่งปีนี้จะExtreme  รุนแรงมากกว่าปกติ แม้ปริมาณฝนอาจจะไม่มีหรือไม่เยอะ แต่พายุจะแรงและเกิดในพื้นที่แคบๆ  ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด

อากาศร้อนปีนี้ อาจจะทำสถิติใหม่หรือไม่ ผอ.กองตรวจสอบและเฝ้าระวังสภาพอากาศฯ กล่าวว่า ก็มีแววว่าปีนี้อาจจะมีสถิติใหม่เกิดขึ้น เพราะท้องฟ้าโปร่ง และฝนน้อย อย่างเดือนเมษายน  พอพระอาทิตย์ตั้งฉาก ถ้าไม่มีเมฆมาบดบัง ก็จะทำให้ร้อนมากๆ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ได้มีการสะสมความร้อนไว้แล้ว ก็จะทำให้เดือนเมษายน ร้อนมากจริงๆ

“ปีนี้จะทำสติถิร้อนอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราจะต้องเฝ้าติดตาม  และเฝ้าดูว่าปรากฎการณ์ใหญ่เอลนิโญ หรือลานินญา จะมีผลต่อบ้านเรามากน้อยแค่ไหน แต่มีแนวโน้มว่า ปีต่อๆไป อาจจะพีคกว่านี้ก็ได้ เพราะเทรนด์มันมีแต่จะอุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างเดียว ไม่มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะลดลง  “

สมควรกล่าวอีกว่า แต่ถ้าเราผ่านช่วงหน้าร้อนไปแล้วอาจจะมีข่าวดีบ้าง  เพราะกรมอุตุฯ กำลังจับตาว่าสถานการณ์เอลนิโญ อาจจะมีความเป็นกลาง หรืออ่อนกำลังลงในปีนี้  โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่อาจจะมีฝนตก ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ซึ่งปริมาณฝนจะมีการกระจายตัวดีกว่าปีก่อน

“เราจะมีการทบทวนการคาดการณ์ สภาพอากาศอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือเป็นการทบทวนทุกๆ 3เดือน เพื่อดูว่าทิศทางเอลนีโญ ไปทางไหน จะยังแรงหรือเป็นกลาง หรืออ่อนลง  ถ้าเป็นกลางหรืออ่อนลง .แนวโน้มอุณหภูมิก็จะลดลงลงในเดือนพฤษภาคม  ก็จะทำให้เราวิตกน้อยลง “

ร้อนขึ้น นอกเขตชลประทานเร่งตุนน้ำใช้

ในมุมของนักวิชาการเรื่องน้ำ ศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า ในภาพรวมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกยอมรับว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังไม่ทันการณ์ ปีที่แล้วเป็นปีที่ร้อนสุดทั่วโลก ประเทศไทยแตะ 44 องศาเซลเซียสที่ จ.ตาก ปี  2568 คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มอีก 1.3 องศา  ไทยก็อยู่ในเทรนด์นี้  ซึ่งปี 66 โดยรวมฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 20% แต่โชคดีมาตก 2 เดือนสุดท้าย ทำให้เก็กกับน้ำในอ่างได้ดีขึ้น

คำถามจากนี้ไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก่อนหมดฝนเราเชื่อว่า จะเกิดเอลนีโญ จึงเตรียมมาตรการควบคุมการปลูกข้าวไว้ที่ 3 ล้านไร่ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน แต่หลังฝนดีขึ้น ราคาข้าวดีขึ้น ปัจจุบันชาวนาภาคกลางปลูกข้าวไปแล้ว 5.4 ล้านไร่ ใช้น้ำมากเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม จากฝนที่ตกเยอะ ส่งผลให้พื้นที่ในเขตชลประทานจะมีปริมาณน้ำเหลืออยู่มากกว่าปีที่แล้วเมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป เดือนกุมภาพันธ์จะเกี่ยวข้าวนาปรังแรก ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นชาวนาจะปลูกข้าวต่อ เป็นข้าวระยะสั้น 90 วัน เกี่ยวเมษา เพราะชาวนาพอใจกับราคา ปลูกอย่างน้อย 2-3 ล้านไร่ จะส่งผลให้สูญเสียน้ำไป 2,000-3,000 ล้าน ลบ.ม.  น้ำจะหายไป นี่คือ ปัญหา  สภาพอากาศร้อนจัดในเขตชลประทานยังมีน้ำหล่อเลี้ยง แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานจะเดือดร้อนหนักจากอากาศร้อนขึ้นจากปกติและแหล่งน้ำใหญ่ที่มีเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

“ จากการคาดการณ์เอลณีโญจะลากยาวถึงพฤษภาคม ปี 2567 แล้วจะเข้าสู่ภาวะปกติ  มีคำถามว่า จะเป็นลานีญา จะเกิดฝนตกหนักมั้ย ภาพที่ทำนายไว้มี 2 โมเดล โมเดลแรก หลัง พ.ค. ฝนจะเริ่มตก แต่ตกไม่ทั่วฟ้า หลังเดือนมิ.ย. เริ่มตกปกติ  อีกโมเดล ปี 67-68 จะขึ้นมาเป็นลาณีญาใหม่หรือเปล่า จากข้อมูลสถิติออสเตรเลีย คำนวนว่าประเทศไทยจะเจอแล้ง ปี 66 ปี  68 และ ปี 71  เป็นทฤษฎีหนึ่ง หลักการต้องมอนิเตอร์ต่อ เราควรเตรียมรับมือแล้งสุด แล้งไม่สุด กักเก็บน้ำในเขื่อนในเพิ่มขึ้น ปีนี้อินเดียแล้งจัด ส่งออกข้าวไม่ดี  แต่ปีหน้าน้ำจะดี เขาจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ราคาข้าวจะตก “ ศ.ดร.สุจริต กล่าว

ผังน้ำตำบล’ทางรอด-ปรับตัวรับภัยแล้ง

นักวิชาการด้านน้ำระบุจากการสำรวจพบว่า การรับรู้เรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงระดับชุมชนมีน้อยมาก ชุมชนใช้ประสบการณ์และการคาดการณ์แบบไม่มีข้อมูลมากกว่า นี่คือ ปัญหาใหญ่  เพราะ 70%ของพื้นที่เกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะภาคอีสาน-ภาคเหนือ หากสภาพอากาศร้อนจัดจะเกิดความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น  ทางออกต้องนำข้อมูลทำนายฝนล่วงหน้า 14 วันและข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์มาให้เกษตรกรรับรู้ เพื่อเตรียมตัว ซึ่งมีการขับเคลื่อนผ่านงานพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำระดับตำบล  ที่จัดทำผังน้ำในตำบล วิเคราะห์ปริมาณน้ำในพื้นที่ วางแผนรายฤดู และทำเกษตรทางเลือกในช่วงฤดูแล้ง  คนที่รอดปลูกพืชผักผสมผสาน มีรายได้ดีกว่า  รายอาทิตย์ รายเดือน รายสามเดือน นี่คือ ทางรอด ซึ่งต้องเข้ากระบวนการเรียนรู้ นี่เป็นทางออกระยะยาว ขณะนี้หลายตำบลเริ่มตระหนักต้องยืนบนขาของตัวเอง ลดความเสียหายจากภาคเกษตร ลดหนี้ รวมถึงลดการสูญเสียน้ำ

ทางออกเรื่องน้ำ ศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า  ได้เข้าไปดำเนินงานนำร่องใน 3 จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แย่งชิงน้ำ บนหลักการออกแบบล่วงหน้าเพื่อลดภัยพิบัติ  เริ่มที่ จ.กำแพงเพชร สอน อบต.ที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศ ประชุมชุมชน กำหนดจุดที่เกิดปัญหาขาดน้ำ เราสร้างผู้นำให้ไปสอนต่อ ขยายไปนอกเขตจังหวัด แล้วก็ทำที่ จ.ขอนแก่นอีก 100 ตำบล  และ จ.น่าน อย่าง อบต.นาซาว ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน จัดทำผังน้ำในตำบล  ทำสมดุลน้ำ วิเคราะห์การขาดแคลนน้ำ และน้ำท่วม  เป็นข้อมูลประกอบทำแผนงาน จัดทำฝายแกนดินซีเมนต์เพื่อกักน้ำในทางน้ำ  ทำระบบสูบน้ำด้วยแสงอาทิตย์ เพื่อยกและเก็บกักน้ำ  ส่วนเกษตรทางเลือกปลูกขายเมล็ดพันธุ์แตงโม สร้างรายได้เสริม หลังนาปี สร้างช่องทางตลาด ข้อมูลจาก อบต. จะไปอยู่ในร่างแผนหลักน้ำของจังหวัดน่าน  ผู้ว่าฯ น่าน ตั้งเป้ามีผังน้ำตำบล 60% จากจำนวนตำบลทั้งหมด วิธีการนี้ทำให้จังหวัดมองภาพท้องถิ่นออก หากภาครัฐจะช่วยไม่ใช่แจกน้ำ ต้องช่วยเรื่องวิทยาการและช่องทางการตลาด   เติบโตแบบพึ่งพาตัวเองได้


อุดรูรั่วสูญเสียน้ำ ทำระบบ’ไอโอที’

รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า การส่งน้ำในเขื่อนที่ผ่านมาเราใช้สถิติในอดีต แต่ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หากอย่างปล่อยแบบเดิม ฝนตกก็มีแต่ไหลทิ้งลงทะเล แต่หากใช้ข้อมูลทำนายฝนล่วงหน้า 14 วัน จะประหยัดน้ำได้ถึง 20% หรือประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. เทียบเท่าความจุของเขื่อน 1 เขื่อน อีกความสูญเสียมาจากโครงการชลประทานที่ใช้น้ำ 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อโครงการ ที่ผ่านมาพบข้อผิดพลาดการส่งข้อมูล แต่ชาวบ้านไม่รู้เวลาที่น้ำมาถึง หากมีการติดตั้งระบบไอโอทีหรือการส่งข้อมูลตามเวลาจริงผ่านระบบอินเตอร์เน็ท สามารถลดความสูญเสีย 20%

“ผมอยากเสนอให้ทุก อบต.ติดตั้งระบบไอโอที ซึ่ง อบต.ซื้อเองได้ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยสนใจจะงานวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ จะพัฒนาขยายผลผลักดันในปี 2568  ปัจจุบันไทยมี 8,000 ตำบล มีข้อมูลเข้าถึงส่วนกลางแค่ 20% หากทำระบบนี้ให้เกิดขึ้นจะลดภัย และช่วยการจัดการ ซึ่งนายอนุทิน รองนายกฯ มอบนโยบายให้ อว. ปรับกลยุทธ์วิจัยสร้างนวัตกรรมนอกจากแก้ปัญหาแล้ว ยังเพิ่มรายได้ให้ประชาชนด้วย”ศ.ดร.สุจริตกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ อัปเดตพายุ 3 ลูก พร้อมพยากรณ์อากาศ 10 วันข้างหน้ายังมีฝนตก

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตภาพถ่ายดาวเทียม เช้าตรู่วันนี้ (14/11/67) ยังมีเมฆฝนบางส่วนบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก มีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุม

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 13 ไต้ฝุ่น 'หยินซิ่ง' อ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนแล้ว

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “หยินซิ่ง” ฉบับที่ 13 โดยมีใจความว่า