กรณีฆาตกรรม’ป้ากบ’ บัวผัน ตันสุ ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยกลุ่มเยาวชนคึกคะนอง ซึ่งป้ากบอยู่ในกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนเร่ร่อนไร้บ้าน” อาศัยฟุตบาทเป็นที่หลับนอน จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนสำคัญและขยายปัญหาที่เรื้อรังมานานให้ชัดเจน โดยเฉพาะมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านและผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่สาธารณะที่มักถูกว่า ไม่ใช่คนปกติ เป็นคนอันตราย
ผลการแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศไทยในปี 2566 จากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน และมูลนิธิกระจกเงา มีข้อมูลที่น่าสนใจ พบคนไร้บ้านทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักคนไร้บ้านแบบเปิดของภาคประชาสังคมรวม 2,499 คน
7 จังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุดของประเทศ อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,271 คน ชลบุรี 106 คน รองลงมาเชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี นครราชสีมา และสงขลา ตามลำดับ คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคนมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยพบช่วงวัยกลางคนมากถึงร้อยละ 56.8 ถือเป็นตัวเลขที่เกินครึ่งของจำนวนคนไร้บ้านที่พบทั้งหมด คนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20.1 ของคนไร้บ้านในทุกช่วงอายุ
กลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะ 19% ที่ยากต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุข กลุ่มคนเหล่านี้รัฐต้องมีระบบกลไกในการรักษาดูแล รวมถึงศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นคนไร้บ้านอย่างจริงจัง
มีความพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนผ่านพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่ง” ระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมูลนิธิกระจกเงา เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนข้างถนน สืบค้นประวัติ ครอบครัว ภูมิลำเนาเดิมของคนไร้บ้าน เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูดูแลกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านเหล่านี้ ปลายทางหวังจะส่งคืนพวกเขากลับบ้าน
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากผลดำเนินงานและงานวิจัย พบว่า ยังมีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนไร้ที่พึ่งขาดโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุข มีหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนพัฒนาระบบเฝ้าระวังช่วยให้สามารถระบุตัวตนผู้ป่วยเร่ร่อนในที่สาธารณะได้ และนำสู่กระบวนการบำบัดรักษา รวมถึงการตามหาญาติหรือส่งกลับสู่บ้านได้ ถ้าทุกหน่วยงานได้ประสานและดำเนินงานร่วมกันจะดำเนินงานได้คล่องตัว ประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างไร้รอยต่อ เกิดประโยชน์ต่อระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชของไทย ทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยจิตเวช ปัจจุบันมี 20 โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต บำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช และรพ.ทั่วไปที่รับรักษาในทุกจังหวัด ซึ่งจำนวนมากขึ้น เมื่ออาการทุเลาแล้วต้องผ่องถ่ายให้ พม. ดูแลต่อ
สุชาดา หมื่นกล้า รองอธิบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งต้องบูรณาการ 5 หน่วยงาน ปัจจุบันมีคนป่วยจิตเวชเร่ร่อนเพิ่มมากขึ้น ต้องช่วยกันขับเคลื่อนงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถานสงเคราะห์มีไม่มาก ไม่สามารถรองรับกลุ่มคนป่วยจิตเวชเร่ร่อนจำนวนมากได้ คนในชุมชนต้องช่วยกันดูแล คนในชุมชน ถ้าช่วยไม่ได้ ประสานภาครัฐ เราอยากเห็นการประสานงานนำคนไร้บ้านหรือ ผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ได้ออกไปอยู่ในชุมชน มูลนิธิกระจกเงาเป็นอีกแรงร่วมตามหาญาติ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับไปอยู่ในชุมชน
พิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งและสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถีทั้งหญิง-ชาย มีผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งเข้ามาฟื้นฟูหลังบำบัดรักษา รวมจำนวน 1,300 คน ถามว่าล้นมั้ย ล้น การบูรณาการความร่วมมือนี้จะเน้นสืบค้นผู้รับบริการอยู่ที่ไหน วันนี้จำเป็นจะต้องสร้างให้เขากลับเป็นคนปกติเพื่อกลับไปอยู่กับครอบครัว แต่ในระดับพื้นที่ ครอบครัว ชุมชน ต้องยอมรับ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกผลัก ออกมาจากครอบครัว ไม่ใช่ไม่รัก แต่หวาดกลัวที่จะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวชเกรงจะถูกทำร้าย เพราะมีข่าวลูกป่วยจิตเวชทำร้ายพ่อแม่ ผู้ป่วยจิตเวชทำร้ายประชาขน MOU นี้ เป็นจุดเริ่มต้นทำงานร่วมกัน จะต้องสาวลึกให้พวกเขากลับไปอยู่กับครอบครัวได้
ด้าน สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า มูลนิธิฯ ทำงานติดตามคนหายและการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน ซึ่งสองเรื่องนี้มีปัญหาหนักและเกี่ยวพันกัน เช่น คนป่วยจิตเวชเร่ร่อน ส่วนใหญ่พบว่ามาจากคนป่วยจิตเวชหายออกจากบ้าน ส่วนน้อยมากที่แปรสภาพจากคนเร่ร่อนไร้บ้าน พบหลายเคส คนหายจากจ.สมุทรปราการไปพบที่ จ.กาญจนบุรี การให้ความช่วยเหลือพวกเขาออกจากข้างถนน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ตัดวงจรคนไร้บ้าน ยิ่งมีระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเข้าสู่การรักษา เขามีโอกาสกลับคืนสู่ครอบครัวได้เร็วมากเท่านั้น MOU เป็นเรื่องสำคัญจะสร้างโอกาสกลับคืนสู่บ้านให้คนป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งและทำให้มนุษย์คนหนึ่งได้รับการรักษาที่รวดเร็วตามสิทธิที่ควรได้รับ
การส่งผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนกลับคืนครอบครัวหรือชุมชน มีข้อกังวล หน.โครงการผู้ป่วยข้างถนน กล่าวว่า หากผู้ป่วยไม่ยอมรับการป่วยจิตเวชของตัวเอง หากไม่กินยาต่อเนื่อง ไม่เกิน 2 เดือน จะกลับสู่อาการเดิม ถัดมาสภาพแวดล้อมในชุมชนเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เช่น จำหน่ายเหล้า ขายยาเสพติด หรือมีเพื่อนผู้ป่วยจิตเวชที่ยังเสพยาอยู่ เมื่อกลับบ้าน ไปหาเพื่อน กลับสู่ผู้ป่วยจิตเวชาจากยาเสพติด อีกเรื่องศักยภาพการดูแลของครอบครัวสำคัญ บางรายมีฐานะก็ยังยาก เพราะไม่ใช้เงินในการดูแลอย่างเดียว ต้องใช้เวลาและการดูแลที่ต่อเนื่อง พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่ออกมาเร่ร่อนหรือกลับสู่วงจรป่วยซ้ำ มาจากครอบครัวยากจน ต้องทำงานหาเงิน ไม่มีเวลาดูแล การแก้ปัญหารัฐและสังคมต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีศักยภาพมากขึ้น เช่น การมีศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นคนไร้บ้าน รับฝากแบบ Day Care
“ เมื่อฟื้นฟูดูแลแล้ว พอกลับชุมชน จะถูกเรียกว่า “ผีบ้า” ไม่มีใครอยากสุงสิง ยุ่งเกี่ยว บางคนกลับไปกินเหล้า ไม่กินยา ดูแลตัวเอง กลับไปป่วย จำเป็นต้องมีพื้นที่รองรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในฐานะมนุษย์ที่ยืนด้วยศักดิ์ศรีของตนเองได้ สังคมขาดสิ่งนี้ ที่มูลนิธิฯ มีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอาการรุนแรง เราพาสู่กระบวนการรักษาดูแลตัวเอง สัมภาษณ์เชิงลึกเขาออกจากบ้านเพื่อดูแลตัวเอง หนีจากพ่อที่กดดัน พอสิ้นสุดการรักษา เราให้งานคัดแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิก ผ่านโครงการจ้างวานข้า มีรายได้ 500 บาทต่อวัน ทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวัน มีรายได้ พึ่งพาตัวเอง และจัดการเรื่องห้องเช่า มีกระบวนการเยี่ยมห้อง ดูแลเรื่องยา ไม่ให้เขากลับสู่วงจรเร่ร่อนและผู้ป่วยจิตเวช สังคมต้องช่วยประคอง “สิทธิพล กล่าว
ด้าน นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย คณะกรรมการกำกับทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านและคนจนเมือง สสส. กล่าวว่า การทำงานของ พรบ.สุขภาพจิต ส่งผลให้มีผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งค้างที่สถานสงเคราะห์มากขึ้นๆ ทั้งที่บทบาทหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชปกติ กลายเป็นต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 80% ของคนที่ต้องดูแลในสถานสงเคราะห์ทั้งหมก เราไม่ค่อยเห็นผู้ป่วยจิตเวชคลุ้มคลั่งเดินตามถนน แต่ปัญหาสังคมจะปล่อยให้ปัญหาเป็นเช่นนี้จริงหรือ ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนมาจากครอบครัว หลุดหายออกจากบ้านด้วยสาเหตุต่างๆ และกลุ่มผู้ป่วยค้างที่ รพ.จิตเวชทั่วประเทศ ทุกวันนี้คนหายแจ้งโรงพักน้อยกว่ามูลนิธิกระจกเงา ภายใต้ MOU นี้ เราค้นหาผู้ป่วยจิตเวชที่มีโอกาสจะกลายเป็นจิตเวชเร่ร่อน หาทางป้องกันแต่ต้นเหตุ ครอบครัวอาจไม่มีศักยภาพดูแล กรมสุขภาพจิตเคยทดลองระบบชุมชนดูแลผู้ป่วยจิตเวช มีต้นแบบในหลายพื้นที่ สกัดผู้ป่วยจิตเวชก่อนเป็นคนไร้บ้าน
การดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากสังคมและให้โอกาสจะทำให้พวกเขาตั้งหลักชีวิตได้อีกครั้ง
ภาพโดยมูลนิธิกระจกเงา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อึ้ง ! ความเหงา-โดดเดี่ยว ภัยเงียบที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว
เวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย
“รองนายกฯประเสริฐ” มอบนโยบาย สสส.สั่งด่วนยกระดับสร้างความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน 3 ด้าน “รถบัสปลอดภัย-สวมหมวกนิรภัย-ส่งเสริมวินัยจราจร”
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.
“อย่าเพิ่งเชื่อ-อย่าเพิ่งแชร์-อย่าเพิ่งโอน” คาถาป้องกันแก๊ง Call Center
คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน พนันออนไลน์ ด้วยการเปิดบัญชีม้า ซื้อสินค้า-โอนเงิน-กู้เงิน ไตรมาสแรกปี 67
รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ สานพลัง สสส. ประกาศความร่วมมือเข้มแข็ง ผสานองค์ความรู้-สร้างนวัตกรรมฐานข้อมูล เตรียมพัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ บรรจุในการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์
ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขับเคลื่อน"กระเป๋านักรบ"สร้างสุขภาวะ Life Long Learning...รู้ป้องกันโรค
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกคำรบหนึ่ง ในการขยายเครือข่ายส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชน ด้วยการแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาวะสร้างวัฒนธรรมการอ่าน